รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 3/2552

21 มิ.ย.52 1)งานบริการวิชาการที่ได้รับอนุมัติจาก อ.ศศิวิมล แรงสิงห์ ให้ผมไปบริการวิชาการที่ กศน.แม่ทะ วันที่ 13-14 มิ.ย.52 ก็ได้ดำเนินการเป็นวิทยากรในหัวข้อ web template 2.0 เสร็จสิ้น แต่ได้ประสานเพิ่มเติมและรับเชิญเป็นวิทยากรอีกครั้งในหัวข้อ google apps เมื่อวันเสาร์ที่ 20 มิ.ย.52 ซึ่งมีอาจารย์เกศริน อินเพลา ร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ 2)การเตรียมงานพิธีไหว้ครู ได้ประสานกับนักศึกษา และเลือกให้เดือนกับดาวของคณะทำหน้าที่ถือพาน 2 พาน โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 250 บาท ทำให้ปีนี้คณะจะมีพานใช้งานของคณะ และนักศึกษาเห็นชอบร่วมกันทำพานไหว้ครู โดยรวมกลุ่มกันในเย็นวันพุธที่ 24 มิ.ย.52 ถ้าอาจารย์ท่านใดสะดวกไปให้กำลังใจนักศึกษาในการทำพานแสดงความของคุณท่านก็ขอเชิญที่ใต้หอพักชาย 3)งานพิธีถวายเทียนพรรษา ซึ่ง อาจารย์เกศริน อินเพลา ได้ร่วมประชุมในครั้งแรก เมื่อผมร่วมประชุมในครั้งที่ 2 ก็ได้ข้อสรุปว่ามหาวิทยาลัยขอเชิญชวนนักศึกษาคณะละ 10 คน ซึ่งนักศึกษาแจ้งชื่อมาแล้ว เป็นงานบุญที่ชวนกันไปแสดงพลังที่สวนเขลางค์ แล้วไปแห่เทียนเข้าวัดพระบาท เพื่อถวายเทียนสู่วัดพระบาท ในวันศุกร์ที่ 3 ก.ค.52 โดยคณะวิทย์ได้รับมอบหมายให้ดูแลแถวขบวนแห่ 4)บทวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนที่สรุปโดยอ.วันชาติ นภาศรี draft แรก เขียนเสร็จแล้ว แต่สรุปเฉพาะส่วนขององค์ประกอบ และไม่แยกส่วนของตัวบ่งชี้ออกมาให้เด่นชัด และขาดบทวิเคราะห์เปรียบเทียบระดับคณะ ที่เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความตระหนัก (Awareness) ให้แก่คณะ ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงเวลาที่ทุกคณะกำลังเตรียมข้อมูล เมื่อวิเคราะห์แล้วจะนำเสนอเวทีแรกในเวทีวิจัยที่จะมีขึ้นในวันพฤหัสบดีที่ 25 มิ.ย.52 โดยนำเสนอต่อยอดจากการนำเสนอความก้าวหน้าโครงการวิจัยประกันคุณภาพของอาจารย์ศศิวิมลและทีมงานมหาวิทยาลัย 5)คณะแสดงบทบาทต่อชุมชนด้วยการนำเสนอความคิดเห็นด้านไอทีสู่สื่อท้องถิ่น ผมแจ้งให้ทราบว่า บทความไอทีในชีวิตประจำวัน ที่ 196 เขียนเรื่อง ความสำเร็จของระบบฐานความรู้ของโลก  ตีพิมพ์ 6 ก.ค. – 12 ก.ค.52

อบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง

18 มิ.ย.52 มีการจัดอบรมการใช้งานระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเอง ครั้งที่ 1 / 2552 รอบที่ 1 ณ ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ 1 มหาวิทยาลัยโยนก โดยมีเจ้าหน้าที่ อาจารย์ และหัวหน้าสำนักงาน เข้ารับการอบรม 13 ท่าน ใช้เวลา 1 ชั่วโมง 11.00 – 12.00น. ซึ่งเป็นไปแผนงานใน โครงการวิจัย “พัฒนาระบบฐานข้อมูลการประเมินตนเองของหน่วยงาน

