ร้อนสูงสุด และหมอกควันสูงสุด ที่ลำปาง ปี 2552 (1)

9 มีนาคม 2552 : นายทิวา พันธ์ไม้สี หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง  กล่าวว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ลักษณะอากาศเช่นนี้ จะทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าว  เช่น  จังหวัดลำปาง ล่าสุดวัดอุณหภูมิเฉลี่ย 39.9 องศาเซลเซียส ใน อำเภอเถิน ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงสุดของภาคเหนือตอนบนติดต่อกันมาเป็นวันที่ 5 แล้ว  ส่วนพื้นที่อำเภออื่นค่าเฉลี่ยประมาณ 34-39  องศาเซลเซียส  ขณะที่สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่วันที่ 9 มีนาคม 2552 ถือว่าเบาบาง เนื่องจากกระแสลมแรงความเร็ว 10 – 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยอยู่ที่  107 – 116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  นายทิวา กล่าวต่อว่า ส่วนหมอกควัน จ.เชียงราย น่าเป็นห่วง สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่หน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย รายงานค่าหมอกฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีปริมาณสูงถึง 204.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  แม้จะลดลงจากวันที่ 8 มีนาคม 2552 แต่ค่ายังสูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะอำเภอแม่สายถูกหมอกควันไฟปกคลุมหนาแน่น ระยะการมองเห็นเพียง 500-600 เมตร  หลายคนเริ่มมีอาการแสบตาและคอแห้ง ต้องสวมหน้ากากป้องกันหมอกควัน.
http://tnews.teenee.com/etc/33114.html

นายสุวิทย์ ขัติยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 5 – 7 มีนาคม 2552 สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่จังหวัดลำปางได้เบาบางลง และมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะลมแรงที่พัดในจังหวัดลำปาง ได้เกิดพัดให้หมอกควันไฟได้หายไป แต่อย่างไรก็ตาม ไฟป่า และการจุดไฟเผาในที่โล่งแจ้งก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งถือว่ายังมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ในวันนี้เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัติโนมัติของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งอยู่ใน อ.เมือง วัดได้ 128 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรส่วนสถานีที่ตั้งอยู่ใน อ.แม่เมาะ 2 แห่ง วัดได้ 152.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 159.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากค่าดังกล่าวที่วัดได้ล่าสุด เป็นสิ่งบอกเหตุที่ว่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศเริ่มที่จะสะสม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งจากนี้ไปหากสภาพอากาศในจังหวัดลำปางเอื้ออำนวย ก็จะทำให้สถานการณ์หมอกควันเบาบางลงไปอยู่ในภาวะปกติ แต่หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยก็จะทำให้สถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น
http://www.innnews.co.th/local.php?nid=161048

นายสุวิทย์ ขัติยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่ของจังหวัดลำปางอยู่ในขณะนี้ พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก กำลังเริ่มเข้าสู่จุดวิกฤต ซึ่งหากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป ถือว่าเป็นสภาพอากาศที่วิกฤต และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในปี 2551 ที่ผ่านมาได้เคยเกิดขึ้นในจังหวัดลำปางและในปีนี้ ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจาก จังหวัดลำปางมีปริมาณเชื้อเพลิงสะสมทั้งในป่า และในที่โล่งแจ้งเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40 ดังนั้น ไฟป่า และการจุดไฟเผาในที่โล่งแจ้ง ทำให้สถานการณ์ของรุนแรงกว่าทุกปี จากการตรวจวัดได้จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัติโนมัติในเขต อ.เมือง ล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 สูงถึง 272.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นสภาพอากาศที่ไม่ดี และเป็นค่าที่สูงสุดของประเทศไทย เท่าที่เคยมีการเฝ้าระวังมาในปี 2552 ด้าน นายแพทย์ ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง กล่าวว่า จากสถานการณ์หมอกควันไฟปกคลุมพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปางวันละกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 จากปกติจะมีประชาชนที่ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณวันละ 120 ราย ซึ่งผู้ปวยที่เข้ารับการรักษาจะมีอาการแสบตา แสบจมูก และมีบางรายเกิดอาการไอ แน่นหน้าอก และหายใจติดขัด ซึ่งเกี่ยวกับระบบทางทางเดินหายใจแทบทั้งสิ้น
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?lang=T&newsid=366343

หมอกควันลำปางมีค่าสูงสุดของประเทศอีกรอบ
นายสิทธิพันธ์ มณีท่าโพธิ์
เจ้าพนักงานอุตุนิยมวิทยาชำนาญงานของสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง ได้รายงานสภาพอากาศของจังหวัดลำปาง โดยทั่วไปว่า ทุกพื้นที่ของจังหวัด ยังจะต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนต่อไปอีก ประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยในช่วงกลางดึก และเช้ามืด จะมีอากาศเย็น อุณหภูมิเฉลี่ย 14 – 16 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงกลางวันจะมีอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิ 34-37 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีลมอ่อนพัดความเร็ว 6-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยลมจะส่งผลทำให้พัดหมอกควันไฟปกคลุมพื้นที่ของจังหวัดลำปางทั้ง 13 อำเภอ แต่ไม่พัดออกไปจากจังหวัด ส่วนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ได้ประเมินว่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดเป็นแอ่ง และมีภูเขาสูงรอบล้อมทุกด้าน จึงทำให้หมอกควันไฟปกคลุมอยู่ในจังหวัดลำปางอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเกิดฝนตกลงมา เพื่อชำระล้างหมอกควันไฟให้จางหายลงไป ขณะนี้สภาพอากาศของจังหวัดลำปาง ยังเกิดฟ้าสลัวในตอนกลางวัน โดยเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าว่าจะมีหมอกสีขาวปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งก็คือหมอกควันไฟ และสถานีตรวจตวัดคุณภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดได้ตรวจค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ล่าสุดในวันนี้ โดย อำเภอแม่เมาะ 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และใน อำเภอเมืองลำปาง 177 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่กลับมาสูงสุดของประเทศไทย หลังจากเมื่อวานนี้ ค่าได้ลดลงแล้ว แต่กลับขึ้นมาสูงอีกครั้ง
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=364546

