พลังจ่ายภาครัฐกับภาคเอกชน

11 มิ.ย.54 มีโอกาสคุยกับผู้รับเหมาเดินสายระบบเครือข่าย ที่ช่ำชองในการรับงาน เล่าสู่กันฟังว่า การรับงานจากหน่วยงานภาครัฐกับภาคเอกชนแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง เพราะภาครัฐมีงบประมาณใช้จ่ายตามที่ขอ เมื่อใกล้สิ้นปีงบประมาณก็ต้องรีบใช้จ่ายให้หมด อาจเรียกได้ว่าเหลือกินเหลือใช้ เมื่อขึ้นปีใหม่ก็ของบประมาณกันใหม่ เริ่มต้นนับหนึ่งกันทุกปี ส่วนภาคเอกชนจะใช้จ่ายกันแต่ละทีคิดแล้วคิดอีก ต่อรองกันหลายรอบ บางทีตกลงได้งานมาแล้วก็ยังมาแก้รายละเอียด บางกรณีถูกขอเพิ่มงานในภายหลังแต่ไม่เพิ่มงบประมาณ จนบางครั้งต้องขอถอนตัว เพราะประเมินแล้วอาจไม่คุ้ม แต่ทำงานกับภาครัฐไม่ค่อยมีปัญหา ถ้ามีปัญหาก็รื้อทิ้งแล้วทำใหม่ในปีต่อไป

พลังจ่ายของภาครัฐนั้นมีมาก เพราะแหล่งงบประมาณมาจากเงินภาษีของประชาชน บางองค์กรมีการจัดทำกลยุทธ์ทางการเงิน เพื่อกำหนดว่างบประมาณเข้ามาทางใดบ้าง และจะออกไปทางใดบ้าง ทำให้คนสนิทของเจ้านายมักเปลี่ยนเครื่องคอมพิวเตอร์อยู่เสมอ แม้งานที่ทำจะเป็นเพียงการพิมพ์รายงานการประชุมก็ตาม บางทีความเหมาะสม หรือความคุ้มค่าของแต่ละคนอาจไม่เท่ากัน บางโครงการใช้งบประมาณมหาศาล แล้วไม่ประสบความสำเร็จ เพราะไม่ใช่ความต้องการของชุมชนที่แท้จริง หรือวิเคราะห์ความต้องการที่ไม่สมบูรณ์ แต่เกิดจากความต้องการของผู้ให้ เช่น ศูนย์คอมพิวเตอร์ ศูนย์สินค้าชุมชน ห้องสมุดหมู่บ้าน ในหลายพื้นที่ไม่ถูกใช้ประโยชน์เท่าที่ควร เนื่องจากขาดการดูแลบำรุงรักษาโดยคนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานผู้ให้งบประมาณ

พลังจ่ายของภาคเอกชนส่วนใหญ่ มักไม่สูงนัก งบประมาณคือการลงทุน ที่ต้องประเมินว่าจะได้ผลตอบแทนกลับมาอย่างคุ้มค่าตามแผนกลยุทธ์ และแผนปฏิบัติการ จึงต้องวิเคราะห์ความเป็นไปได้โดยละเอียด ก่อนอนุมัติโครงการ/งบประมาณตามแผนการลงทุน ถ้าตัดสินใจลงทุนแบบไม่ระมัดระวังก็จะเสียงบประมาณอย่างไม่คุ้มค่า และเป็นต้นเหตุสำคัญทำให้บริษัท/ห้างร้านมากมายต้องปิดตัวลง ดังนั้นการวางแผนซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์ไอทีของภาคเอกชน จึงมักให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์ ความต้องการของผู้ใช้ ความคุ้มค่าในการใช้จ่ายและผลตอบแทนที่จะคืนกลับมาเป็นสำคัญ

กรณีศึกษาข้อมูลกราฟแท่ง

กรณีศึกษาข้อมูลกราฟแท่ง
กรณีศึกษาข้อมูลกราฟแท่ง

กรณีศึกษา บริษัท abc จำกัด แสดงข้อมูลค่าตอบแทนด้วยแผนภาพกราฟแท่ง เปรียบเทียบค่าตอบแทนของบุคลากร จำแนกตามแผนก ตำแหน่ง และอายุงาน มีคำถามว่า