      หัวข้อบรรยายดังนี้ 1) แจกคู่มือ ลงชื่อเข้าอบรม และแจกรหัสผ่านใหม่ 2) ชี้แจงวัตถุประสงค์ และประเด็น 2.1) ปรับคำอธิบาย และเงื่อนไขในเกณฑ์ ตามที่คุณเพชรี สุวรรณเลิศ นำเสนอในที่ประชุมผู้บริหาร ที่ สกอ. แก้ไขมีเอกสารประกอบ 36 หน้า 2.2) เพิ่มการเลือกปี เพื่อตรวจข้อมูลย้อนหลัง 2.3) แสดงผลวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อน 2.4) แก้ไขรหัสผู้ใช้เป็นภาษาอังกฤษ 2.5) เพิ่มการเชื่อม CDS เข้าองค์ประกอบในส่วนตรวจเอกสาร 3) ทบทวนการใช้งานโปรแกรม 3.1) การนำเข้าข้อมูลพื้นฐานด้วย excel หรือแก้เป็นรายการ 3.2) การกรอกข้อมูลเป้าหมาย ผลดำเนินงาน และผลประเมิน การนำไปทำรายงาน 4 ส และการนำเสนอร่วมกับข้อมูลพื้นฐาน 3.3) ใส่รายการหลักฐานได้ทั้งแบบทำเอกสารจนแล้วเสร็จ หรือทำงานบูรณาการโดยใช้เว็บเก็บข้อมูลเพื่อเข้าไปจัดทำร่วมกัน 4) ประเมินการอบรม และอื่น ๆ ( http://www.yonok.ac.th/sar )

อบรม web template และ google apps ที่กศน.แม่ทะ

ผู้ร่วมอบรม
ผู้ร่วมอบรม

12 – 13 มิ.ย 52  ผมไปเป็นวิทยากรอบรมการใช้งานระบบซีเอ็มเอส web template 2.0 ที่พัฒนาและเผยแพร่โดย อ.ศรีเชาวน์  วิหคโต มีคุณอนุชิต ยอดใจยาไปเป็นผู้ช่วย เราได้รับเชิญจาก ผอ.จรรยา จิรชีวะ ให้อบรมบุคลากร กศน.แม่ทะ  ณ ศูนย์การเรียนรู้ประวัติความเป็นมาแหล่งเรียนรู้อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง  ก่อนไปได้ปรับแต่งโปรแกรม thaiabc6.3 เพื่อเปิดบริการ Local Web Server ซึ่งมี web template 2.01 ในโปรแกรมนั้น ทำให้ฝึกจัดการ web template 2.01 ที่ผมปรับปรุงระบบความปลอดภัย สามารถเรียนรู้ร่วมกันได้ง่าย วันแรกปูพื้นฐานการเขียนเว็บ ซึ่งผู้เรียนหลายท่านไม่ถนัด แต่วันที่ 2 เรียนการเข้าจัดการเท่านั้น (ไม่สอน html) ทุกคนเข้าใจการปรับแต่งเว็บแบบ CMS ด้วยตนเอง ตามวัตถุประสงค์ของ ผอ. วัตถุประสงค์ของการอบรมคือ เพื่อให้ครูในแหล่งเรียนรู้แต่ละตำบลมีส่วนร่วมในการเข้าจัดการเว็บเพจของ กศน.แม่ทะ โดยแบ่งกลุ่มตามหัวข้อ และตามพื้นที่ แทนที่จะปล่อยให้ใครสักคนเป็นคนป้อนข้อมูล ก็จะหันมาแบ่งงานและรับผิดชอบร่วมกัน

     ในสัปดาห์ต่อมา วันที่ 20 มิ.ย.52 ไปเป็นวิทยากรอีกครั้งมี อ.เกศริน อินเพลา เป็นผู้ช่วยในการอบรมการใช้ google apps ซึ่งรุ่นของระบบที่ กศน.ลำปาง และกศน.กรุงเทพฯ เคยขอใช้จาก google เพื่อเปิดบริการแก่บุคลากรในกศน. ต่างกับ google apps ที่ผมขอใช้บริการล่าสุด เพื่อเตรียมสอน โดยเฉพาะเรื่อง start page กับ page creater นั้นไม่พบใน google apps รุ่นใหม่ แต่พบเรื่อง site แทน และ site ก็ไม่มีใน google apps รุ่นเก่า แต่ระยะเวลาการอบรม 1 วันก็เหมาะกับ 4 หัวข้อคือ email, talk, calendar และ document วัตถุประสงค์ของการอบรมคือ เพื่อใช้งานระบบการสื่อสารและระบบสนับสนุนการทำงานร่วมกัน ตามแนว enterprise 2.0 ผ่านบริการของ google apps ที่กศน. ลำปาง และกศน.ทั่วประเทศเข้ารับการอบรม ครั้งนี้จึงเป็นการขยายความสามารถในระดับครู เพื่อทำให้การสื่อสารระหว่างครู กับผอ. สามารถเกิดขึ้นได้

