บริการวิชาการ การเขียนเว็บเพจเบื้องต้น ที่ มจร.

mcu lampang
mcu lampang

ผศ.บุรินทร์ รุจจนพันธุ์ และ อ.เกศริน อินเพลา คณะวิทยาศาสตร์สุขภาพและเทคโนโลยี จัดโครงการอบรม “การเขียนเว็บเพจเบื้องต้น” เพื่อบริการวิชาการแก่ชุมชน ทั้งนี้มีหน่วยงานที่มีความต้องการให้คณะจัดฝึกอบรม คือ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตแพร่ ห้องเรียนบุญวาทย์วิหาร โดยการบริการครั้งนี้ได้ใช้องค์ความรู้ในสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ด้านการเขียนเว็บเพจเบื้องต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับโลกภายนอกอยู่ตลอดเวลา และมหาวิทยาลัยโยนกได้ดำเนินการบริการวิชาการแก่ชุมชนในรูปแบบที่หลากหลายมาเป็นเวลากว่า ๒๓ ปี
โดยโครงการอบรม การเขียนเว็บเพจเบื้องต้น มีเนื้อหาการบรรยายเกี่ยวกับ การพัฒนาเว็บไซต์ โฮมเพจ โดเมนเนม และเว็บเพจ เป็นต้น
มีขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด ๕ ขั้นตอน ดังนี้ ๑) ติดต่อและประสานงานกลุ่มเป้าหมาย ๒) กำหนดเนื้อหา และรายละเอียดของหัวข้อบรรยายที่ผู้เข้ารับอบรมควรรู้ ๓) จัดกิจกรรมบริการวิชาการในชุมชน ๔) ประเมินผลความพึงพอใจของผู้เข้าอบรม ๕) จัดทำรายงานสรุปผลโครงการ
ซึ่งโครงการนี้พบว่าบรรลุตามตัวบ่งชี้ คือ มีความพึงพอใจต่อโครงการ ๔.๒๖ จากคะแนน ๕ ระดับ ซึ่งเป็นระดับมากที่สุด ค่าความคลาดเคลื่อน ๐.๗๒ ซึ่งค่าความพึงพอใจไม่ต่ำกว่าที่ตั้งไว้ในตัวบ่งชี้ ดังนั้นโครงการนี้จึงบรรลุตามตัวบ่งชี้

http://www.facebook.com/media/set/?set=a.115963435181311.19375.115935711850750

หนังสือพิมพ์ เสียงลำปาง (voice of lampang)

เสียงลำปาง
เสียงลำปาง

ปีพ.ศ.2550 – 2552 จังหวัดลำปางมีหนังสือพิมพ์ประเภทแจกฟรีเกิดขึ้น มีจำนวน 20 ฉบับ ที่รวมเรื่องราวเกี่ยวกับจังหวัดลำปาง จัดทำโดยคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยโยนก ซึ่งเป็นผลงานของนักศึกษาที่ได้ปฏิบัติจริง ผ่านการสนับสนุนของมหาวิทยาลัย เป็นการจัดการเรียนการสอนตามแนวคิด WIL (Work Integrated Leaning) โดยนักศึกษาจะเป็นผู้กำหนดประเด็น ออกหาข่าว สัมภาษณ์ เก็บภาพ ติดต่อผู้สนับสนุน และนำมาจัดรูปเล่ม เป็นการทำงานที่ถือเป็น profit center ตามนโยบายของผู้บริหารในยุคนั้น
https://skydrive.live.com/redir.aspx?cid=ad5d4db8b448d28d&resid=AD5D4DB8B448D28D!419
http://www.yonok.ac.th/emagazine/

