28 ม.ค.56 วันนี้ขึ้นหัวข้อแปลกอยู่สักหน่อย และสวนกระแสสถิติการใช้เฟซบุ๊คว่า กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่มีจำนวนประชากรมากที่สุดที่เป็นสาวกของเฟซบุ๊ค คือ 12,797,500 คน เมื่อปลายเดือนมกราคม 2556 และมีบัญชีผู้ใช้มากกว่าจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ คิดเป็นร้อยละ 154.54 หรือกล่าวได้ว่าแต่ละคนมีมากกว่า 1 บัญชีผู้ใช้ แล้วทั้งประเทศมีบัญชีผู้ใช้ทั้งหมด 18,271,480 ซึ่งหมายความว่าเฉพาะกรุงเทพฯ เพียงเมืองเดียวก็มีผู้ใช้มากกว่าร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับทั้งประเทศ ซึ่งตอกย้ำว่าประเทศไทยมีกรุงเทพฯ เจริญเพียงเมืองเดียว เพราะการที่กรุงเทพฯเป็นเมืองหลวงของไทยหากจะพูดเรื่องปิดกั้นการใช้งานย่อมต้องถูกมองว่าเป็นแกะดำ หรือพวกขวางโลกในบัดดล
หากจะปิดกั้นต้องเริ่มจากบทบาทของผู้บริหารสูงสุดที่พบว่าพฤติกรรมของบุคลากรในองค์กรไม่ตอบวัตถุประสงค์ขององค์กร หรือใช้เวลาในที่ทำงานไม่คุ้มกับค่าจ้าง ผลงานไม่บรรลุตามแผนขององค์กร เคยฟังโน้ตอุดมพูดในเดี่ยว 8 ตอนรัฐไม่ยอมเปลี่ยนแปลง เตือนนักดนตรีว่าอย่าใช้ BB ขณะเขากำลังทำงาน หรือสำนักปลัดกระทรวงมหาดไทยมีหนังสือถึงผู้ว่าราชการทุกจังหวัดเมื่อ 6 กันยายน 2555 ว่าจะระงับการเข้าถึงเฟซบุ๊ค เนื่องจากไม่เป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานราชการ และสิ้นเปลืองช่องสัญญาณ ซึ่งจะดำเนินการได้นั้น ผู้บริหารต้องเข้าใจปัญหา และอธิบายปัญหาได้อย่างชัดเจน
เทคนิคที่ผู้ดูแลระบบจะควบคุมการเข้าถึงเครือข่ายให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการมีอยู่ขององค์กรมีหลายระดับ ซึ่งขึ้นกับวัฒนธรรมองค์กรที่จะเป็นตัวเสริม อาจเริ่มจากการให้นโยบายป้องปรามการใช้งาน ประกาศเป็นระเบียบปฏิบัติ ควบคุมการใช้งานผ่านศูนย์คอมพิวเตอร์ หรือใช้ซอฟท์แวร์ควบคุมในเครื่องคอมพิวเตอร์ประจำสำนักงานของผู้ใช้แต่ละคน แต่หากเป็น smart phone ที่ใช้บริการ 3G ก็จะไม่สามารถระงับผ่านซอฟท์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ แต่อาจควบคุมด้วยการกำหนดนโยบายตัดเงินเดือน หรือมีโทษทางวินัยหากสืบทราบว่าใช้เฟซบุ๊คในเวลางานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงาน แล้วมีทีมเฝ้าระวังตรวจสอบก็จะทำให้การปิดกั้นสัมฤทธิ์ผล ส่งผลให้บุคลากรไม่วอกแวกไปกับกิจกรรมที่ไม่มีผลต่อเป้าหมายขององค์กร แล้วหันกลับมาสนใจทำพันธกิจขององค์กรให้สำเร็จลุล่วง
+ http://faceblog.in.th/2012/05/facebook-bangkok/
+ http://www.it24hrs.com/2012/moi-block-facebook/
+ http://www.socialbakers.com/facebook-statistics/cities/