     ผู้เข้าร่วมอบรมน่ารักทุกคน โดยเฉพาะเรียน google talk แล้ว หลายคนก็ใช้หูฟังกับไมค์คุยกันเพลินเลยครับ ผู้เรียนประกอบด้วย 1)นางสาวนันท์นภัสร์ ศรีวิเชียร 2)นางกมลนันท์  ธรรมนพ 3)นายทาน จันทะปัน 4)นางลำดวน วงศ์สาย 5)นางเทียมจิตร เพชรล้ำ 6)นางธิติยา  แก้วเมืองมา 7)นางสายไหม  กรรเชียง 8)นางสาวอรวรรณ  มานันไชย 9)นางสาวจุฬารัตน์ วงศ์ษา 10)นางสาวนงคราญ  ใจตา 11)นางสาวกาญจนา  กิ่งแก้ว 12)นางกรชนก มังคะวงศ์ 13)นางสาวบงกช  เกิดในวงศ์ 14)นางสาวไพรินทร์   สุวรรณจักร 15)นางอัฉราภรณ์   คำพิชัย 16)นางสาวมนัสวี  จิรชีวะ 17)นางสาวธัญจิรา  บุญรักษา 18)นางสาววิไลลักษณ์  บุญปันเชื้อ 19)นางสาวทัศนีย์  เพชรตา 20)นายธนวัฒน์  ปันสุทะ 21)นายวุฒิพงศ์  เครือวงศ์ปิง 22)นางสาวปิยะกาญน์  เลิศจุ่ม 23)นายณรงค์  จักรจันทร์ 24)ผอ.จรรยา จิรชีวะ ( ภาพทุกคน )

     ผลการให้บริการวิชาการครั้งนี้ ทำให้ผม และผู้ช่วยทั้ง 2 ท่าน ได้เรียนรู้ระบบ CMS อีกโปรแกรมหนึ่งที่พัฒนาโดยใช้ text file และถูกใช้งานในกศน.ลำปาง และกศน.อำเภอ ได้เข้าไปศึกษาโปรแกรม ปรับแต่งให้เหมาะกับการอบรม และนำเสนอให้คนทั่วไปได้นำไปเรียนรู้และใช้งาน และนำเสนอลงสื่อท้องถิ่นด้วยภาพข่าวกิจกรรมบริการวิชาการ ผ่านสำนักประชาสัมพันธ์ของมหาวิทยาลัย ส่วน google apps จะได้ไปเผยแพร่ในมหาวิทยาลัย และคนทั่วไปผ่านหลายช่องทาง เพราะมีประโยชน์ต่อองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จากไอที โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสาร และการทำงานร่วมกันที่ใช้เอกสารเป็นสื่อกลาง ( เอกสารอบรม ) http://www.google.com/a/thaiabc.com

เครื่องบริการตื่นขึ้น ก็พบเมล์สมัครบล็อกของ อ.เต๋ ดีใจครับ

18 มิ.ย.52 ดีใจที่ได้พบ อ.เต๋ ในระบบ blog แล้วจะหาเวลาไปดื่มกาแฟที่ ilovecoffee แถวห้าแยกอีกครับ วันนี้เครื่องบริการตื่นแล้ว หลังจากหลับไปตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.52 เหตุเพราะ aclalumni.com ฝากไว้กับ thaiabc.com ส่วน blog ฝากไว้กับ thaiall.com แต่สาเหตุเกิดจาก name server ล่ม โดยผมทดสอบใช้งาน google apps ที่จะไปอบรม ให้ กศน.แม่ทะ ซึ่ง thaiabc.com จดโดเมนกับ nsi.com แล้วฝาก host กับ godaddy.com แล้วผมก็ไปแก้ไข mx ใน nsi.com ก็ไม่ทันตรวจสอบว่า thaiabc.com เป็นอย่างไร เพราะระบบ mail server ที่ใช้งานร่วมกับ gmail ทำงานได้ปกติ มารู้ตัวว่า web ล่มก็ตอนสอนหนังสือ แล้วยกตัวอย่าง gallery ของภรรยา พบรู้ก็นั่งเฉยอยู่ 2 วันดูท่าที่ก่อน มานึกได้ว่า ns อยู่ nsi.com  ซึ่งชี้ไปที่ godaddy.com จะแก้ mx ต้องตามไปแก้ที่ godaddy.com จึงแก้ค่า ns กลับเหมือนเดิม ทำให้ web server ตื่นตามปกติ วันที่ 17 มิ.ย.52 ก็ยังหาบริการที่ godaddy.com เปิดให้แก้ mx ไม่พบ ซึ่งผมเป็นลูกค้าที่จดโดเมนที่อื่น แต่มาขอใช้ hosting กับเขา ก็เล่าปัญหาของการล่มไปหลายวันให้ฟังเพียงเท่านี้นะครับ นี่ก็ติดต่อกับ godaddy.com อยู่ว่าจะมีทางใดให้แก้ไขได้บ้างครับ เพราะบริการที่เขาให้แก้ mx มีให้เฉพาะลูกค้าที่จดโดเมนกับเขา ผมเป็นพวกกาฝากครับ ท่าทางเขาจะไม่ปลื้ม