การจัดการแฟ้มดิจิทอลในองค์กรขนาดเล็ก (2)

File Management
File Management

ระบบนี้พัฒนาด้วยภาษา PHP เป็นแฟ้มเพียงแฟ้มเดียวแต่ช่วยในการจัดการแฟ้มดิจิทอลออนไลน์ได้ ซึ่งเป็นความสามารถเล็ก ๆ แต่ช่วยประสานกลไกการจัดการข้อมูลเพื่อสนับสนุนระบบฐานข้อมูลต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร (ในกรณีที่ยังไม่มีระบบใดดีกว่านี้) โดยมีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อให้การสร้างงานเขียนเพียงครั้งเดียว แต่ถูกนำไปใช้ได้หลายครั้ง 2) เพื่อให้งานที่เขียนขึ้นถูกนำไปใช้ได้หลายวัตถุประสงค์ เช่น KM, SAR, SRR 3) เพื่อสร้างระบบสำรองข้อมูลผ่านเครือข่ายการเผยแพร่ข้อมูล 4) เพื่อให้ใช้แฟ้มงานได้อย่างปลอดภัย สำหรับรายละเอียดการใช้งานระบบมีเงื่อนไขสนับสนุนดังนี้  1) เข้าจัดการแฟ้ม ต้องมี กุญแจ A  2) เข้าเปิดดูข้อมูล ดูรายชื่อแฟ้มต้องมี กุญแจ U 3 ) สามารถติดกุญแจเฉพาะแฟ้มที่สำคัญ ต้องมี กุญแจ Z  4) เผยแพร่แฟ้มออกไปได้ง่าย ในแหล่งที่ต้องการ อย่างเป็นสากล
http://www.thaiall.com/ppt/file_manage_01.ppt
http://www.yonok.ac.th/doc/burin/file_manage_01.ppt
http://www.thaiall.com/perlphpasp/source.pl?9102

เกมคือปัญหา เมื่อเกิดปัญหา และถูกมองข้ามเมื่อเวลาผ่านไป (8)

ปัญหาเด็กติดเกม
ปัญหาเด็กติดเกม

โลกของเกมที่ใช้เครื่องเล่นเกม มีออกมาขายหลายรุ่น อาทิ DS | GBA | GameCube | PC | PS2 | PS3 | PSP | Wii | Xbox | Xbox 360 แม้สังคมจะบอกว่าเกมเป็นปัญหา แต่ก็เห็นความเจริญก้าวหน้าของการพัฒนาเกมมีอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับเสียงนกเสียงกาที่บ่นด่าว่าเด็กติดเกมเป็นปัญหา แต่ไม่ค่อยเห็นใครออกมาเสนอทางแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เห็นบอกแต่ว่าต้องทำครอบครัวให้อบอุ่นเด็กจะได้ไม่ไปเล่นเกม ชวนเด็กนั่งสมาธิ เข้าวัด ไปโรงเรียน เล่นกีฬา ขอวกเข้ากีฬาหน่อยครับ พระแถวบ้านบ่นให้ฟังว่าเด็กวัยรุ่นสมัยนี้แข่งกีฬาต้านยาเสพติดตามโครงการขององค์กรหนึ่ง พอแข่งเสร็จก็พากันไปกินเหล้า ก็เป็นอีกมุมมองที่สะท้อนความจริงของชีวิตครับ กลับเข้าเรื่องเกม เครื่องเล่นเกมก็มีราคาไม่ใช่ถูกถูก ถ้าพ่อแม่ไม่ซื้อให้จะเด็กจะเอาที่ไหนมาเล่นอย่าง play station ออกมา ก็มี play station 2 เดี๋ยวนี้เป็น 3 แล้ว เด็กบางคนมีทั้ง 3 รุ่นเลย ส่วน xbox ที่ใครบอกว่าสุดยอด เดี๋ยวนี้ต้อง xbox 360 แต่สิ่งล่อลวงยังไม่หยุดแค่นี้ โลกของไอทีจะต้องพัฒนาอะไรมาล่อลวงเด็กอีกมาก วันนี้ตั้งใจพลัดหลงเข้าไปใน gamerankings.com พบรายชื่อเกมที่นิยมสูงสุด 8 อันดับแรก (23 เมษายน 52) แต่ผมไม่รู้จักซักตัว คือ 1) Fallout 3 2) World of Warcraft 3) Elven Legacy 4) Pokemon Platinum 5) Demigod 6) Dragon Ball: Evolution 7) Grand Theft Auto: San Andreas 8) Halo 3 ผมลองค้นหาเกมแปลก ๆ ที่แปลกตามข่าว แล้วก็พบจริง ๆ ครับ เป็นเกมที่ทำให้เด็กเสียคน ลองอ่านคำอธิบายของเกม เขาบอกว่าเก็บเด็กผู้หญิงตามชายหาด คนคิด คนพัฒนา เขาก็ทำได้นะครับ บางเกมก็พูดถึง Money, fame, power, and sex  ส่วนเกมจับคู่หญิงชายแบบเล่นที่บ้านก็มีเกลื่อนเมืองอยู่แล้ว ที่น่ากลัวคือ เกมจับคู่หญิงชายทางอินเทอร์เน็ตนี่สิครับ เพราะมีข่าวว่าเด็กบางคนเล่นเกมในคอมแล้วไม่พอ ขอเล่นเกมอย่างว่านอกคอมด้วย คุณอาของผมเล่าว่าลูกของเพื่อนเขาเล่นเกมอย่างว่า แล้วก็ดันไม่พอ ออกมาเล่นเกมกันนอกคอม ไม่รู้จะโทษใคร ไม่รู้จะบอกว่าใครผิด .. โทษน้ำมันดีไหมครับนี่ หรือโทษสังคมดี

