เล่าเรื่องระบบภาระงานคณาจารย์

รายงานภาระงานคณาจารย์
รายงานภาระงานคณาจารย์

30 ส.ค.53 พัฒนาระบบกรอกข้อมูลภาระงานคณาจารย์ ที่แบ่งหมวดสำคัญไว้ 3 หมวดหลัก คือ การเรียนการสอน การวิจัย และด้านอื่น ซึ่งด้านอื่นแบ่งย่อยเป็น 6 หมวด สำหรับการประมวลผลที่สำคัญคือการ insert กับ update แต่พบปัญหาส่งระเบียนข้อมูลว่างเป็นระเบียนล่าสุดโดยไม่ทราบสาเหตุสำหรับบางคน จึงใช้วิธีเรียกข้อมูลจากที่เคยบันทึกไว้ใน log และกู้คืนตามเวลาที่ต้องการโดยเจ้าของประวัติ เมื่อใช้งานไปอีกระยะหนึ่งพบปัญหาใหม่คือ ไม่มีข้อมูลเข้าในหัวข้อสุดท้ายของสมาชิก และเป็นหัวข้อไม่สำคัญ ตรวจพบภายหลังว่าชื่อเขตข้อมูลผิด แต่โปรแกรมใช้การ include จึงไม่แสดงอาการผิดพลาดระหว่างตรวจสอบ
การแก้ปัญหา insert ระเบียนที่เป็นค่าว่างเข้า master file เกิดได้หลายกรณี  แต่วิธีหนึ่งที่น่าจะแก้ไขได้คือ การยกเลิกระบบ update แต่ใช้การ insert เข้า log แล้วเรียกระเบียนสุดท้ายมาเสมอ แทนการสั่ง update ไปยัง master file แต่ก็ไม่ได้ทำ เพราะเวลาจำกัด และจะปิดรับข้อมูลในวันรุ่งขึ้น คาดว่าหลังปิดระบบจะพัฒนาส่วนนี้ต่อไป  เพื่อป้องกันปัญหาการใช้งานระบบนี้ในอนาคต จึงใช้เวลาที่เหลือพัฒนาระบบรายงาน สำหรับติดตามการส่งข้อมูล แล้วรวบรวมเสนอผู้บริหารตามลำดับชั้นต่อไป
ทำให้ปัจจุบันมีโปรแกรมสำหรับระบบนี้ 5 โปรแกรม คือ ฟอร์มหลัก โปรแกรมเพิ่มข้อมูล โปรแกรมพิมพ์แบบฟอร์ม โปรแกรมแสดงสถานะ และโปรแกรมแสดงรายงาน ถ้ามีโอกาสจะทำ demo แสดงการวางแผน และพัฒนาโปรแกรมชุดนี้ครับ เพื่อให้นักศึกษาที่สนใจการพัฒนาโปรแกรมด้วย php กับ mysql ได้เรียนรู้อีกมุมหนึ่งของการพัฒนาระบบ

การจัดทำข้อตกลงภาระงานคณาจารย์

21 ส.ค.53 จัดทำวีดีโอสาธิต การจัดทำข้อตกลงภาระงานคณาจารย์ ภาคการศึกษาที่ 1/2553 มี 8 ขั้นตอน ดังนี้ 1) เข้าระบบอินทราเน็ต ของ มหาวิทยาลัย http://www.yonok.ac.th/intranet 2) เข้าระบบของบุคลากร (Employees) 3) ลงชื่อเข้าใช้ (Signin) 4) เข้าประวัติส่วนตัว (Profile) 5) เข้าข้อตกลงภาระงานคณาจารย์ 6) กรอกข้อมูล 7) ส่งออกไปยัง Microsoft Word 8) พิมพ์ เซ็น และเสนอผู้บังคับบัญชา .. แต่ทำไม่ได้ เพราะ login เข้าสู่ระบบไม่ผ่าน