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 2/2552

8 มิ.ย.52 1)จากการประชุมคณะครั้งแรกของปีการศึกษา 2552 ในต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้รับมอบหมายให้ดูแลกิจกรรมโครงการหลายเรื่อง ก็มีนักศึกษาขอแลกเปลี่ยนในประเด็นที่ต้องทำ เช่น รับน้องคณะก็ได้รับความสนใจจากนักศึกษา ส่วนรับน้องมหาวิทยาลัยในกลุ่มพี่ปี 4 ที่จัดขึ้นวันเสาร์ 20 มิ.ย52 มีพี่หลายคนไม่สะดวก สำหรับคนที่สะดวกก็จะส่งชื่อแจ้งให้สำนักพัฒฯทราบ เพราะเขาขอมา การถวายผ้าจำนำพรรษามีนักศึกษาเสนอวัดและประเภทของวัดที่ต่างไปจากวัดเกาะ ที่ได้นำเสนอให้นักศึกษาทราบ แต่น.ศ.เสนอวัดที่น่าสนใจคือวัดคีรีบรรพตก็มอบให้หารือกับ อ.ทนงศักดิ์ ว่าถ้าถกกันในรายละเอียดด้วยเหตุด้วยผลของผู้มีข้อมูลก็จะได้ข้อสรุปจากการบูรณาการ ดังที่คณบดีให้นโยบายไว้ ผลเป็นอย่างไรจะได้นำเรียนต่อไป การศึกษาดูงานมีประเด็นถกกันกับนักศึกษาอยู่นาน เรื่องสถานที่ ค่าใช้จ่าย และหัวข้อดูงาน แนวโน้มที่ได้หารือคือเชียงใหม่ไปดู motion capture ถ้าไม่ของ sipa เชียงใหม่ ก็จะเป็นของ “วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี” มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
http://www.camt.cmu.ac.th มีอีกหลายที่ยังไม่ได้เสนอ เช่น โครงข่ายบริการสื่อสารข้อมูล มูลนิธิโครงการหลวงที่เชื่อมโยงข้อมูลการผลิตและขนส่งรวม 58 พื้นที่โครงการในภาคเหนือ ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ณ แปลงไร่นาสาธิตแม่เหียะ จ.เชียงใหม่
หรือความก้าวหน้าของเทคโนโลยีหลังคณะรัฐมนตรีอนุมัติให้ บมจ.ทีโอที เป็นผู้ดำเนินโครงการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 3G เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2551 และ 19 กุมภาพันธ์ 2552 กทช. อนุญาตให้สิทธิการบริหารคลื่นความถี่ 3G ให้ ทีโอที โดยกระทรวงการคลัง และ MICT สนับสนุนทุน และนโยบาย หรือไปดูระบบบริหารจัดการ Logistic ของยักค้าปลีก เป็นต้น 2)เขียนสรุปรายงานการพัฒนาตนเองประจำปีการศึกษา 2551 ว่าไปฝึกอบรม ฟังบรรยายพิเศษ เป็นวิทยากรที่ใดมาบ้าง รวมหมดทั้งวิจัย บริการวิชาการ ทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม และที่ส่งผลต่อการเรียนการสอน แต่ผมก็ยังไม่ได้เขียนเป็นรูปเล่ม ก็มีความกังวลเช่นเดียวกับ อ.อติชาต ที่ว่าจะใช้ฟอร์มแบบใด เพราะของแผนกทรัพยากรบุคคลก็มีฟอร์มที่ละเอียดมากและไม่รวมประเด็น ส่วนที่เคยเสนอ portfolio ในคณะช่วงมกราคม 2551 ก็ละเอียดและใช้เพื่อประเมินชัดเจนเกินไป http://www.thaiall.com/me/portfolio0.doc ตามนโยบายก็คงอยากให้ทุกคนได้เขียนแบบไม่ต้องเกร็ง ก็จะเขียนดูส่งเลขาฯ เพื่อนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์เรื่องการรับรองคุณภาพเป็นสำคัญ 3)งานดูแลสทส.ที่ผมได้รับมอบหมาย ก็มีกิจกรรมที่สัมพันธ์กับงานของคณะ เช่น การถ่ายรูปบุคลากรที่กำหนดนโยบายโดยสปส. มีข้อสรุปว่าจะต้องเป็นพื้นขาวและมีชีวิตชีวาก็จะเลือกภาพยืนเอียง ส่วนภาพบุคลากรทั้งหมดก็จะเขียนลง CD มอบให้คณะ ในกรณีต้องการทำฐานข้อมูลคณะหรือใช้ประยุกต์ในการเรียนการสอน ส่วนการอบรม retouch ภาพก็มีแผนจะจัดให้บุคลากรของคณะและทั้งมหาวิทยาลัยในศุกร์ที่ 19 และ 26 มิ.ย.52 4)ไปรับการอบรมในชุมชน เพราะผมร่วมโครงการอยู่ดีมีสุขของมหาวิทยาลัย และพระครูบ้านไหล่หิน เชิญไปร่วมเวที มีการบรรยาย 2 เรื่องโดยวิทยากรจาก ธกส. และพมจ. โดยสรุปคือเรื่อง วิธีการทำบัญชีครัวเรือน และกลุ่มกองทุนออมเงินวันละบาท ซึ่งผมเขียนบันทึก 2 เรื่องนี้ไว้นอกรายงานฉบับนี้ใน blog จัดการความรู้ของมหาวิทยาลัยอีกแหล่งหนึ่ง http://www.thaiall.com/blog/burin/304/
http://www.thaiall.com/blog/burin/299/