ชาวตำบลไหล่หินประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงคุมคชจ.งานศพ (7)

      ชาวตำบลไหล่หิน 6 หมู่บ้าน ประกาศเจตนารมณ์ลดเหล้าในงานศพ พร้อมยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ออก 18 มาตรการ ควบคุมค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เพื่อลดภาระเจ้าภาพ ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัย “รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงบ้านไหล่หิน ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา จ.ลำปาง” ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) กล่าวว่า สภาพเศรษฐกิจปัจจุบัน ชาวบ้านได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาปากท้องเป็นอย่างมาก แต่ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างหนึ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ คือเมื่อครอบครัวใดมีคนตาย จะต้องจัดการงานศพ ซึ่งส่วนใหญ่เจ้าภาพไม่ได้มีการตระเตรียมสำรองเงินไว้ล่วงหน้าเหมือนงานบุญ หรืองานมงคล โดยจากการศึกษาข้อมูลระหว่างปี 2533-2550 พบว่าชาวบ้านในพื้นที่หมู่ 2 และหมู่ 6 เสียชีวิตเฉลี่ย 19 คน/ปี และค่าใช้จ่ายในงานศพอยู่ที่ 13,000-17,000 บาท/วัน ดังนั้นถ้าเก็บศพไว้ 5-7 วัน จะมีค่าใช้จ่ายร่วม 100,000 บาท
       ซึ่งเมื่อศึกษารูปแบบงานศพในอดีต ก็พบว่าประมาณ 80 ปีที่ผ่านมา เมื่อบ้านไหนมีผู้เสียชีวิตจะห่อผ้ามัดด้วยเชือกเงื่อนตอกงูลืน แล้วนำใส่แคร่ไม้ไผ่ไปทำพิธีเผาหรือฝังอย่างเร็วที่สุด ไม่มีการเก็บศพข้ามคืนข้ามวันรอคนมาร่วมพิธีอย่างในปัจจุบัน และถ้าไม่ใช่ขุนนาง จะไม่ใช้ล้อเข็นศพไปทำพิธีที่สุสาน ปราสาทก็มีเฉพาะชนชั้นเจ้านายเท่านั้น แต่ค่านิยมที่เปลี่ยนไป คนรุ่นใหม่เริ่มให้ความสำคัญกับวัตถุมากขึ้น มีการสร้างปราสาทให้กับญาติผู้ใหญ่ที่ล่วงลับ เพราะเชื่อว่าปราสาทเหล่านี้จะเป็นที่อยู่ของผู้ล่วงลับหลังความตาย ทั้งยังเชื่อว่างานศพที่ใหญ่โตแสดงถึงหน้าตาของเจ้าภาพ
ทรงศักดิ์
ทรงศักดิ์