ตรวจสอบ code ก็ไม่น่ามีปัญหา เพราะเวลาแฟ้ม code ไม่เปลี่ยนไปจากเมื่อวาน ที่ยังใช้งานได้ปกติ จึงคัดลอก code ออกมาเปลี่ยนชื่ออีกแฟ้ม เพื่อไม่ให้กระทบรุ่นเดิม ก็ไม่พบปัญหาใน code แต่พบในบรรทัดที่เชื่อมต่อกับฐานข้อมูลตอนที่ select จึงใช้ phpmyadmin เข้าไปตรวจ ก็พบว่าตาราง hang จึง reboot เครื่อง เพราะใช้ยาแรง ถ้าใช้ยาอ่อน ผมจะ restart service ของ mysql แต่ไม่อยากเสียเวลา กำลังมีอารมณ์ด้วยครับ

หลัง reboot เครื่องก็พบว่าใช้ phpmyadmin เข้า mysql ได้ปกติ และเป็นผลให้จัดทำวีดีโอสาธิตรุ่น 1 ได้สำเร็จ เพราะรุ่นที่สมบูรณ์จะรอจากคุณธรณินทร์ .. แต่เรื่องที่ผมทำมีพูดผิดชัดเจนแบบให้อภัยได้ 1 จุด (จะใครสังเกตพบบ้างนะ) ถ้าตั้งใจฟังจะรู้ครับ แม้ไม่ใช่บุคลากรของมหาวิทยาลัยก็ตาม

ประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ 1/53

1 ส.ค.53 การประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 30 ก.ค.53 13.30น. – 14.30น. ณ  ห้องประชุม ดร.เทียม โชควัฒนา เพื่อทบทวน รายงาน ติดตาม และพิจารณากิจกรรมโครงการที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนการดำเนินงานทุกหลักสูตร ที่ทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการในรูปคณะกรรมการ มีวาระสำคัญ 2 วาระคือ 1) วิพากษ์แผนระบบสารสนเทศ และ 2) พิจารณาโครงการอบรมการปรับแต่งภาพขั้นพื้นฐาน สำหรับกลุ่มเป้าหมาย 4 กลุ่ม โดยมีผู้ร่วมประชุม 10 ท่านประกอบด้วย 1) รศ.อรวรรณ ทิตย์วรรณ 2) อาจารย์อติชาต หาญชาญชัย 3) ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ 4) อาจารย์อัศนีย์ ณ น่าน 5) อาจารย์เกศณีย์ สัตตรัตนขจร 6) อาจารย์บุญรักษา ปัญญายืน 7) อาจารย์ปาริชาต สอนสมบูรณ์ 8) อาจารย์กฤตภาศ เสมอพิทักษ์ 9) นางเจนจิรา เชิงดี 10) นางสาวอนุสรา สัญญารักษกุล 11) นางกานต์ เลิศวิภาภัทร 12) นางปริศนา เขียวอุไร 13) นางสาวเรณู อินทะวงศ์ 14) นางลัดดาวรรณ เรือนทัศนีย์ 15) นางสาวกัลยา รังสรรค์ 16) นายอรรถชัย เตชะสาย 17) นายอนุชิต ยอดใจยา 18) นายธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ และ 19) นางสาวศิริพร ยาสมุทร
มติตามวาระที่สำคัญคือ ปรับรายละเอียดในแผนระบบสารสนเทศตามผลการวิพากษ์ของคณะกรรมการ และเห็นชอบตามข้อเสนอโครงการการปรับแต่งภาพขั้นพื้นฐานที่จะดำเนินการขออนุมัติตามขั้นตอนต่อไป

ประชุมเตรียมพร้อมเพื่อการประชุม

28 ก.ค.53 มีโอกาสประชุมกับทีมงานไอทีอีกครั้ง เรื่องเตรียมจัดประชุมคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ และคณะกรรมการพัฒนาระบบอีเลินนิ่งต่อเนื่องกัน โดยประชุมเตรียมการครั้งแรกวันที่ 25 ก.ค.53 วันนี้ตามเอกสารประกอบการประชุม มีเพื่อนร่วมงานค่อยดำเนินการทั้ง คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ คุณอรรถชัย เตชะสาย คุณอนุชิต ยอดใจยา ซึ่งเอกสารที่จะนำเข้าประชุม เพื่อทบทวน วางแผน ติดตาม พิจารณาโครงการนั้น ประกอบด้วย 1) วาระ 2) เกณฑ์คุณภาพใหม่ 3) นโยบายระบบฐานข้อมูล 4) ผลประเมินประสิทธิภาพ 5) ผลประเมินความพึงพอใจ 6) ระบบอินทราเน็ต2552 7) แผนภาพระบบอีดอคคิวเมนท์ 8) แผนระบบสารสนเทศ 9) หน้าเว็บ /info 10) โครงการอบรม photoshop 4 กลุ่ม 11) โครงการคัดเลือก ส่วนเอกสารที่แจกไปก่อนหน้านี้คือ ร่างรายงานสรุปผลพัฒนานักศึกษาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ .. เล่าสู่กันฟังครับ