5)ส่วนงานวิเคราะห์ความคลาดเคลื่อนของทีม ซึ่งรักษาการคณบดีร่วมเป็นทีมงานวิจัยนั้น ได้พิจารณาไปที่คะแนนที่แต่ละคณะประเมินตนเองมีความแตกต่างจากของผู้ประเมิน ในปีการศึกษา 2551 กับข้อมูลปีการศึกษา 2550 มีความคลาดเคลื่อนชัดในหลายตัวบ่งชี้ ขณะนี้ อ.วันชาติ นภาศรี รับไปอภิปรายผลจากข้อมูลที่แยกตามคณะ ตามตัวบ่งชี้ และมหาวิทยาลัย จะเสร็จใน 2 สัปดาห์นี้ เพื่อใช้เป็นข้อมูลสร้างความตระหนัก และหวังลดความคลาดเคลื่อนจาก การประเมินตนเองที่แตกต่างไปจากของผู้ประเมินที่จะเกิดกับข้อมูลที่ทุกคณะกำลังจัดเตรียม และประเมินตนเองไปในทิศทางที่สมเหตุสมผลที่สุด

กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท

กองทุน
กองทุน

5 พ.ค.52  21.00น. – 22.00น. ได้ฟังบรรยายเรื่อง “กลุ่มออมทรัพย์วันละบาท” มีวิทยากรคือหัวหน้ากลุ่มออมทรัพย์วันละบาท ของต.ป่าตัน ได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้บรรยายเรื่องการทำกองทุนสวัสดิการชุมชน โดยมาในชื่อ “การประชุมสัมมนา สร้างกระบวนการเรียนรู้การจัดสวัสดิการชุมชน” สนับสนุนโดย กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงาน การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดลำปาง (พมจ.)
     วิทยากรเล่าว่าออมกันวันละบาทต่อคนจ่ายทุกต้นเดือนก็เพียง 30 บาท  มีนโยบายจ่ายเพียง 10 ปี ก็ตกอยู่ที่ 3600 บาทเท่านั้น หลังจาก 10 ปีก็จะได้รับความคุ้มครองตลอดไป  ถ้าเสียชีวิตก็รับเงิน 3600 บาทคืนไปได้เลย แต่กองทุนนี้จะมีนโยบายอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับการพูดคุยกันในชุมชน ในลำปางมีกองทุนที่เข้มแข็ง 3 พื้นที่ คือ อ.เถิน อ.แม่พริก และต.ป่าตัน เพราะเป็นพื้นที่นำร่องที่ภาครัฐ และอบต. จะจ่ายเงินสมทบให้ เช่นออมมา 10 ปีจ่ายไป  3600 บาท ก็จะได้อีก 3600 + 3600 บาท รวมเป็น 10800 บาทญาติก็จะรับไปเมื่อเจ้าตัวเสียชีวิต นอกจากนี้กลุ่มยังสามารถเขียนโครงการส่งเข้าไปรับการพิจารณาของบประมาณมาพัฒนาชุมชน ได้ทุกเดือนจาก พมจ. สำหรับตัวอย่างที่กองทุนจัดสวัสดิการให้คนชุมชน เช่น มีเงินวันละ 100 บาทถ้าต้องนอนโรงพยาบาลแต่ไม่เกิน 500 บาท และไม่เกิน 2 ครั้ง เป็นต้น ส่วนระบบฐานข้อมูลจะใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สมุดแบบธนาคาร หรือใช้ระบบใดก็ได้ หากใช้ระบบคอมพิวเตอร์ก็จะมีวิทยากรจากเชียงใหม่ หรือสนใจไปดูงานทาง พมจ. ก็จะมีงบประมาณค่าเดินทางให้คนในหมู่บ้านไปดู เพื่อนำมาพัฒนากลุ่มต่อไป

โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน

 

การทำบัญชีครัวเรือน
การทำบัญชีครัวเรือน

5 พ.ค.52  20.00น. – 21.00น. ได้ฟังบรรยายเรื่อง “การทำบัญชีครัวเรือน” มีวิทยากรคือหัวหน้าฝ่ายสินเชื่อดูแลเขตอำเภอเกาะคา ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธ.ก.ส. ท่านย้ายมาเมื่อวันที่ 16 เม.ย.52 อาศัยอยู่อ.ห้างฉัตร และได้รับเชิญจากพระครูสังฆรักษ์วิชพงษ์ให้มาร่วมกันทำ “โครงการจัดทำบัญชีครัวเรือนสู่แผนพัฒนาชุมชน” ที่จัดโดยวัดชัยมงคลธรรมวรารามร่วมกับ ธ.ก.ส. มีคนในบ้านไหล่หินหมู่ 6 เป็นส่วนใหญ่นำโดยพ่อกำนัน มาร่วมประมาณ 40 ถึง 50 คน เท่าที่สังเกตุจะเป็นกลุ่มแม่บ้าน เพราะมีการตั้งโต๊ะเก็บเงินสมาชิกกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ ผมได้ความรู้วิธีการทำบัญชีครัว โดยใช้สมุดเล่มเขียวมีกิจกรรมให้บันทึกทุกวัน ประกอบด้วย 5 ช่องคือ วันที่ กิจกรรม รายรับ รายจ่าย และหมายเหตุ ยังมีเรื่องหม้อที่รับน้ำเข้า และจะอุดรอยรั่วอย่างไรไม่ให้น้ำไหลออกมากเกินไป เรื่องนี้ทาง ธ.ก.ส.สนับสนุนมาตั้งแต่ปี 2548 แล้ว เพราะเห็นว่าทั้งประเทศแจกไปหลายล้านเล่ม
     วิทยากรเล่าว่าการที่ธนาคารเข้ามามีส่วนร่วมพัฒนาชุมชน เพราะธนาคารมิได้มีหน้าที่เพียงปล่อยกู้ แล้วตามทวงหนี้ แต่ต้องสนับสนุนให้คนในชุมชน หรือลูกหนี้ รู้จักทำอาชีพ รู้จักการใช้เงิน และออมเงินอย่างเป็นระบบ หากทุกคนเข้าใจการออมเงิน รู้ซึ้งคำว่าพอเพียงแล้ว ย่อมทำให้การพัฒนาชุมชนตามที่วางแผนไว้ในโอกาสต่อไป สามารถดำเนินการได้ง่าย จนทำให้การแก้ปัญหาความยากจน บำบัดทุกข์ บำรุงสุข สร้างชุมชนน่าอยู่ และมีความสุขอยู่ไม่ไกล ในตอนท้ายพระครูแจ้งว่าทาง ธ.ก.ส.เคยประกวดและให้บ้านเป็นรางวัลราคา 5 แสนแก่ผู้ที่เขียนได้ดี สำหรับในหมู่บ้านไหล่หิน พระครู จะมีรางวัลให้แต่เป็นอะไรขออุบไว้ก่อน ก็คงมีรายละเอียดในการประชุมหมู่บ้านครั้งต่อไปของพ่อกำนัน
     ผมสังเกตุว่าพระครูท่านฉันท์ข้าวมื้อเดียว และสวมชุดสีเดียว หากคนไหล่หิน ลดจำนวนมื้ออาหารลงสักหนึ่งมื้อ และลดปัจจัยปรุงแต่งลงบ้าง ก็คงลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก เพื่อลดความต้องการ ลดความอยากลงนิดหนึ่ง ความสุขจากความรู้จักพอก็จะเพิ่มขึ้นตามมา