        ด้านนายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภา อบต.ไหล่หิน ในฐานะรองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าวถึงวิธีการจัดการว่าหลังจากทราบข้อมูลแล้ว มีการทำประชาคมหมู่บ้าน ดึงทุกภาคส่วน ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน ตลอดจนหน่วยงาน องค์กรที่อยู่ในพื้นที่เข้าร่วม และได้ประชามติเป็นประเด็นการจัดการงานศพทั้งหมด 16 ประเด็น แยกเป็นด้านการจัดการ 9 ข้อ และด้านความเชื่อ 7 ข้อ ตามลำดับ ได้แก่ 1.การควบคุมไม่ให้อาหารรั่วไหล ซึ่งที่ผ่านมาเกิดปัญหาอาหารมีปริมาณไม่เพียงพอกับแขก เพราะมีบางคนแอบตักออกไป ในลักษณะจิ้นลอดฮั้ว ชุมชนจึงเห็นพ้องว่าต้องช่วยกันสอดส่องดูแล ไม่ส่งเสริมพฤติกรรมเช่นนั้นต่อไป 2.ใช้เครื่องปรุงพอประมาณ เนื่องจาการซื้อเครื่องปรุงแบบไม่วางแผนล่วงหน้า ทำให้มีปัญหาทั้งขาดและเหลืออยู่เสมอ 3.ลดน้ำอัดลมเป็นน้ำเปล่า ตามหลักความสมเหตุสมผลว่าน้ำหวานเจือสีอัดแก๊ซ มีผลเสียต่อสุขภาพ 4.ลดอาหารว่าง เช่น เม็ดแตงโม เมล็ดทานตะวัน ขนมปังปี๊บ ข้าวต้ม กระเพาะปลา หรือกาแฟรอบดึก ซึ่งล้วนเป็นภาระของเจ้าภาพที่ต้องจัดหาตามแบบอย่างค่านิยมในเมือง 5.เตรียมเมี่ยงอย่างพอประมาณ เพราะความนิยมในการอมเมี่ยงลดลง แต่ผู้สูงอายุยังช่วยกันห่อเมี่ยงในงานศพตามปกติ ทำให้เหลือทิ้งอยู่เสมอ 6.ลดสุรา จากที่เคยตั้งโต๊ะทุกวัน เหลือเพียงบางวัน เช่น วันเก็บเต้นท์เก็บครัว เพื่อแทนคำขอบคุณผู้มาช่วยลงแรง 7.งดเล่นการพนัน 8.งดจ้างวงดนตรีสากล หรือวงลูกทุ่ง โดยส่งเสริมให้ใช้เทปหรือซีดีแทน 9.ใช้ดอกไม้แห้งในหมู่บ้าน เพื่อส่งเสริมการประกอบอาชีพในชุมชน 10.ใช้โครงปราสาทถาวร ไม่ต้องซื้อปราสาทใหม่ทั้งหลังแล้วนำไปเผา เพียงแต่หากระดาษสีสวยงามติดตามโครงปราสาทที่มีอยู่ หรืออาจซื้อผ้าเต้นท์ไปขึงเป็นยอดปราสาท แล้วบริจาคให้เป็นสาธารณประโยชน์ดีกว่านำปราสาทไปเผาทิ้ง 11.ยืมโลงทองที่สวยงาม มาครอบโลงจริง 12.เก็บศพประมาณ 4-5 คืน ซึ่งผู้สูงอายุในชุมชนได้ร่วมกันหารือ จนมีมติลดจำนวนวันที่ไม่สมควรทำพิธีเผาศพให้เหลือเพียง 2 วัน คือวัน 9 ค่ำ และวันศุกร์ที่ตรงกับ 15 ค่ำ ส่วนเจ้าภาพที่ไม่เชื่อเรื่องวันเสีย จะเผาศพวันใดก็สามารถทำได้ 13.จัดผ้าบังสุกุลอย่างพอประมาณ 14.งดการจุดพลุและบั้งไฟ 15.ควรเปลี่ยนสำรับเป็นเงิน จากธรรมเนียมปฏิบัติที่เพื่อนบ้านนำสำรับหรือสังฆทานไปร่วมทำบุญถวายแด่พระสงฆ์ แต่จำนวนสำรับมักมากกว่าจำนวนพระสงฆ์หลายเท่า ซ้ำปัจจัยที่บรรจุในสำรับไม่สดใหม่ หากเปลี่ยนจากสำรับเป็นเงิน ก็จะทำให้เจ้าภาพมีเงินเหลือไว้ทำบุญและง่ายต่อการจัดการ 16.ควรให้เงินสดแทนพวงหรีด เพราะเป็นประโยชน์ต่อเจ้าภาพมากกว่า
         “ปรากฏว่าเมื่อนำมาทดลองใช้ใน 2 หมู่บ้าน ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ จึงมีการขยายผลไปสู่อีก 4 หมู่บ้านที่เหลือ และเกิดประเด็นเพิ่มเติมอีก 3 ประเด็น คือ 1.งดชิงโชคจากโปรยทานด้วยลูกอมหรือเงินเหรียญ 2.ควรเผาศพในเมรุ 3.งดจุดธูปในบ้าน เพราะควันจากธูปก่อให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บ การจุดในที่โล่ง หรือจุดแต่น้อย จึงเป็นข้อเสนอที่นำมาให้เจ้าภาพพิจารณา” รองหัวหน้าโครงการวิจัย กล่าว
        และเป็นที่มาของการรวมตัวกันในระดับตำบล ทั้ง 6 หมู่บ้าน ที่ศาลาวัดไหล่หินหลวง เพื่อประกาศเจตนารมณ์ในการจัดงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีประกาศเป็นลายลักษณ์อักษรจากทางสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ไว้เป็นหลักฐาน
        ด้านนายชนะเกียรติ เจริญราช นายอำเภอเกาะคา ซึ่งเดินทางมาเป็นประธานในพิธีประกาศเจตนารมณ์ดังกล่าว ย้ำว่า การประกาศเจตนารมณ์ของชาว ต.ไหล่หิน ครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีมาก เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยลดปัญหาทางเศรษฐกิจให้กับเจ้าภาพได้อย่างชัดเจน จึงขอสนับสนุนอย่างเต็มที่ และในอนาคตอันใกล้ จะพยายามนำรูปแบบและวิธีการไปขยายผล เพื่อขับเคลื่อนสู่ระดับอำเภอต่อไป
หัวข้อเดิม ชาวตำบลไหล่หิน ประกาศยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ควบคุมค่าใช้จ่ายในงานศพ
จาก http://talk.mthai.com/topic/55481 (saichol)

เป็นตากล้องเก็บภาพประเพณีสงกรานต์ไหล่หิน (5)