ถ้าท่านเป็นผู้จัดการบริษัท ทราบข้อมูลแบบนี้ คิดว่า SWOT หรือ Plan จะเป็นอย่างไร

บทเรียนที่ร่วมวิจัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยลำปาง

นิคมพัฒนา
นิคมพัฒนา

9 มิ.ย.54 บทเรียนจากการร่วม “โครงการวิจัย แนวทางการทำงานของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในจังหวัดลำปางเพื่อสร้างการเรียนรู้และเสริมศักยภาพชุมชนพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปา“จากการร่วมโครงการระยะที่ 1 ระหว่าง 1 มกราคม 2554 – 31 พฤษภาคม 2554 จำแนกได้ 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นหลักที่ 1 ความรู้ คือ
1. การได้รู้เทคนิค และฝึกฝนการวิเคราะห์ชุมชนผ่านการใช้ SWOT ที่เปรียบเทียบกับการใช้อริยสัจสี่ เพราะทั้งสองแบบสามารถใช้งานได้กับชุมชน โดย SWOT นั้นถูกใช้รวบรวมข้อมูลตามประเด็นหลัก 3 ครั้งได้แก่ การศึกษา เกษตร อาชีพ และอริยสัจสี่ใช้กับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
2. การได้ฝึกเขียนแผนที่ความคิด (MindMap) และเรียนรู้การเขียนจากคุณภัทรา มาน้อย ผ่านการลงมือปฏิบัติ เปรียบเทียบการเขียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือเก็บประเด็นเป้าหมาย และการนำเสนอผลการวิเคราะห์ชุมชนรายกลุ่ม
3. การได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการวางแผน การจับประเด็น การคิด การพูด การฟัง ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้มีโอกาสฟังข้อเสนอแนะของ นักคิดนักบริหารระดับประเทศ คือ ศ.ดร.ปิยวัฒน์ บุญหลง และ ดร.บัญชร แก้วส่อง ต่อโครงการของทีมงาน

ประเด็นหลักที่ 2 ความสุข คือ
1. การได้เห็นรอยยิ้มจากความสุขผู้คนในชุมชน ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มที่มีความเข้าใจ มีฐานคิดคล้ายกัน ได้ระบายปัญหา จุดแข็ง และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และได้ออกมานำเสนอด้วยตนเอง
2. การได้ใช้เวลาว่างในวันสุดสัปดาห์ทำงานกับชุมชน เพราะการทำงานในกรอบ ใต้กฎเกณฑ์รัดตัว ผู้คนที่มุ่งแต่แข่งขัน ในป่าคอนกรีต ย่อมมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากการทำงานกับชาวบ้าน ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยป่าเขา ลำธาร และบรรยากาศบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ผู้คนมากมายใฝ่ฝัน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ไปถึงฝั่งฝัน
3. การทำตัวเป็นประโยชน์แก่ชุมชน เพราะการให้ความรู้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่มุ่งเข้าศึกษาในสถาบันนั้นมีกรอบอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย แต่การออกให้บริการวิชาการเชิงประยุกต์นั้น มีเรื่องคาดไม่ถึงให้ประหลาดใจอยู่เสมอ  เพราะนอกจากจะเป็นผู้ให้ความรู้แก่ชุมชนแล้ว ก็ยังเป็นผู้รับความรู้ไปพร้อมกัน พร้อมกับการแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
4. การได้เพื่อนใหม่ต่างวัยต่างสมณะที่มาจากห้าสถาบันการศึกษาหลัก รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยลำปาง แล้วร่วมกันทำงานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อชุมชน เป็นโอกาสที่อาจมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะเพื่อนจากแต่ละสถาบันมีความเป็นกัลยาณมิตรที่หาได้ยากยิ่ง ในทีมทั้ง 29 คนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำเพื่อชุมชน และมุ่งประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง

เรื่องเล่าในวงเหล้า

หลายวันก่อน
ผมในฐานะ ป.พ่อบ้าน ของหมู่บ้าน คิดสูตรทำลาบอีเห็นได้
ก็เลยตั้งวงแลกเปลี่ยนกับเพื่อน และเพื่อนในหมู่บ้านใกล้เคียง
กรรมการหมู่บ้านเรียกมาทำความเข้าใจบอกว่า
เราอยู่เมืองจรีนเป็นประเทศปิด ไม่มีอะไรออก และไม่มีอะไรเข้า

แต่ ป.จักรสาน ลุกขึ้นมาบอกว่า ปัจจุบันกำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้
วิธีสานตะกร้าแนวใหม่ ผสมตะวันตกกับตะวันออก ขายได้เงินมาเสียภาษีมากมาย
พึ่งส่งต้นแบบไปให้เพื่อนต่างหมู่บ้านปรับปรุง หลังจากเขาสอนเราสานแนวใหม่