ภาพที่ชวนให้จินตนาการจากการอบรม

 

งูกำลังรับประทานอีกัวน่า
งูกำลังรับประทานอีกัวน่า

คุณกฤษดา เขียวสนุกนำเสนอภาพชวนให้จินตนาการในการอบรม “การวาดเพื่อการสื่อสาร” เช่น ภาพโฆษณายาสีฟัน ภาพโฆษณาปูนแข็ง เครื่องคอมพิวเตอร์อย่างแรง แต่ผมเข้าเว็บไซต์ดังกล่าวโดยตรงไม่ได้ ต้องเข้าผ่านเว็บไซต์ zend2.com ผมทดสอบใน /picture ก็ใช้งานได้ มีภาพดี ๆ ในเว็บไซต์นี้มากมาย ก็ตั้งใจไปหาภาพมาใช้ประกอบการสอน เรื่องจินตนาการเหมือนกับเป้าหมายของวิทยากร ส่วนภาพประกอบ ได้มาจาก sanook.com คือภาพงูกับอีกัวน่า ธรรมชาติของผู้ล่ากับผู้ถูกล่า

รายงานการทำงานต่อคณบดีฯ 1/2552

เสาร์ที่ 30 พฤษภาคม 2552 1)การอบรม : กลางวันผมเป็นตัวแทนของโครงการวิจัยฯ ที่มหาวิทยาลัยรับทุนในการทำวิจัยเพื่อท้องถิ่น ไปอบรม “การวาดเพื่อการสื่อสาร” ที่จัดโดยศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น มีรายละเอียดใน blog ของมหาวิทยาลัย 2)ร่วมงาน cocktail กลางคืนร่วมงานมุทิตาจิตของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม ร่วมกับ ร.คณบดี และอ.อติชาต หาญชาญชัย มีประเด็นที่ผมจับได้เกี่ยวกับไอทีในชีวิตประจำวัน จึงเขียนเป็นบทความที่ 194 ลง นสพ.ฅนเมืองเหนือ และนำเสนอในเว็บไซต์ของคณะ 3)ได้แนวคิดเขียนบทความ จากงานมุทิตาจิต ผมจับประเด็นเรื่องการจัดการความรู้ การบริหารความเสี่ยง และระบบ knowledge-based system ได้ แต่ยังไม่ได้ยกร่างบทความ สิ่งที่เห็นคือความเสียดายในองค์ความรู้ที่มหาวิทยาลัยสกัด หรือสั่งสมจากท่านออกมาเป็นรูปธรรม เพื่อใช้ในการเรียนรู้ และต่อยอดไปสู่การพัฒนาคน ยังไม่มากพอที่ผมจะสังเกตุเห็น โดยเฉพาะระบบ knowledge-based system ที่จะเป็นการบริหารจัดการองค์ความรู้ เพื่อนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจก็ยังไม่ชัด .. ก็มีแผนจะนำเสนอในกลุ่มประเด็นนี้ครับ

อบรมการวาดรูปเพื่อการสื่อสาร

พีพี่ให้กำลังใจ
พีพี่ให้กำลังใจ

30 พ.ค.52 ศูนย์ถ่ายทอดกระบวนการเรียนรู้ โดยคุณภัทรา มาน้อย (จิ๋ม) คุณรัตติกร บุญมี (จิ๊บ) และคุณอัญมณี แสงแก้ว (โบว์) ได้เชิญคุณกฤษดา เขียวสนุก (พี่บอย) มาเป็นวิทยากรที่ห้องประชุมของห้องสมุดเทศบาลนครลำปาง ในโครงการอบรมครั้งที่ 3 หัวข้อ การวาดเพื่อการสื่อสาร จากแผนงาน 5 โครงการ ประกอบด้วย 1) การวิเคราะห์ชุมชนอย่างมีส่วนร่วม 2) การเป็นวิทยากรกระบวนการ 3) การวาดเพื่อการสื่อสาร 4) การเขียน Social Mapping 5) การคิดแบบวิจัย มีตอนหนึ่งใน powerpoint เรื่อง วิธีเติมสารอาหารให้จินตนาการ มี 5 หัวข้อคือ 1) มองสภาพแวดล้อม 2) ขยับร่างกาย 3) ดูผลงานในปัจจุบัน 4) กล้าคิดแตกต่างอย่างท้าทาย 5) ช่างสังเกต