ประเพณีสงกรานต์ตำบลไหลหิน
ประเพณีสงกรานต์ตำบลไหลหิน

มีโอกาสเข้าร่วมงาน “ประเพณีสงกรานต์ตำบลไหล่หิน และปีใหม่เมืองวัดไหล่หินหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ประจำปี 2552” เมื่อวันศุกร์ที่ 17 เมษายน 2552 ได้เดินถ่ายภาพตั้งแต่ก่อนเริ่มขบวนจนเสร็จพิธีเกือบ 4 ชั่วโมง เลือกภาพมาได้ 96 ภาพ แล้วบีบให้เหลือขนาด 1024 * 768 pixels เพื่อเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต แต่ภาพขนาดเต็มได้คัดลอกลง CD-ROM จะมอบให้กับผู้นำในตำบลท่านละแผ่นรวม 7 แผ่น ภาพแบ่งเป็น 4 เหตุการณ์ คือ 1)ก่อนและหลังเดินขบวน 2) ในเวทีเปิดปิดงาน 3) ในวัดไหล่หินหลวง 4) งานวัดบริเวณรอบวัด งานนี้ได้รับเกียรติจากท่านพินิจ จันทรสุรินทร์ มาเป็นประธานเปิดงาน แล้วกล่าวต้อนรับโดยนายบดินทร์  เครือนพรัตน์ ปลัดอาวุโสอำเภอเกาะคา และรายงานโดย ด.ต.กิจชนะชัย ปะละ กำนันตำบลไหล่หิน ข้างวัดไหล่หินมีมหรสพ เช่น ซอคำเมือง ดนตรีสากล มวยไทย บ้านบอล และกิจกรรมอีกมากมาย ซึ่งงานครั้งนี้มีงบประมาณสนับสนุน 150,000 บาท จากองค์การบริหารส่วนตำบล ตำบลไหล่หิน มี นายนเรศ ดวงไชย นายก อบต. และ นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธาน อบต. มาร่วมให้การต้อนรับผู้มีเกียรติ ภาพทั้งหมดได้เผยแพร่ภาพใน http://www.thaiall.com/lovelampang/nw/index.php?key=%BB%C3%D0%E0%BE%B3%D5%CA%A7%A1%C3%D2%B9%B5%EC

บ้านสามขา (6)

นักวิจัยบ้านไหล่หินไปดูงานบ้านสามขา
นักวิจัยบ้านไหล่หินไปดูงานบ้านสามขา

ถอดบทเรียนเพื่อใช้อ้างอิงเกี่ยวกับบ้านสามขา
      ดร.สุชิน เพ็ชรักษ์ ได้นำเสนอการพัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วมของชาวบ้าน ผู้นำชุมชนและเยาวชนร่วมกับพันธมิตรภาครัฐและเอกชนตลอดหลายปีที่ผ่านมาและมีความต่อเนื่องจวบจนทุกวันนี้ เรื่องราวทั้งหมดถูกเรียบเรียงไว้ในหนังสือ “บ้านสามขาชุมชนแห่งการเรียนรู้” ของสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร บันทึกการพัฒนาชุมชนครั้งนี้เริ่มต้นในปีพ.ศ.2544 โดยเริ่มต้นจากการฝึกอบรมครูของชุมชนในการจัดการเรียนการสอนตามทฤษฎีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญา (Constructionism) แล้วตามด้วยการจัดค่ายอบรมคอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนและผู้ปกครองของหมู่บ้าน
        ปีพ.ศ.2544 มูลนิธิศึกษาพัฒน์บริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์ และมูลนิธิไทยคมได้ติดตั้งอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมให้ที่โรงเรียนบ้านสามขา เพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขาที่ดูแลโดยเยาวชนในหมู่บ้าน จัดกิจกรรมอบรมการใช้ การซ่อมบำรุง การพัฒนาเว็บไซต์ การสืบค้นข้อมูล และเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชน จากการนำทฤษฏีการสร้างสรรค์ด้วยปัญญาไปใช้ในชุมชนร่วมกับใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือได้นำไปสู่ “ความรู้และปัญญา” ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาหลายประการระหว่างปีพ.ศ.2544 – 2546 ได้แก่ 1) วิเคราะห์ปัญหาหนี้สิน และแก้ไขด้วยการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย 2) พัฒนาทักษะของเยาวชนด้วยการจัดค่ายการบ้าน ค่ายภาษาอังกฤษ ค่ายคอมพิวเตอร์ 3) สืบสานภาษาท้องถิ่นด้วยการจัดค่ายภาษาล้านนาที่สอนโดยผู้สูงอายุในหมู่บ้าน ที่นำไปสู่การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นภาษาล้านนาในโรงเรียน และศึกษาเรื่องสมุนไพรจนพัฒนาไปเป็นสินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 4) จัดตั้งธนาคารสมองเพื่อให้ผู้ที่ทำประโยชน์ต่อชุมชนกู้เงินไปลงทุนในอัตราดอกเบี้ยต่ำ 5) ค่ายวิปัสสนาที่เน้นการฝึกสมาธิให้มีสติและรู้จักตนเองให้ดีขึ้น 6) โครงการพัฒนากิจการร้านค้าชุมชน 7) เรียนรู้การบริหารจัดการที่พักในชุมชน และโครงการที่พักแรมระยะยาว (Long Stay) 8) เรียนรู้การจัดการแหล่งน้ำ 9) โครงการจัดการข้อมูลข่าวสาร และโครงการพัฒนาวิทยุชุมชนโดยเยาวชน
      องค์ประกอบหนึ่งของความสำเร็จคือความมุ่งมั่นในการพัฒนาชุมชนของชาวบ้านในหมู่บ้าน ซึ่งบทเรียนของการพัฒนาที่ท่านเหล่านี้เป็นกำลังสำคัญ คือ อาจารย์ศรีนวล วงศ์ตระกูล เป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงองค์กรภายนอกเข้ากับโรงเรียนและเยาวชนจนสามารถมีศูนย์คอมพิวเตอร์ชุมชนบ้านสามขา คุณนารี อินทร์มาปัน (น้าติ๋ม) คือตัวอย่างผู้เรียนรู้การใช้เครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อบริหารจัดการร้านค้าชุมชน ผู้ใหญ่จำนงค์ จันทร์จอม เป็นผู้นำชุมชนที่มีวิสัยทัศน์ทันสมัยว่า “เด็กรุ่นใหม่จะต้องทำนาได้และใช้คอมพิวเตอร์เป็น” และสนับสนุนให้มีบริการอินเทอร์เน็ตในหมู่บ้าน จ.ส.อ.ชัย วงศ์ตระกูล ดูแลการก่อสร้างอาคารติ๊บปาละเป็นลองสเตย์บ้านสามขาเพื่อบริการนักท่องเที่ยวและผู้มาศึกษาดูงาน พ่อหนานทองสุข  วงศ์ษากัน อดีตเจ้าอาวาสวัดสามขาและเชี่ยวชาญภาษาล้านนา ยินดีสอนภาษาล้านนาให้เยาวชนโดยไม่คิดค่าใช้จ่าย คุณชาญ  อุทธิยะ นำชาวบ้านแก้ปัญหาหนี้สินโดยใช้กระบวนการวิจัยเรื่องรูปแบบการแก้ไขปัญหาหนี้สินของทั้งชุมชน และเป็นแกนนำจัดตั้งสถาบันแสนผญาในเวลาต่อมา
http://www.ru.ac.th/tambon/mooban/bansamka01.htm
http://www.thaienergynews.com/ArticleShowDetail.asp?ObjectID=6
http://www.thaiall.com/itinlife/article.php?id=207&title=samkha