สรุปว่างานนี้ ป.พ่อบ้าน รอดตัวไปที
ไม่มีความผิดในฐานะแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสูตรลาบอีเห็น
ต่อไปในหมู่บ้านคงได้กินลาบอีต่างต่างกันมากขึ้น
และอาจมีใครเปิดร้านลาบอีเมล ได้ภาษีเข้ามาพัฒนาหมู่บ้านต่อไป

แต่ถ้ามีกฎว่าเป็นประเทศปิด ไม่คุยกับคนนอก และไม่ให้คนนอกเข้ามาคุย .. งานนี้จบแห่

————————————–

คิดตาม 2 เรื่องราว

คุยกับ อ.ใหญ่ติส ทำให้รู้ว่าองค์กรหนึ่ง ๆ ต้องมีอะไร (ที่สำคัญที่สุด)
เคยฟังคำบางคำออกจากปากคนรู้จัก ก็ทำให้รู้ว่าองค์กรของคนผู้นั้นขาดอะไร (ที่สำคัญที่สุด) ขององค์กร
ทำให้เขาเปลี่ยนจากยึดองค์กรเป็นยึดตัวเอง (ก็เพราะองค์กรไม่มี)
ความไม่มีแต่โหยหาของมนุษย์ ทำให้เกิดการเบี่ยงเบนสิ่งนั้น
จุดด้อยนี้เป็นในหน่วยงานราชการส่วนใหญ่และไม่มีวันแก้ไขได้
แต่ถ้าองค์กรเอกชนเรื่องนี้ถือเป็นจุดแข็ง (ถ้ามีขึ้นมานะ)
เหมือนกับองค์กรที่ อ.ใหญ่ติส พูดถึงด้วยความชื่นชม

ผลการวิพากษ์เค้าโครงรายวิชา

8 มิ.ย.54 ผลการวิพากษ์เค้าโครงรายวิชา (Syllabus Defending) ระดับกลุ่มสาขาวันนี้ได้ข้อสรุปว่า ต่อไปหัวข้อในการประเมินผลการเรียน ไม่ควรแตกต่าง และมีความเป็นมาตรฐานตรงกันทุกวิชา จึงทำข้อตกลงเสนอเป็นหัวข้อให้พิจารณาจัดทำในรายวิชาของตน มีลำดับและชื่อหัวข้อดังนี้
1. การเข้าชั้นเรียน
2. ความรับผิดชอบ
3. งานที่มอบหมาย
4. ฝึกปฏิบัติการ
5. โครงงาน
6. สอบย่อย
7. สอบกลางภาค
8. สอบปลายภาค

ส่วนหัวข้อใหญ่ในเค้าโครงรายวิชามีดังนี้
1. ชื่อวิชา ชื่อผู้สอน ตามรูปแบบ
2. วิชาบังคับก่อน
3. คำอธิบายรายวิชา
4. จุดประสงค์รายวิชา
5. รายละเอียดการเรียนการสอน
6. การประเมินผลการเรียน
7. เกณฑ์ประเมินผลการเรียน
8. หนังสือบังคับอ่าน
9. หนังสือประกอบการเรียน
10. เว็บไซต์ที่แนะนำ

เลือกไม่ได้กับชีวิตหลังเกษียณ

ชีวิตหลังเกษียณ
ชีวิตหลังเกษียณ

4 มิ.ย.54 วันนี้อายุเต็ม 41 ปี นับแต่วันที่ลืมตาดูโลก จากการสื่อสารกับ อ.หนุ่ย ทำให้มีข้อสงสัยว่า ถ้าผมอายุถึง 60 ปี จะเลือกทำงานต่อ หรือพักผ่อนอยู่บ้านเฉย ๆ เพราะหลายครั้งที่คุยกับเพื่อนร่วมงาน ก็พบว่าหลายคนประสงค์จะ early retire หรือออกจากงานไปอยู่บ้านก่อนเวลา ในสังคม MLM ก็มีการหยิบเรื่องนี้มาเป็นจุดขายกันมากว่า คนที่สำเร็จก็จะ retire ก่อนเวลาได้ ไม่ต้องรอให้ถึง 60 ปี คนในครอบครัวหลายท่านก็เกษียณออกมานั่งนั่งนอนนอนไปวัน ๆ ไม่ได้หางานทำหลังเกษียณ