          การอบรมครั้งนี้เน้นการวาดเพื่อการสื่อสาร มิใช่วาดเพื่อความสวยงามหลาย ๆ คนวาดได้สวยงามมาก แต่เป้าหมายของการวาดในงานวิจัย คือการนำเสนอให้ชุมชนได้เข้าใจในสิ่งที่นักวิจัยต้องการสื่อ แล้วจิ๋มก็ได้อธิบายว่า การวาดมี 2 แบบ หากแบ่งตามแผนการวาด คือ 1)แบบไม่มีแผน เพราะฟังคนในเวทีพูดแล้ววาดทันที 2) แบบมีแผน เพราะวางแผนไว้ในหัวแล้ววางโครงแบบเพื่อสื่อให้เห็นอย่างเป็นระบบ ช่วงเช้าวิทยากรจัดกิจกรรมละลายพฤติกรรม บรรยายทฤษฎีการวาดรู้ และการใช้จินตนาการ นำเสนอภาพจาก http://www.funpic.hu พอ 11.30 น. ก็สอนวาดภาพแสดงความรู้สึกของคน โดยใช้วงกลมกับเส้น 3 เส้นเป็นหลัก ช่วงบ่ายก็สอนวาดมุมของหน้า ตัวคน สถานที่ และการใช้ลูกศร บ่ายแก่หน่อยก็แบ่งกลุ่มให้วาดตามโครงการของตนเอง ทีมของผมมีลูกสาว 3 คน คือ รีม พีพี และมาหยา ช่วยลงสีในแผนภาพที่นำเสนอขั้นตอนในภาพรวมของโครงการวิจัยงานศพฯ

         การวาดภาพครั้งนี้ ก็ต้องเลือกว่านำเสนอในกรอบใด ใช้ไดอะแกรมแบบใด และมีขอบเขตเพียงใด เพราะกรอบที่จะเขียนมีตัวเลือกในหัวของผมประกอบด้วย 1) ขั้นตอนในภาพรวม 2) ความสัมพันธ์ของกลุ่มคนและบทบาทของคน 3) ประเด็นและบทบาทของคน 4) กระบวนการและบทบาทของคน 5) การพัฒนาสื่อและบทบาทของคน 6) วิเคราะห์ตาม Social Map 7) วิเคราะห์ตาม Mind Map

ช่วยกันวาด
ช่วยกันวาด

          สรุปว่าภาพที่วาดออกมาแสดงถึงขั้นตอนในภาพรวม แบ่งตามช่วงเวลา ขอบเขตที่นำเสนอคือ บทบาทของกลุ่มคน สถานที่ในแบบตามลำดับ และสื่อที่ใช้ ส่วนลำดับในแผนภาพควบคุมการไหลแบบตามลำดับ (Sequence)  เพราะสื่อให้เข้าใจได้ง่าย เป็นภาพมุมกว้างไม่ละเอียดนัก  แต่จำนวนประเด็นที่อยู่ในภาพมีมากเกินเวลาที่มีอยู่ การอธิบายให้เข้าใจสิ่งที่ต้องการนำเสนอจึงทำได้จำกัด เมื่อเทียบกับจำนวนกลุ่มที่ต้องออกมานำเสนอ ประกอบกับการอบรมครั้งนี้เป็นเพียงการฝึกวาดรูปเพื่อการสื่อสาร และวิทยากรก็บอกว่า “ได้เท่าใดเท่านั้น” ทำให้ผมไม่นำเสนอขั้นตอนการทำงานในระยะที่ 3 เพราะแค่ 2 ระยะที่เขียนไปก็คงต้องอธิบายกันยาวอยู่แล้ว

     มีคุณหมอจากเมืองปานมาเป็นตัวแทนโครงการวิจัยน้ำดื่มฯ ของเมืองปาน ที่อ.อดิศักดิ์ เสมอพิทักษ์ และ อ.อัศนีย์ ณ น่าน เป็นทีมวิจัย เหตุที่ทั้ง 2 ท่านไม่ได้มาร่วมด้วยเพราะไปจัดงานมุทิตาจิตของ รศ.จินตนา สุนทรธรรม ได้พบ รศ.ดร.บุญฑวรรณ วิงวอน ในงานกลางคืน แต่งานอบรมตอนกลางวันผมได้พบ ผศ.ดร.ดวงจันทร์ เดี่ยววิไล ก็เป็นอีกวันหนึ่งของผมที่ได้พบผู้คนมากมายอีกครั้ง