สอนลูกวาดดอกพิกุล

การวาดดอกพิกุล
การวาดดอกพิกุล

ช่วงนี้ปิดภาคเรียนขึ้นป.5 และ ป.4 นอกจากให้ฝึกทำข้อสอบจากคู่มือแล้ว ส่งไปเรียนฤดูร้อนที่โรงเรียนในเดือนเมษายน ก็ท่องศัพท์กันนิดหน่อยที่บ้าน เมื่อวานนึกได้ว่าน่าจะฝึกพวกเขาวาดรูป เห็นจากใน TV รายการสอนศิลป์ตอนเย็น ก็ไม่น่าวาดยากอะไร จึงซื้อสีน้ำ มาฝึกให้วาดรูปดอกพิกุล เพราะมีโครงสร้างชัดเจน สวยงาม ประยุกต์ไปได้มากมาย ถ้าวาดดอกพิกุลได้ ลายอื่น ๆ ก็จะตามมา ตอนนี้เห็นคุณแม่ของเด็ก ๆ เอาด้วย ก็ดูมีความสุขกันดี ก็ฝันให้ลูก ๆ ฟังว่าถ้าวาดสวยจะรวบรวมไปขายที่กาดกองต้ากับประกาศขายผ่าน net ซะเลย
http://ebook.nfe.go.th/ebook/html/016/45.files/image002.jpg

แนวคิดงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น (5)