บทเรียนที่ร่วมวิจัยเครือข่ายมหาวิทยาลัยลำปาง

นิคมพัฒนา
นิคมพัฒนา

9 มิ.ย.54 บทเรียนจากการร่วม “โครงการวิจัย แนวทางการทำงานของเครือข่ายสถาบันการศึกษาในจังหวัดลำปางเพื่อสร้างการเรียนรู้และเสริมศักยภาพชุมชนพื้นที่ตำบลนิคมพัฒนา อำเภอเมือง จังหวัดลำปา“จากการร่วมโครงการระยะที่ 1 ระหว่าง 1 มกราคม 2554 – 31 พฤษภาคม 2554 จำแนกได้ 2 ประเด็นหลัก
ประเด็นหลักที่ 1 ความรู้ คือ
1. การได้รู้เทคนิค และฝึกฝนการวิเคราะห์ชุมชนผ่านการใช้ SWOT ที่เปรียบเทียบกับการใช้อริยสัจสี่ เพราะทั้งสองแบบสามารถใช้งานได้กับชุมชน โดย SWOT นั้นถูกใช้รวบรวมข้อมูลตามประเด็นหลัก 3 ครั้งได้แก่ การศึกษา เกษตร อาชีพ และอริยสัจสี่ใช้กับสุขภาพและสิ่งแวดล้อม
2. การได้ฝึกเขียนแผนที่ความคิด (MindMap) และเรียนรู้การเขียนจากคุณภัทรา มาน้อย ผ่านการลงมือปฏิบัติ เปรียบเทียบการเขียน และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมทั้งการใช้เป็นเครื่องมือเก็บประเด็นเป้าหมาย และการนำเสนอผลการวิเคราะห์ชุมชนรายกลุ่ม
3. การได้แลกเปลี่ยนเทคนิคการวางแผน การจับประเด็น การคิด การพูด การฟัง ร่วมกับเพื่อนนักวิชาการในสาขาวิชาต่าง ๆ ได้มีโอกาสฟังข้อเสนอแนะของ นักคิดนักบริหารระดับประเทศ คือ ศ.ดร.ปิยวัฒน์ บุญหลง และ ดร.บัญชร แก้วส่อง ต่อโครงการของทีมงาน

ประเด็นหลักที่ 2 ความสุข คือ
1. การได้เห็นรอยยิ้มจากความสุขผู้คนในชุมชน ที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มที่มีความเข้าใจ มีฐานคิดคล้ายกัน ได้ระบายปัญหา จุดแข็ง และเป้าหมายที่ต้องการบรรลุ และได้ออกมานำเสนอด้วยตนเอง
2. การได้ใช้เวลาว่างในวันสุดสัปดาห์ทำงานกับชุมชน เพราะการทำงานในกรอบ ใต้กฎเกณฑ์รัดตัว ผู้คนที่มุ่งแต่แข่งขัน ในป่าคอนกรีต ย่อมมีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างจากการทำงานกับชาวบ้าน ในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยป่าเขา ลำธาร และบรรยากาศบริสุทธิ์ เป็นสิ่งที่ผู้คนมากมายใฝ่ฝัน แต่มีเพียงไม่กี่คนที่ไปถึงฝั่งฝัน
3. การทำตัวเป็นประโยชน์แก่ชุมชน เพราะการให้ความรู้เป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาที่มุ่งเข้าศึกษาในสถาบันนั้นมีกรอบอยู่แต่ในมหาวิทยาลัย แต่การออกให้บริการวิชาการเชิงประยุกต์นั้น มีเรื่องคาดไม่ถึงให้ประหลาดใจอยู่เสมอ  เพราะนอกจากจะเป็นผู้ให้ความรู้แก่ชุมชนแล้ว ก็ยังเป็นผู้รับความรู้ไปพร้อมกัน พร้อมกับการแก้ปัญหาไปตามสถานการณ์เฉพาะหน้า
4. การได้เพื่อนใหม่ต่างวัยต่างสมณะที่มาจากห้าสถาบันการศึกษาหลัก รวมกลุ่มเป็นเครือข่ายมหาวิทยาลัยลำปาง แล้วร่วมกันทำงานวิจัยและบริการวิชาการเพื่อชุมชน เป็นโอกาสที่อาจมีเพียงครั้งเดียวในชีวิต เพราะเพื่อนจากแต่ละสถาบันมีความเป็นกัลยาณมิตรที่หาได้ยากยิ่ง ในทีมทั้ง 29 คนมีเป้าหมายเดียวกันคือ ทำเพื่อชุมชน และมุ่งประโยชน์ของชุมชนเป็นที่ตั้ง

คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่

computer essentials
computer essentials

20 มี.ค.54 ตามที่ผมได้รับมอบหมายให้สอนวิชาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น ร่วมกับ อ.แหม่ม แทน อ.เอก (ทนงศักดิ์ เมืองฝั้น ปัจจุบันเป็นข้าราชการแล้ว) ซึ่งเอกสารประกอบการสอนใน Syllabus เล่มหนึ่ง อ้างถึงหนังสือ “คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่ Computing Essentials” เขียนโดย Timothy J. O’Leary และ Linda I. O’Leary แปลและเรียบเรียงโดย ยาใจ โรจนวงศ์ชัย, รศ. , ศศลักษณ์ ทองขาว, ผศ. , สกรรจ์ รอดคล้าย, ยุพดี อินทสร, ญาณพัฒน์ ชูชื่น, สุพิชัย คงกับพันธ์, ผศ. , อำนาจ ทองขาว, ผศ. , พิกุล สมจิตต์, ผศ. , อุษณีย์ ภักดีตระกูลวงศ์, ทวีรัตน์ นวลช่วย, พัฒนะ พรรณวิไล ISBN 9789749965368 เมื่อไปตรวจในห้องสมุดของมหาวิทยาลัยพบหนังสือเล่มนี้ เป็น edition ฉบับล่าสุด 2006 ขาวดำ ซึ่งมีทั้งหมด 15 บท 428 หน้า แต่เล่มปรับปรุงจะเหลือ 11 บท และสี่สีทั้งเล่ม 289 หน้า (ปกหลังมีลายเซ็นอธิการราชภัฎ 5 สถาบัน)
บทที่ 1 เทคโนโลยีสารสนเทศ อินเทอร์เน็ต และตัวคุณ
บทที่ 2 อินเทอร์เน็ต เว็บ และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิคส์
บทที่ 3 ซอฟต์แวร์ประยุกต์
บทที่ 4 ซอฟต์แวร์ระบบ
บทที่ 5 หน่วยระบบ
บทที่ 6 การรับเข้าและส่งออกข้อมูล
บทที่ 7 หน่วยความจำสำรอง
บทที่ 8 การสื่อสารและระบบเครือข่าย
บทที่ 9 ภาวะส่วนตัวและความปลอดภัย
บทที่ 10 ฐานข้อมูล
บทที่ 11 ระบบสารสนเทศ

เมื่อสอบถามหนังสือจาก se-ed สาขาเสรี ลำปาง ก็ได้รับการช่วยเหลือ จนสามารถสั่งซื้อหนังสือในวันเสาร์ และได้รับในวันอาทิตย์ เรียกว่าเร็วสายฟ้าแล็บ แต่หนังสือฉบับภาษาอังกฤษต้องติดต่อในวันจันทร์ ราคาประมาณ 500 กว่าบาท ส่วนภาษาไทยที่ผมได้มาแล้วราคา 220 บาท เมื่อได้หนังสือเล่มนี้มาประกอบกับปรับปรุงระบบ edoc ที่ใช้เทคนิค lightbox จึงเริ่ม Scan ปกหนังสือ เพื่อรวบรวมรายการหนังสือด้านไอทีในบ้าน โดยใช้ ISBN เป็นชื่อแฟ้ม เป็นจุดเริ่มต้นของฐานข้อมูลหนังสือในบ้าน เพราะมีอีกหลายกอง วันนี้เริ่มต้นไปกองหนึ่งได้ประมาณ 30 เล่มแล้ว ถ้าจะให้สมบูรณ์ต้องทำฐานข้อมูลอีกชุดที่เก็บรายชื่อหนังสือภาษาไทย เชื่อมกับหมายเลข ISBN ที่เป็นแฟ้มหนังสือ .. ก็เพียงแต่คิดไว้ครับ

http://www.thaiall.com/me/book
http://www.se-ed.com/eshop/Products/Detail.aspx?No=9789749965368