แผนที่ความคิด หรือมายแม็บเกี่ยวกับสถาบันการศึกษา

การดำเนินการของสถาบันการศึกษา
การดำเนินการของสถาบันการศึกษา

4 มิ.ย.53 มีโอกาสพูดคุยกับพระนิสิต และได้นำเสนอการเขียนร่างมายด์แม็ป (mindmap) ซึ่งเป็นแผนที่ความคิดเรื่องการดำเนินการของสถาบันการศึกษา ซึ่งสอดคล้องไปกับหลักสูตรการบริหารการศึกษา (M.Ed.) เพื่อให้พระทุกรูปได้กลับไปเขียนแผนที่ความคิด เป็นรายสัปดาห์ชิ้นหนึ่งที่ต้องเกิดจากความคิดของแต่ละรูป แต่มอบหมายให้เขียนด้วยมือแทนการใช้โปรแกรม Freemind หรือ Mindmanager แล้วใช้กล้องดิจิทอลถ่ายมาเป็นแฟ้มภาพ จากนั้นให้อัพโหลด (upload) ไปแบ่งปันใน facebook.com ซึ่งภาพในเว็บเพจนี้เป็นตัวอย่าง หรือร่างที่ได้นำเสนอให้เกิดการแลกเปลี่ยนในชั้นเรียนก่อนแยกกันไปทำงานเดี่ยว 
      ในอนาคตหวังว่า พระนิสิตจะใช้แผนที่ความคิดเป็นเครื่องมือในการรวบยอดความคิด หรือเป็นเครื่องมือนำเสนอความคิดในการประชุมกับชุมชน หรือการทำงานร่วมกันเชิงบูรณาการในที่ใดใดต่อไป
+ http://www.thaiall.com/freemind

ร่วมประชุมที่สถาบัน กศน. ภาคเหนือ

ประชุม ณ สถาบัน กศน ภาคเหนือ

17 มิ.ย.53 ร่วมงานประชุมเพื่อพัฒนาวิธีวิจัยที่เหมาะสมกับบริบทการปฏิบัติงาน กศน. ในระดับหมู่บ้าน/ตำบล นำโดย ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ และ ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล เป็นประธานร่วม พร้อมด้วยบุคลากรทางการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยราชภัฎอีกหลายท่าน และมีผู้อำนวยการ กศน. ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ส่วนข้างผมมี คุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) และ คุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) จาก สกว.ลำปาง
     ก่อนปิดการประชุม ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล ได้แบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับระบบและกลไกการบริหารงานวิจัย ซึ่งผมสรุปได้ว่ามีกระบวนการดังนี้ 1) อาจารย์เสนอ concept paper มายังคณะ 2) คณะพิจารณา แล้วส่งมายังสถาบันวิจัย 3) สถาบันวิจัย พิจารณาแล้วเปิดรับ proposal  4) อาจารย์จัดทำ proposal ส่งให้คณะ และสถาบันวิจัยพิจารณาอีกครั้ง 5) สถาบันวิจัยส่งให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 6) จัดเวทีวิพากษ์ proposal 7) อาจารย์ส่ง proposal ที่ผ่านการปรับปรุงตามขั้นตอนอีกครั้ง 8) สถาบันวิจัยเสนอตามขั้นตอน เพื่ออนุมัติทุนวิจัย 9) เวทีรายงานความก้าวหน้าทุก 6 เดือน 10) ส่งรายงานการวิจัย และบทความวิจัยตามลำดับ 11) สถาบันวิจัยส่งบทความวิจัยให้ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก 12) อาจารย์ปรับแก้ แล้วส่งบทความวิจัยตามลำดับ 13) สถาบันวิจัยร่วมกับอาจารย์ส่งบทความไปเผยแพร่ภายนอก

รายงานการพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับนักศึกษา

ระบบสารสนเทศนักศึกษา

27 พ.ค.53 ด้วยกลไกการพัฒนาระบบสารสนเทศสำหรับนักศึกษาโดย คุณธรณินทร์ สุรินทร์ปันยศ ทำให้ผมมีโอกาสได้เข้าไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับ อ.สกุลศักดิ์ อินหล้า ท่านเป็นหัวหน้าฝ่ายกิจกรรมนักศึกษา ดูแลงานหลายด้านของมหาวิทยาลัย เพื่อพัฒนากิจกรรมนักศึกษา และสอดรับกับการประกันคุณภาพการศึกษา ซึ่งทำงานร่วมกับ อ.บุญรักษา ปัญญายืน หัวหน้าฝ่ายพัฒนานักศึกษาใหม่ จากการหารือทำให้ทราบว่าการเก็บข้อมูลการทำกิจกรรมของนักศึกษาจำแนกได้ 2 กลุ่มคือ กิจกรรมหลัก และกิจกรรมรอง ซึ่งกิจกรรมหลักจะถูกกำหนดขึ้นผ่านกลไกของคณะกรรมการพัฒนานักศึกษา ที่เชื่อมโยงกับกิจกรรมวิชาการของคณะวิชาในรูปการทำงานเชิงบูรณาการ
     เมื่อคุณธรณินทร์ ทราบข้อมูลกิจกรรมหลักจะนำไปบรรจุในระบบสารเทศนักศึกษา และมีกลไกในการจัดการข้อมูล 3 ส่วนคือ 1) ผู้รับผิดชอบกิจกรรมหลัก หรือกิจกรรมรองแต่ละกิจกรรม จะนำข้อมูลมา upload เข้าระบบ และมีรายชื่อนักศึกษาที่ทำกิจกรรมแต่ละครั้งขึ้นมาในระบบ เพื่อการตรวจสอบโดยนักศึกษา และคณะวิชา 2) นักศึกษาจะเป็นผู้เข้ามาให้ข้อมูล ประเมินกิจกรรม และตรวจสอบตนเอง การเข้าร่วมกิจกรรมแล้วแสดงข้อคิดเห็นในรูปของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ต่อกิจกรรมนั้น เกิดเป็นกลไก PDCA ในด้านการทำกิจกรรมของนักศึกษา แล้วสามารถนำข้อมูลไปจัดทำรายงานผลกิจกรรม (Activities Transcript) ของนักศึกษาแต่ละคนได้อย่างสมเหตุสมผล 3) ผู้ควบคุมนโยบายในรูปของคณะกรรมการเข้าตรวจสอบตามกลไก PDCA แล้วประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อให้เกิดการพัฒนา ปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสมและสถานการณ์เฉพาะกิจ
     ระบบนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาทั้งผู้ควบคุมนโยบาย ผู้ออกแบบกิจกรรม ผู้ยกร่างกิจกรรม การทำความเข้าใจกับนักศึกษา และการพัฒนาระบบสารสนเทศ ที่ต้องดำเนินการควบคู่กันเชิงบูรณาการ
+ http://www.yonok.ac.th/student/
+ http://www.yonok.ac.th/mis
+ http://sa.siit.tu.ac.th/ats/ac_transcript.php
+ http://www.sat.chula.ac.th/chula2/
+ http://activity.mahidol.ac.th/news/activity2-1.html
+ http://demo.nu.ac.th/ActTrans/