      หลายปีที่ผ่านมางานวิจัยในประเทศไทยมักถูกตั้งโจทย์โดยนักวิชาการ หน่วยงานต่างๆ เพียงเพื่อทดสอบทฤษฎีบางอย่างหรือต้องการหาคำตอบบางอย่าง ที่กลุ่มคนเหล่านั้นสนใจหรือเข้าไปทำวิจัยในท้องถิ่น เพื่อการวางแผน กำหนดนโยบายบางอย่าง เพื่อคลี่คลายปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศ แต่ก็ยังเป็นที่กังขาว่า ผลงานวิจัย ได้ถูกนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์ กับคนส่วนใหญ่หรือไม่ สามารถตอบคำถาม ในชุมชน และนำไปแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่ มากน้อยเพียงใด เพราะหลายๆ ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข และในบางปัญหา กลับดูเหมือนว่าจะรุนแรงมากขึ้น ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจาก ขาดการคำนึงถึงว่า ชุมชนต้องการจะคลี่คลาย ในสิ่งที่กลุ่มคนภายนอกเข้าไปศึกษาหรือไม่ กล่าวคือ ผู้ที่เกี่ยวข้อง มักจะไม่ได้นำงานวิจัยไปใช้ หรือไม่ตอบสนองกับปัญหาของชุมชนนั่นเอง
     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จึงพยายามสร้างสรรค์แนวคิดใหม่ ในการสนับสนุนงานวิจัย คือ “ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตาม ที่จะทำวิจัย โจทย์ควรมาจากชุมชนท้องถิ่น ทำแล้วก่อให้เกิด ความเปลี่ยนแปลงในชุมชน ทำให้คนในชุมชน ได้เรียนรู้และเก่งขึ้น” บนฐานคิดตามความหมาย การวิจัยของศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ที่ได้กล่าวไว้ว่า “วิจัยที่แท้จริงนั้น จะต้องเป็นการวิจัย ที่หมายความถึงการแสวงคำตอบที่เป็นระบบเปิด และเรื่องของการพัฒนา จะต้องตั้งโจทย์ที่เป็นระบบเปิด เพราะฉะนั้น นอกจากเข้าใจปัญหา และมองแนวทางในการแก้ปัญหา  เราก็มีโจทย์ ในการวิจัยนั้น ซึ่งได้ชี้ช่องทางให้เราเห็นถึง แนวทางการพัฒนา หมายความว่า เป็นการพัฒนาต่อไป เป็นการกำหนดแนวทาง การพัฒนาที่ขึ้นอยู่กับศักยภาพของท้องถิ่นโดยเฉพาะ การทำงานวิจัยในรูปนี้ เราจะต้องมองเงื่อนไข ศักยภาพ เพื่อที่จะให้ท้องถิ่น สามารถพัฒนาตัวเองต่อไปได้” ท้ายที่สุดแล้ว เมื่อมีงานวิจัย มีข้อมูลและประสบการณ์จากหลายๆ พื้นที่ หลายๆ ชุมชนทั่วประเทศเพียงพอ ก็คาดว่า จะสามารถนำไปสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ เพื่อผลักดัน สู่การเปลี่ยนแปลงนโยบาย ในระดับภาค ระดับประเทศ ทำให้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นคลี่คลายในที่สุด
     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นองค์กร นอกระบบราชการ บริหารงานโดยอิสระ ภายใต้การกำกับ ของสำนักนายกรัฐมนตรี ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ.2536 เพื่อให้การสนับสนุนการวิจัย ด้านเศรษฐกิจ สังคม เทคโนโลยี และงานวิชาการด้านต่างๆ เพื่อการพัฒนาประเทศ โดยมีการแบ่งเป็นฝ่ายงานต่างๆ ได้แก่ฝ่าย นโยบายชาติ และความสัมพันธ์ข้ามชาติ ฝ่าย 2 เกษตร ฝ่าย 3 สวัสดิภาพสาธารณะ ฝ่าย 4 ชุมชน ฝ่าย 5 อุตสาหกรรม และฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
     สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานภาค ได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2541 เพื่อให้ดำเนินการ ในฝ่ายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดใหม่ เน้นการสร้างกระบวนการ “ติดอาวุธทางปัญญา” (Empowerment) แก่ชุมชนและท้องถิ่น รวมทั้งเน้นให้ชุมชน ได้ใช้ประโยชน์จากกระบวนการวิจัย หรืออีกนัยหนึ่ง เป็นกลไกหนึ่ง ในการสร้างบรรยากาศ “การเรียนรู้ของทุกคน ทุกคนเรียนรู้ เรียนรู้ตลอดชีวิต เรียนรู้เกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่” ตามเจตนารมณ์ ของพระราชบัญญัติ การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542
     ที่สำคัญคือ สกว.ภาค จะต้องเน้นการจัดการ และประสานให้เกิดความเชื่อมโยง ระหว่าง “ปัญญา” (นักวิจัย) และ “พัฒนา” (นักพัฒนา) ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับจังหวัด ระดับชาติ ที่ดำเนินงานแบบแยกส่วน ต่างคน ต่างทำอยู่ ในปัจจุบัน ดังคำขวัญ “สร้างสรรค์ปัญญา พัฒนาท้องถิ่น” เพื่อให้ “สังคมไทย ได้ใช้ความรู้และข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ ในการแก้ไขปัญหา และตัดสินใจ แทนการใช้ความรู้สึก หรืออารมณ์” นำไปสู่ความสามารถ ในการแก้ปัญหา พัฒนาตนเอง และพึ่งตนเองได้ในชุมชน ท้องถิ่น ตลอดจน การพัฒนาประเทศชาติ ที่ยั่งยืนในที่สุด 

เปรียบเทียบแนวคิด
เปรียบเทียบแนวคิด

ระบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่น
     ศาสตราจารย์นายแพทย์วิจารณ์ พานิช ได้กล่าวถึงระบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่นไว้ว่า จะต้องมีส่วนประกอบสำคัญ ดังต่อไปนี้
1. ระบบทรัพยากร
ต้องมีระบบทรัพยากรที่มาจากส่วนกลาง และส่วนท้องถิ่น
2. หน่วยงานจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ต้องมีหน่วยงานจัดการ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่สามารถเรียนรู้ และพัฒนาศาสตร์และศิลป์ ในการจัดการ งานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ที่เชื่อมโยง กับการจัดงานวิจัย ในภาพรวมของประเทศ ซึ่งหน่วยจัดการงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นนี้ อาจมีหน่วยงานเดียว ดูแลทั้งประเทศ หรืออาจแยกเป็น 2 – 3 หน่วยงาน บางพื้นที่กันดูแลตามความเหมาะสม
3. นักบริหารวิจัยเพื่อท้องถิ่น
เนื่องจากการวิจัยเพื่อท้องถิ่น ในประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่ นักวิจัยเองยังไม่สันทัด ไม่คุ้นเคย และคนในท้องถิ่นเอง ก็ยังไม่คุ้นเคย จึงต้องการนักบริหารงานวิจัย เข้าไปจัดกระบวนการ แปรความต้องการ ของชาวบ้านให้เป็นโจทย์วิจัย จัดกระบวนการ เพื่อกำหนดกระบวนการ หรือวิธีวิจัย และแปลผลการวิจัย ตลอดจนนำผลการวิจัย ไปใช้ประโยชน์ในท้องถิ่น ซึ่งนักบริหารงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จะต้องมีทักษะจำเพาะหลายด้าน ที่แตกต่าง ไปจากนักบริหารงานวิจัยโดยทั่วไป
4. สถาบันวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ต้องมีการจัดตั้ง และส่งเสริมความเข้มแข็ง ขององค์กรทั้ง 3 กลุ่ม ได้แก่ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรวิจัย และเทคโนโลยี เพื่อให้ทำหน้าที่เป็นกลไก ในการรับใช้ชุมชนท้องถิ่น ในการส่งเสริมงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ควบคู่ไปกับการสร้างฐานความรู้เพื่อท้องถิ่น
5. นักวิจัยเพื่อท้องถิ่น
ควรประกอบด้วย นักวิจัยจากหลายหลายสาขาวิชา หลายพื้นฐานประสบการณ์ แต่มีส่วนที่เหมือนกัน หรือมีเจตนารมณ์ร่วมกันคือ ต้องการเข้ามาอำนวยความสะดวก ให้ชาวบ้านสร้างความรู้ เพื่อใช้ในการพัฒนาท้องถิ่นของตน
6. นักวิจัยเชิงทฤษฎี
นักวิจัยเชิงทฤษฎีจะต้องเข้ามาจับภาพรวม ภาพใหญ่ พัฒนาเป็นทฤษฎีที่สร้างขึ้นเองภายในประเทศ จากข้อมูลท้องถิ่น ซึ่งในขณะนี้แทบจะไม่มีทฤษฎีทางสังคมที่สร้างขึ้นเองภายในประเทศจากข้อมูลท้องถิ่นเลย
7. ระบบข้อมูลเพื่อการวิจัยท้องถิ่น
ข้อมูลส่วนหนึ่ง (ซึ่งเป็นข้อมูลส่วนใหญ่ที่ต้องการ) คือ ข้อมูลเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของชาวบ้านทั่วประเทศ ประเด็นที่สำคัญ คือ ความแม่นยำและทันสมัยของข้อมูล จะต้องมีการจัดเก็บและเชื่อมโยงกันอย่างเป็นระบบ และมีการประมวลและใช้ข้อมูลในแต่ละท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์
     ระบบการวิจัยเพื่อท้องถิ่นในประเทศไทย ยังอยู่ในระยะเริ่มต้น จึงยังต้องการการพัฒนาอีกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการบริหารจัดการ จึงควรเป็นระบบเปิด ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เป็นการนำไปสร้างความรู้ เท่ากับว่าผู้ที่เกี่ยวข้องต้องช่วยกันพัฒนาระบบนี้ โดยมีเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ คือ “สังคมไทย มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน บนฐานความรู้ และการสร้างความรู้ในทุกส่วนของสังคม”
ข้อมูลจาก http://www.geocities.com/db2545/book1/03.html
http://www.vijai.org/Tool_vijai/05/01.asp