ร่างโครงการ ช่วงพัฒนาโจทย์

11 พ.ย.53 รายงาน ขอเล่าให้เพื่อนผู้อาสาร่วมทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่นว่า .. ช่วงเช้าเข้าพบทีมวิจัยหลายท่านล้วนเป็นผู้มีความพร้อมหลายประการ บัดนี้ได้แล้ว 9 ขุนศึก ที่จะร่วมเป็นนักวิจัยในโครงการวิจัยเพื่อท้องถิ่น โดยเลือกพื้นที่เป็นสถาบันระดับอุดมศึกษา จากการหารือในช่วงพัฒนาโจทย์นี้ และได้คำตอบเพิ่มเติมหลายประเด็น เช่น หลักสูตร คณะ และชั้นปี ปรับรายละเอียดกิจกรรม และการใช้งบประมาณเพิ่มเติม ปรับคำถามการวิจัยใหม่โดย อ.เบญ ปรับเพิ่มกิจกรรมโดย อ.หนุ่ย ผู้เป็นขุนศึกษาคนสุดท้ายที่อาสาเข้ามาพัฒนาชุมชนโยนกคนสุดท้าย และ brief ให้ท่านอธิการฟังแล้ว .. บัดนี้ปรับรายละเอียดโครงการรอบ 2 ก่อน อ.ธวัชชัย จะนำไปปรับใหญ่ แล้วจะมีการนำเสนอในเวทีของ 9 ขุนศึกต่อไป เอกสารข้อเสนอโครงการยกร่างรุ่น 2 พร้อมชื่อ อีเมล และ fb ในทีม ที่ http://www.yonok.ac.th/doc/burin/proposal_class_process_v2_531111.doc

ร้อนสูงสุด และหมอกควันสูงสุด ที่ลำปาง ปี 2552 (1)

9 มีนาคม 2552 : นายทิวา พันธ์ไม้สี หัวหน้าสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง  กล่าวว่า บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่แผ่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนมีกำลังอ่อนลง ลักษณะอากาศเช่นนี้ จะทำให้บริเวณภาคเหนือตอนบนมีอากาศร้อนอบอ้าว  เช่น  จังหวัดลำปาง ล่าสุดวัดอุณหภูมิเฉลี่ย 39.9 องศาเซลเซียส ใน อำเภอเถิน ซึ่งเป็นอุณหภูมิเฉลี่ยที่สูงสุดของภาคเหนือตอนบนติดต่อกันมาเป็นวันที่ 5 แล้ว  ส่วนพื้นที่อำเภออื่นค่าเฉลี่ยประมาณ 34-39  องศาเซลเซียส  ขณะที่สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่วันที่ 9 มีนาคม 2552 ถือว่าเบาบาง เนื่องจากกระแสลมแรงความเร็ว 10 – 15 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานไม่เกิน 120 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยอยู่ที่  107 – 116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  นายทิวา กล่าวต่อว่า ส่วนหมอกควัน จ.เชียงราย น่าเป็นห่วง สถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศที่หน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัยจังหวัดเชียงราย รายงานค่าหมอกฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 10 ไมครอน มีปริมาณสูงถึง 204.8 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร  แม้จะลดลงจากวันที่ 8 มีนาคม 2552 แต่ค่ายังสูงเกินมาตรฐาน โดยเฉพาะอำเภอแม่สายถูกหมอกควันไฟปกคลุมหนาแน่น ระยะการมองเห็นเพียง 500-600 เมตร  หลายคนเริ่มมีอาการแสบตาและคอแห้ง ต้องสวมหน้ากากป้องกันหมอกควัน.
http://tnews.teenee.com/etc/33114.html

