เล่าเรื่องเสนอแผน KM ที่เกือบถูกล้ม

25 พ.ย.52 ในการประชุมวันนี้ อ.บุ๋มและผม ได้ร่วมกันยกร่างแผน KM ของคณะ มีการกำหนดเป้าหมาย และหน่วยที่วัดผลได้เป็นรูปธรรม ซึ่งใช้เป็นต้นแบบประกอบการประชุม ประกอบด้วย 1)แผนการจัดการความรู้ 2)แบบฟอร์มกรอกประเด็นความรู้ในหัวข้อต่าง ๆ สำหรับการบ่งชี้ความรู้ เช่น หลักธรรม วิธีการ เครื่องมือ และประสบการณ์ 3)ความหมายของการเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญในคู่มือประกันคุณภาพ 4)รายงานการประชุมที่มีการดำเนินการตามกิจกรรมที่ 1 มาแล้ว
     หลังจากเริ่มประชุมเพียง 5 นาทีแรก ผมก็เกือบล้มแผน KM ตามแนวทางในแผนซึ่ง ก.พ.ร. และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ กำหนดแนวทางไว้ นี่นับเป็นอีกครั้งที่ผมเกือบจะยอมแพ้ต่อโชคชะตา ซึ่งมติที่ประชุมจะหันไปมุมการทำแผนแก้ปัญหา หรือแผนปรับการเรียนการสอน เฉพาะวิชาหนึ่งของคณะ ในเป้าหมายเรื่อง “การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ” ซึ่งไม่ใช่แผนการจัดการความรู้ในแบบที่มีการปฏิบัติกันทั่วไป แต่งานนี้ อ.บุ๋ม ท่านไม่ยอมให้แผนถูกล้มหรือผลิกเป็นแผนอะไรก็ไม่รู้ เพราะท่านเข้าใจอย่างถ่องแท้ และรู้ว่าถ้าพลิกแผนจะตอบคำถาม อย่างที่เคยถูก อ.ทัน เคยเคี่ยวในเวทีประเมินมาแล้วได้ลำบากขึ้น ท่านจึงเปิดเวทีแลกเปลี่ยนใช้เวลาทำความเข้าใจมากกว่าหนึ่งชั่วโมงให้ทุกคนได้เข้าใจ ว่าขั้นตอนเหล่านี้มีรายละเอียดอย่างไร จะพลิกแผนเป็นแผนอื่นก็จะผิดไปจากที่ควร .. สรุปว่าแผนครั้งนี้ไม่ถูกล้ม ยังคงเป็นแผนตามมาตรฐานการจัดการความรู้เช่นเดิม .. แต่ผมขู่ อ.บุ๋ม ไปว่า ถ้าครั้งต่อไปอาจารย์ไม่ร่วมประชุมล่ะก็มีหวังผมล้มแผน KM ในที่ประชุมเป็นแน่ .. ขอเอาใจช่วยให้แผน KM ยังคงเป็นแผน KM ไม่ถูกปรับแก้ไปตามความเข้าใจเดิมเดิม
     งานนี้สรุปได้อย่างหนึ่งว่า ถ้าแผน KM ไม่มีชื่อผมก็คงจะไม่มีการเสนอล้มแผน KM เป็นแผนอื่น  เพราะผมเป็นพวกเคยชินกับความล้มเหลว ใครกำหนดอะไรมาแปลกผมเป็นต้องร้องทักไปแต่ถ้าการทำตัวเป็นจิ้งจกร้องทักของผมทำแล้วไม่เกิดผล ผมก็จะทำใจยอมรับกับชะตานั้น คงเพราะผมเคยชินกับการเขียนโปรแกรมแล้ว compile ไม่ผ่านมามาก เคยชินกับการเขียนโปรแกรมแล้วไม่มีคนใช้ ก็เลยชินครับ .. สรุปว่าผมเขียนเล่าเรื่องวิบากกรรมที่ผมกับอ.บุ๋ม พบในวันนี้ ก็เท่านั้นเอง
+ http://www.thaiall.com/km/indexo.html
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc

กระบวนการจัดการความรู้

กระบวนการจัดการความรู้
กระบวนการจัดการความรู้

14 พ.ย.52 การจัดการความรู้หรือเคเอ็ม (KM = Knowledge Management) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคลหรือเอกสารมาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด โดย นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ระบุว่าการจัดการความรู้สามารถใช้เป็นเครื่องมือเพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการ ได้แก่ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ 4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน
     การจัดการความรู้เป็นเรื่องใหม่ที่ถูกพัฒนาอย่างต่อเนื่อง และ อาจฝืนธรรมชาติของมนุษย์บางท่าน แต่ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่จะสนับสนุนให้มนุษย์มีความเอื้ออาทรเพิ่มขึ้นในจิตใจ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าส่วนตน และเห็นเป้าหมายขององค์กรเป็นที่ตั้ง ซึ่งมี กระบวนการที่ยอมรับทั่วไป 7 ขั้นตอน ประกอบด้วย 1) การบ่งชี้ความรู้ คือ การระบุประเด็นความรู้ รูปแบบ และผู้รู้ที่สอดรับกับนโยบาย ขอบเขตและเป้าหมายขององค์กร 2) การสร้างและแสวงหาความรู้ คือ การรวบรวมความรู้ใหม่ รักษาความรู้เดิม และกรองความรู้ที่ไม่ใช้ออกจากแหล่งรวบรวม 3) การจัดความรู้ให้เป็นระบบ คือ การวิเคราะห์และคัดแยกความรู้เป็นกลุ่มประเด็นให้ง่ายต่อการเข้าถึงอย่างมีขั้นตอน 4) การประมวลและกลั่นกรองความรู้ คือ การปรับปรุงให้ความรู้มีรูปแบบมาตรฐาน ไม่ซ้ำซ้อน มีความสมบูรณ์ มีความถูกต้องและน่าเชื่อถือ 5) การเข้าถึงความรู้ คือ การสร้างแหล่งเผยแพร่ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา
      หลังเผยแพร่ความรู้ที่รวบรวมได้ก็เข้าสู่ขั้นตอนที่ 6) การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ คือ การนำความรู้เข้าสู่เวทีแลกเปลี่ยนที่มีฐานความรู้หรือฐานข้อมูลรองรับให้ง่ายต่อการเข้าถึงและสืบค้น 7) การเรียนรู้ คือ การใช้ความรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เป็นวงจรความรู้ที่มีการเรียนรู้และพัฒนาให้เกิดประสบการณ์ใหม่อยู่เสมอ การจัดการความรู้เป็นงานบูรณาการที่จะสำเร็จได้ต้องอาศัยความเข้ากันได้ของขอบเขต เป้าหมาย เครื่องมือ ผู้รู้ ผู้เรียนรู้ และผู้บริหารที่เห็นชอบร่วมกันทั้งองค์กร
+ http://www.thaiall.com/km/handbook_2549.doc

ความหมายของการจัดการความรู้

 

ระดับของความรู้
ระดับของความรู้

การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่ในองค์กร ซึ่งกระจัดกระจายอยู่ในตัวบุคคล หรือเอกสาร มาพัฒนาให้เป็นระบบ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรสามารถเข้าถึงความรู้ และพัฒนาตนเองให้เป็นผู้รู้ รวมทั้งปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ อันจะส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในเชิงแข่งขันสูงสุด โดยที่ความรู้มี 2 ประเภท คือ 1)  ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม   2)  ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม
       นพ.วิจารณ์ พานิช ได้ให้ความหมายของคำว่า “การจัดการความรู้” ไว้ว่า สำหรับนักปฏิบัติ การจัดการความรู้ คือ เครื่องมือ เพื่อการบรรลุเป้าหมายอย่างน้อย 4 ประการไปพร้อมกัน ได้แก่ 1) บรรลุเป้าหมายของงาน 2) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาคน 3) บรรลุเป้าหมายการพัฒนาองค์กรไปเป็นองค์กรเรียนรู้ และ 4) บรรลุความเป็นชุมชน เป็นหมู่คณะ ความเอื้ออาทรระหว่างกันในที่ทำงาน
เรียบเรียงไว้ที่ http://www.thaiall.com/km/indexo.html