แต่ในอีกมุมหนึ่ง พบว่า ผู้บริหารในบางองค์กรเกษียณอายุราชการมาทำงานต่อในองค์กรเอกชน แม้จะพ้นอายุ 60 ปีก็ยังหางานทำ ดูเหมือนประสงค์จะทำงานจนกว่าจะทำต่อไปไม่ได้ บางท่านเกษียณได้เพียงไม่กี่เดือนก็ออกมาหางานทำแล้วก็มี จึงเห็นความแตกต่างของคน 2 กลุ่ม คือ อยากหยุดทำงาน กับ อยากทำงานไปชั่วชีวิต

ประเด็นที่มองย้อนกลับมาที่ตนเอง คือ อีกไม่ถึง 20 ปี เมื่ออายุครบ 60 ปี ลูกก็จบหมดแล้ว เงินเก็บเพื่อซื้ออาหารวันละ 100 บาท ก็คงจะพอมีใช้ไปอีกหลายปี การเลือกว่า 1) หยุดทำงานหลังเกษียณ หรือ 2) ทำงานไปชั่วชีวิต .. นั่งกลุ่มใจอยู่ว่าผมตัดใจไม่ได้ที่จะเลือกใช้ชีวิตอย่างไรหลังเกษียณ

หลังจากไปอาบน้ำมา ตอนนี้คิดได้แล้ว ..
อ้างถึงคำของพระพุทธเจ้า ให้ไว้ก่อนนิพพานว่า
“มีลาภเสื่อมลาภ มียศเสื่อมยศ”

ดังนั้น ถ้าเลือกทำงานต่อหลังเกษียณ
แสดงว่ายังยึดติดกับลาภ ยังใคร่ได้ใครดีกับยศ

สรุปคือผมตัดสินใจว่า
ถ้าเกษียณเมื่อใดก็จะทิ้งลาภ และยศ
ก่อนที่ลาภ และยศ จะทิ้งเรา

Panasonic President (Thailand)

panasonic president (thailand)
panasonic president (thailand)

3 มิ.ย.54 จากการฟังบรรยายของ Mr.Hirotaka Murakami ประธาน Panasonic ประเทศไทย ที่บรรยายให้นักศึกษาโครงการ Summer Experience 2011 ณ ห้องประชุมใหญ่ อาคารบริหารธุรกิจ ทำให้ได้แนวคิดดี ๆ หลายเรื่อง อาทิ ความอุตสาหะของคุณเลขาฯ อุปมาเรื่องกบในกะทะน้ำร้อน วิสัยทัศน์ของพานาโซนิค ประวัติของบริษัท สิ่งที่น่าสนใจของประเทศญี่ปุ่น หรือ “ช๊อป แชะ ชิม  ฉี่” ปริมาณสำรองก๊าซในอ่าวไทยใช้ได้ ประมาณ 18 ปีเท่านั้นก็จะหมดลง หรือไม่ก็อาจหมดในอีก 15ปี หากปี 2555 เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น น้ำมันเหลือใช้ในโลกได้เพียง 40 ปี และภาวะโลกร้อน


โดยมี คุณธนะชัย สันติชัยกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป (NMG) เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยมอบของที่ระลึก

หลังฟังบรรยายที่ยอดเยี่ยมแล้ว ก็มาหยิบ Brochure ของมหาวิทยาลัยที่มี Vision & Mission มาอ่าน .. ทำให้ศรัทธาในวิสัยทัศน์ของผู้บริหาร  ที่มีแผนภาพซึ่งล้อมรอบด้วย 3 ทักษะโดยมีฐานอีก 4 เรื่องสนับสนุนให้วิสัยทัศน์สามารถเป็นจริงอย่างเป็นรูปธรรมได้

+ http://news.mthai.com/general-news/116272.html
+ http://www.technologymedia.co.th/seminar/CarbonFootPrint.ppt

กรอบแนวคิดสำหรับนักเรียนศตวรรษที่ 21

p21 framework
p21 framework

2 มิ.ย.54 แผนภาพแสดงการเชื่อมโยงของทักษะในศตรวรรษที่ 21 ที่มีความเกี่ยวข้องกับสารสนเทศ ทรัพยากร และเครื่องมือสื่อสาร หรือเรียกว่า กรอบแนวคิดสำหรับพัฒนาทักษะและความรู้ของนักเรียน พบภาพนี้จากเว็บไซต์ หุ้นส่วนสำหรับทักษะในศตวรรษที่ 21

