กลับสู่อนาคต (back to the future) #1

26 ก.พ.55 มีที่มาที่ทำให้ผมนึกถึงคำนี้ เพราะคำนี้เป็นแนวทางนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้ในหลายสถานการณ์ ปัจจุบันเรามีคนสร้างปัญหา และมีคนแก้ปัญหา เป็นคนละคนกัน พูดกันคนละที คิดกันคนละมุม ฐานคิดคนละแบบ ซึ่งคนที่สร้างปัญหาก็ไม่ได้รู้ตัวว่าตนเองทำอะไรลงไป มาดูที่มาครับว่าทำไมผมนึกถึงคำ ๆ นี้
1. วลีระดับโลก
นึกถึงวลี หรือคำพูด ตรึงใจคนทั้งโลกของ บารัก โอบามา นายกรัฐมนตรีของอเมริกาที่ประกาศคำว่า change หรือ change has come to America “การเปลี่ยนแปลงได้มาถึงอเมริกาแล้ว” ส่วน steve jobs ก็นำเสนอคำว่า think difference ซึ่งผมพบคำนี้ในหนังสือ ที่เขียนโดย walter isaacson หน้า 378 ซึ่งผมว่า 2 คำนี้ไม่ทำให้ผู้ฟังเห็นกระบวนการที่นำไปสู่เป้าหมาย  แต่คำว่า back to the future นั้นมีกระบวนการ และเป้าหมายอยู่ในตัว
2. คิดแค่พรุ่งนี้
เห็นปัญหาของคำว่า การบริหารงานแบบเถ้าแก่ ซึ่งอาจารย์ ส. เคยเล่าให้ฟัง แล้วผมก็จับใจความได้ว่าการบริหารแบบเถ้าแก่ มักเป็นการตัดสินใจของคนเพียงคนเดียว สั่งมาแล้วอาตี๋ อาหมวยก็รับไปปฏิบัติ เกิดข้อผิดพลาดก็เป็นความผิดของเถ้าแก่ เรียกว่า เถ้าแก่รับเละอยู่คนเดียว แต่ระบบเถ้าแก่ไม่มีการถ่วงดุลอำนาจ ทำให้ในองค์กรไม่เคยปรากฎหลักฐานว่าเถ้าแก่บริหารงานผิดพลาด  แล้วก็นึกไปถึงการบริหารงานของ steve jobs ที่คุมบริษัท next เพราะเขาบริหารงานแบบเถ้าแก่นั่นเอง .. ในสังคมของนักวิชาการระดับประเทศเห็นปัญหานี้ จึงใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในพรบ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 2542 “มาตรา 47 กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาทุกระดับ ประกอบด้วย ระบบประกันคุณภาพภายใน และระบบประกันคุณภาพภายนอก” ถ้าไม่กำหนดในกฎหมาย การศึกษาไทยก็คงเดินไปแบบเถ้าแก่ตลอดไป
3. หลักการวิจัย
มีความพยายามใช้การวิจัยไปแก้ปัญหาชุมชน และผู้ประกอบการ เมื่อดูในรายละเอียด พบว่า การเขียนรายงานการวิจัย 5 บท ผู้ทำรายงานการวิจัยส่วนใหญ่รู้ว่า บทที่ยากที่สุด คือ บทที่ 1 คือที่จะไป และ บทที่ 2 คือที่ผ่านมา ซึ่งทั้ง 2 บท คือ กระบวนการสู่การแก้ปัญหาอย่างสมเหตุสมผล สอดรับกับคำว่า กลับสู่อนาคต แต่ถ้าเอาคำว่า วิจัย ไปเล่าให้นักธุรกิจอย่าง steve jobs หรือพ่อหลวงในชนบทฟัง ก็คงจะไม่เข้าใจ เพราะไม่ตระหนักว่า วิจัยมีกระบวนการคิดอย่างไร ในใจก็คงมีแต่ reality distortion field แต่คำว่า กลับสู่อนาคต มี 3 คำคือ back, to, the future ซึ่งแต่ละคำหมายถึงแต่ละบทในรายงานการวิจัย คำว่า back คือบทที่ 2 คำว่า to หมายถึง บทที่ 3 และคำว่า the future หมายถึงบทที่ 1 แต่พ่อหลวงแม่หลวงในชนบทก็คงไม่เข้าใจอยู่ดี เพราะคิดแต่พรุ่งนี้ก็น่าจะพอแล้ว ทำไมต้องไปค้นรากเหง้า ทำไมต้องนึกถึง 5 ปีข้างหน้า มีปัญหาก็เงียบ แล้วทำลืมไปซะ ปีหน้าค่อยว่ากันใหม่

http://www.gotoknow.org/blogs/posts/480063