ร่างแผนระบบสารสนเทศ

ร่างแผนระบบสารสนเทศ

23 พ.ค.53 ตามที่มีเกณฑ์ของ สกอ. ออกใหม่ปี 2553 ใน ตบช 7.5 ที่ระบุว่ามหาวิทยาลัยและคณะวิชาต้องมีแผนระบบสารสนเทศ จากการวิพากษ์ระบบฐานข้อมูลในเดือนที่ผ่านมา จึงจัดตั้งคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศ และดำเนินการยกร่างแผนระบบสารสนเทศร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำฟอร์มกรอกข้อมูลแผนในรายละเอียดที่สื่อให้เข้าใจตรงกัน สอดรับกับการทำงานสามด้านของระบบสารสนเทศ คือ การนำข้อมูลเข้า การประมวลผล และการนำไปใช้ แต่สารสนเทศมีรายละเอียดมาก จึงให้ความสำคัญกับสารสนเทศที่เกี่ยวกับ 4 มิติ คือ 1) องค์กรภายนอก 2) แผนกลยุทธ์ 3 ) การประกันคุณภาพ 4) การบริหารจัดการที่สำคัญ
     กระบวนการที่ใช้ในการจัดทำแผนระบบสารสนเทศคือ 1) วิพากษ์ระบบฐานข้อมูล 2) แต่งตั้งกรรมการ ร่วมกันยกร่างแผน ให้ข้อมูลเรื่องแผนแก่บุคลากร และรับข้อเสนอแผนจากบุคลากร 3) ประชุมคณะกรรมการฯ ร่วมกันจัดทำแผน 4) เสนอขออนุมัติแผนต่อมหาวิทยาลัย 5) ดำเนินการตามแผน 6) ติดตาม และประเมินกิจกรรม 6) สรุปผล
.. เล่าสู่กันฟังครับ เพราะขณะนี้อยู่ขั้นตอนการยกร่างแผน

เพิ่มวาระการประชุมก่อนเปิดภาคเรียน

20 พ.ค.53 วันนี้หัวหน้าส่งเมลมาถามว่ามีวาระอะไรต้องเข้าประชุมก่อนเปิดภาคเรียน ซึ่งเราทุกคนทราบว่าในการทำงานต้องมีการวางแผนเตรียมการ ซึ่งสอดรับกับพันธกิจสี่ด้าน การประกันคุณภาพ แผนปฏิบัติการประจำปี และแผนกลยุทธ์ มีเรื่องราวมากมายทั้งนโยบายจากผู้บริหารและหน่วยงานสนับสนุน แต่ที่ผมทราบและสามารถให้ข้อมูลได้มี 2 เรื่อง จึงเสนอเพิ่มวาระการประชุมที่จะมีขึ้นในวันพุธที่ 26 พ.ค.53 13.30 – 16.30 จำนวน 2 วาระ
     มีวาระที่เสนอคือ 1) ขอเพิ่มวาระเรื่อง อาจารย์ประจำหลักสูตรร่วมเป็นคณะกรรมการพัฒนาระบบสารสนเทศเชิงบูรณาการ เพื่อให้มีหลักฐานการมอบหมายเป็นลายลักษณ์อักษรผ่านการประชุมที่เป็นกลไกขับเคลื่อนให้การทำงานตามตัวบ่งชี้ 7.5 เกิดขึ้นตามเกณฑ์ของ สกอ.ใหม่ ซึ่งอาจารย์อติชาต กำลังทำหนังสือขอแต่งตั้งจากท่านอธิการ 2) ขอเพิ่มวาระเรื่อง การรายงานการติดตามประเมินผลความสำเร็จของการจัดการความรู้ เหตุผลของการเพิ่มวาระนี้คือ เป็น 1 ใน 39 ตัวบ่งชี้ที่ต้องมีร่องรอยหลักฐาน ในการประเมินตนเองเพื่อรับการประกันคุณภาพ ปีการศึกษา 2552 ซึ่งในตัวบ่งชี้ 7.3 มีการพัฒนาองค์กรสู่องค์กรการเรียนรู้ เกณฑ์ที่ 5 ระบุว่า “นำผลการประเมินไปปรับใช้ในการพัฒนากระบวนการจัดการความรู้ให้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนงานปกติและปรับปรุงแผนการจัดการความรู้”
     ในวาระที่ 2 ที่นำเสนอนี้จำเป็นต้องมีมติในทางที่เห็นชอบร่วมกันกำหนด 2 อย่างคือ 1. หัวเรื่อง KM ใหม่ 2.ตัวบ่งชี้ที่วัดได้เป็นรูปธรรม จึงต้องการมติว่าบุคลากรในคณะคิดว่าปีการศึกษาต่อไปควรมีเรื่องอะไรเป็น KM ของคณะ โปรดเสนอในที่ประชุมของคณะเพื่อปีการศึกษาต่อไปจะได้มีแผนการจัดการความรู้ เพื่อให้ผ่าน 1 ใน 39 ตัวบ่งชี้ของการประกันคุณภาพ ตามเกณฑ์ใหม่ของ สกอ. แต่ผมคงไม่รอให้ถึงวันประชุม คิดว่าต้องทำงานนอกรอบ จึงคาดว่าจะไปขอหารือกับ อ.ภาณี หรืออ.เบณ ไม่อยากใช้เวลามากเกินจำเป็นสำหรับ KM เพราะการทำงานในระดับอุดมศึกษาจำเป็นต้องมีการทำงานนอกรอบก่อนเสมอ เวลาเข้าเวทีที่เป็นทางการจะได้ข้อสรุปหรือได้ประเด็นที่สำคัญอย่างรวดเร็ว