(The Partnership for 21st Century Skills is a national  organization that advocates[สนับสนุน] for 21st century readiness for every student. As the United States continues to compete in a global  economy that demands innovation, P21 and its members provide tools and resources to help the U.S. education system keep up by fusing[หลอมรวม] the three Rs and four Cs (critical thinking and problem solving, communication, collaboration, and creativity and innovation). While leading districts and schools are already doing this, P21 advocates for local, state and federal policies that support this approach for every school.)

http://www.p21.org/route21/index.php

อธิการบดีหนุ่ม

31 พ.ค.54 วันนี้มีงานเลี้ยงอำลา อาลัย ท่านอธิการหนุ่มของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ท่านมีประสบการณ์กับที่นั่นมา 5 ปี แต่มีตำแหน่งอธิการได้ 8 เดือน (1 ต.ค.53 – 31 พ.ค.54) และเหตุที่ลาออก เพราะหน่วยงานต้นสังกัดของท่านขอตัวไปช่วยงาน และมีการเปลี่ยนผู้รับใบอนุญาต จึงต้องการกลับไปทำงานกับต้นสังกัด มีคำพูดประโยคหนึ่งคือ “มีลาภ เสื่อมลาภ มียศ เสื่อมยศ มีสรรเสริญ ย่อมมีนินทา
การทำงานกับท่านได้บทเรียนหลายเรื่อง อาทิ การมอบหมายงาน การให้อภัย การสนับสนุน การเปิดโอกาส การตัดสินใจ คำมั่นสัญญา การประเมินผล ความไม่ยั่งยืน การประณีประนอม ความรับผิดชอบ และได้คติธรรมอีกหลายเรื่อง ที่จดจำเป็นบทเรียนไปชั่วชีวิต .. ผมคงไม่ลืมท่านเป็นแน่

ทำเนียบอธิการบดีสงวนนาม
1. ดร.นิ 12 มกราคม 2531 – 2543 (13 ปี)
2. ศาสตราจารย์ ดร.สุจ 2544 – 2545 (2 ปี)
3. ดร.นิ 2546 – 2549 (4 ปี)
4. ร. อ.สัน  20 พ.ย.49 – 30 พ.ย.49 (11 วัน)
5. อ.สัน  1 ธ.ค.49 – 9 ก.ย.52 (2 ปี 9 เดือน 9 วัน)
6. ผศ.ดร.จิน 10 ก.ย.52 – 10 ก.พ.53 (5 เดือน)
7. รศ.อร 11 ก.พ.53 – 30 ก.ย.53 (7 เดือน 20 วัน)
8. ร อ.ทัน 1 ต.ค.53 – 31 พ.ค.54 (8 เดือน)
9. ผศ.ดร.พงษ์ 1 มิ.ย.54 – 25 ก.ค.61 (7 ปี 1 เดือน 25 วัน)
10. ดร.กฤ 26 ก.ค.61


การบริการวิชาการ ที่แม่เมาะ

บริการวิชาการ แม่เมาะ ปีการศึกษา 2553
บริการวิชาการ แม่เมาะ ปีการศึกษา 2553

คณะวิชาทั้ง 3 คณะ ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี ส่งนักวิชาการออกบริการวิชาการ ที่ อบต.บ้านดง 21 – 22 ต.ค.2553 ซึ่งสืบเนื่องมาจากการสำรวจความต้องการ และการลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ เมื่อ 18 ต.ค.53  โดยมีโครงการทั้งสิ้น 3 โครงการ คือ โครงการอบรม “การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย” โดย ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ โครงการอบรม “การให้ความรู้ด้านกฎหมายครอบครัว” โดย อ.สุทธิ์พจน์  ศิริรัตนาสกุล และ โครงการอบรม “EQ กับการทำงานใต้ความกดดันและการบริหารความเครียด” โดย อ.วีระพันธ์ แก้วรัตน์
http://www.facebook.com/media/set/?set=a.450808788894.247022.814248894

สไลด์เผยแพร่เกี่ยวกับความปลอดภัย
จากการให้บริการวิชาการ ตามโครงการอบรม “การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างปลอดภัย” โดย ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์  ที่ อบต.บ้านดง และทต.แม่เมาะ ระหว่าง 21 – 22 ต.ค.2553 พบว่าผู้เข้ารับการอบรมให้ความสนใจเกี่ยวกับความปลอดภัย และขอสไลด์ไว้ศึกษา แล้วคณะวิชาได้พิจารณาเห็นชอบให้นำเสนอได้ จึงนำมาเผยแพร่ให้เพื่อนบุคลากร และผู้สนใจได้ ดาวน์โหลดไปศึกษาได้
ที่ http://www.thaiall.com/security/security_basic.ppt