หวนนึกถึงคุณตาในวันพญาวัน (4)

รดน้ำดำหัว
รดน้ำดำหัว

วันที่ 15 เมษายนของทุกปีเป็นวันพญาวัน หรือสุดยอดวันขึ้นปีใหม่ของไทยในรอบปี วันนี้จะเป็นวันที่ผู้น้อย ผู้เยาว์ ไปรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ ก็หวนนึกถึง 10 ปีที่ผ่านมาหลังผมแต่งงาน จะมีตาแสน(นายแสน ชำนาญการ)  ซึ่งเป็นคุณลุงของภรรยาอายุ 76 ปี เป็นผู้สูงอายุท่านหนึ่งในบ้านไหล่หิน  ทุกวันพญาวันจะมีผู้เยาว์ในหมู่บ้านถือขันมารดน้ำดำหัวท่านทุกปี แต่ปีนี้ไม่มีแล้ว เพราะท่านจากไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยอุบัติเหตุวันลอยกระทงปี 2551 โดยทำพิธีเผาศพเมื่อวันเสาร์ที่ 9 พฤศจิกายน 2551 เรื่องราวในอดีตเป็นสิ่งที่เราแก้ไขไม่ได้ แต่การหวนกลับไปนึกถึงก็ทำให้เรามีรอยยิ้มเล็ก ๆ กับความสุขน้อย ๆ และยังเป็นบทเรียนสำหรับการดำเนินชีวิตต่อไป เพราะการที่เรายังมีลมหายใจ แสดงว่ายังมีพรุ่งนี้รอเราอยู่

แถลงข่าวประกาศใช้ข้อตกลงในการจัดการงานศพฯ (4)

งานแถลงข่าว
งานแถลงข่าว

เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2552 นายทรงศักดิ์ แก้วมูล ประธานสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หิน ร่วมกับผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ หัวหน้าโครงการวิจัยรูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตำบลไหล่หิน อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ในบทบาทอาจารย์มหาวิทยาลัยโยนกร่วมกับนักวิจัยในพื้นที่ทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น จัดงานแถลงข่าวการประกาศใช้รูปแบบการจัดการงานศพโดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงตำบลไหล่หิน โดยได้รับเกียตรติจากนายชนะเกียรติ เจริญหล้า นายอำเภอเกาะคา เป็นประธานในพิธีมอบป้ายไวนิล ป้ายประชาสัมพันธ์ประเด็นข้อตกลง และเอกสารประกาศข้อตกลง แก่ตัวแทนผู้นำทั้ง 6 หมู่บ้านที่ทำงานร่วมกันมากว่า 2 ปี ณ ศาลาเอนกประสงค์วัดไหล่หินหลวง โดยมีผู้สูงอายุ นักวิจัยในตำบล หัวหน้าส่วนราชการ และนักวิจัยที่สังกัดศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดลำปาง เข้าไปร่วมเป็นเกียรติ และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงวิธีวิทยาของโครงการวิจัยครั้งนี้ หลังเสร็จพิธีนางสาวภัทรา มาน้อย พี่เลี้ยงโครงการวิจัยพื้นที่จังหวัดลำปาง ร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลไหล่หินจัดพิธีรดน้ำดำหัวผู้สูงอายุในตำบล นักวิจัยอวุโส ปลัดอาวุโส และนายอำเภอเกาะคา (news_announce.zip 15 MB)
ลงข่าวในหนังสือพิมพ์ฅนเมืองเหนือหน้า 19 ฉบับวันที่ 20-26 เมษายน 2552