กระบวนการเรียนรู้ทั้ง 10 แบบ

อ.พจนา ทรัพย์สมาน

14 พ.ค.53 เข้ารับการอบรมเรื่อง การสอนให้ผู้เรียน แสวงหาและค้นพบความรู้ด้วยตนเอง โดย อ.พจนา ทรัพย์สมาน สพท.นครสวรรค์ เขต 1 ซึ่งวิทยากรได้ให้แนวการเขียนกระบวนการเรียนรู้ ทั้งหมด 10 กระบวนการดังนี้
     1. กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด ประกอบด้วย 1) สังเกต 2) จำแนกความแตกต่าง 3) หาลักษณะร่วม 4) ระบุชื่อความคิดรวบยอด 5) ทดสอบและนำไปใช้
     2. กระบวนการสร้างความตระหนัก ประกอบด้วย  1) สังเกต 2) วิเคราะห์ วิจารณ์ 3) สรุป
     3. กระบวนการแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1) กำหนดและวิเคราะห์ปัญหา 2) สร้างและประเมินทางเลือก 3) วางแผนกำหนดวิธีการแก้ปัญหา 4) ลงมือแก้ปัญหาตามแผน 5) ประเมิน ปรับปรุงสรุปผลการแก้ปัญหา
     4. กระบวนการปฏิบัติ ประกอบด้วย  1) สังเกต รับรู้ 2) ทำตามแบบ 3) ทำโดยไม่มีแบบ 4) ฝึกทำให้ชำนาญ 5) ทำอย่างสร้างสรรค์
     5. กระบวนการทางวิทยาศาสตร์  ประกอบด้วย  1) ตั้งปัญหา 2) ตั้งสมมติฐาน 3) รวบรวมข้อมูล 4) วิเคราะห์ข้อมูล 5) สรุปผล
     6. กระบวนการศึกษาค้นคว้า ประกอบด้วย  1) กำหนดจุดประสงค์ 2) วางแผน 3) ศึกษาค้นคว้าและบันทึกข้อมูล 4) นำเสนอ ข้อมูล วิเคราะห์อภิปราย 5) สรุปความรู้
     7. กระบวนการสำรวจรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1) กำหนดจุดประสงค์ 2) วางแผน 3) สำรวจและบันทึกข้อมูล 4) นำเสนอ ข้อมูล วิเคราะห์อภิปราย 5) สรุปความรู้
     8. กระบวนการสร้างสุขนิสัย ประกอบด้วย  1) สังเกต รับรู้ 2) คิดวิเคราะห์อย่างเป็นระบบ 3) สร้างแนวปฏิบัติที่เหมาะสม 4) วางแผนการปฏิบัติ 5) ปฏิบัติด้วยความชื่นชม
     9. กระบวนการสร้างค่านิยม  ประกอบด้วย  1) สังเกต ตระหนัก 2) ประเมินเชิงเหตุผล 3) กำหนดค่านิยม 4) วางแผนการปฏิบัติ 5) ปฏิบัติด้วยความชื่นชม
     10. กระบวนการเรียนภาษา ประกอบด้วย  1) ทำความเข้าใจสัญลักษณ์ 2) สร้างความคิดรวบยอด 3) สื่อความหมาย ถ่ายทอดความคิด 4) พัฒนาความสามารถทางภาษา
+ http://www.pojana.com
+ http://www.facebook.com/photo.php?pid=3881467&id=814248894
+ http://www.thaiall.com/e-learning