นายสุวิทย์ ขัติยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง เปิดเผยว่า ในช่วงวันที่ 5 – 7 มีนาคม 2552 สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่จังหวัดลำปางได้เบาบางลง และมีค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งเป็นผลมาจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวย โดยเฉพาะลมแรงที่พัดในจังหวัดลำปาง ได้เกิดพัดให้หมอกควันไฟได้หายไป แต่อย่างไรก็ตาม ไฟป่า และการจุดไฟเผาในที่โล่งแจ้งก็ยังไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งถือว่ายังมีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงทำให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ในวันนี้เกินเกณฑ์มาตรฐาน ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัติโนมัติของกรมควบคุมมลพิษที่ตั้งอยู่ใน อ.เมือง วัดได้ 128 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรส่วนสถานีที่ตั้งอยู่ใน อ.แม่เมาะ 2 แห่ง วัดได้ 152.7 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และ 159.1 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทั้งนี้ จากค่าดังกล่าวที่วัดได้ล่าสุด เป็นสิ่งบอกเหตุที่ว่าปริมาณฝุ่นละอองในอากาศเริ่มที่จะสะสม และมีแนวโน้มที่จะเพิ่มมากขึ้นอีก ซึ่งจากนี้ไปหากสภาพอากาศในจังหวัดลำปางเอื้ออำนวย ก็จะทำให้สถานการณ์หมอกควันเบาบางลงไปอยู่ในภาวะปกติ แต่หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวยก็จะทำให้สถานการณ์รุนแรงเพิ่มขึ้น
http://www.innnews.co.th/local.php?nid=161048

นายสุวิทย์ ขัติยวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง กล่าวว่า สถานการณ์หมอกควันไฟที่ปกคลุมพื้นที่ของจังหวัดลำปางอยู่ในขณะนี้ พบว่าค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก กำลังเริ่มเข้าสู่จุดวิกฤต ซึ่งหากค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมากกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป ถือว่าเป็นสภาพอากาศที่วิกฤต และจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนอย่างมาก จะเห็นได้ว่าในปี 2551 ที่ผ่านมาได้เคยเกิดขึ้นในจังหวัดลำปางและในปีนี้ ถือว่ารุนแรงกว่าทุกปีที่ผ่านมา เนื่องจาก จังหวัดลำปางมีปริมาณเชื้อเพลิงสะสมทั้งในป่า และในที่โล่งแจ้งเพิ่มมากกว่าปีที่ผ่านมาถึงร้อยละ 40 ดังนั้น ไฟป่า และการจุดไฟเผาในที่โล่งแจ้ง ทำให้สถานการณ์ของรุนแรงกว่าทุกปี จากการตรวจวัดได้จากสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัติโนมัติในเขต อ.เมือง ล่าสุดวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 สูงถึง 272.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นสภาพอากาศที่ไม่ดี และเป็นค่าที่สูงสุดของประเทศไทย เท่าที่เคยมีการเฝ้าระวังมาในปี 2552 ด้าน นายแพทย์ ทรงวุฒิ ทรัพย์ทวีสิน ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง กล่าวว่า จากสถานการณ์หมอกควันไฟปกคลุมพื้นที่จังหวัดลำปาง โดยเฉพาะในช่วง 2 – 3 วันที่ผ่านมา ส่งผลทำให้ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีประชาชนป่วยเป็นโรคระบบทางเดินหายใจเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลศูนย์ลำปางวันละกว่า 300 ราย ซึ่งเป็นยอดที่เพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 15 จากปกติจะมีประชาชนที่ป่วยเข้ารับการรักษาประมาณวันละ 120 ราย ซึ่งผู้ปวยที่เข้ารับการรักษาจะมีอาการแสบตา แสบจมูก และมีบางรายเกิดอาการไอ แน่นหน้าอก และหายใจติดขัด ซึ่งเกี่ยวกับระบบทางทางเดินหายใจแทบทั้งสิ้น
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?lang=T&newsid=366343

หมอกควันลำปางมีค่าสูงสุดของประเทศอีกรอบ
นายสิทธิพันธ์ มณีท่าโพธิ์
เจ้าพนักงานอุตุนิยมวิทยาชำนาญงานของสถานีอุตุนิยมวิทยาลำปาง ได้รายงานสภาพอากาศของจังหวัดลำปาง โดยทั่วไปว่า ทุกพื้นที่ของจังหวัด ยังจะต้องเจอกับสภาพอากาศแปรปรวนต่อไปอีก ประมาณ 1-2 สัปดาห์ โดยในช่วงกลางดึก และเช้ามืด จะมีอากาศเย็น อุณหภูมิเฉลี่ย 14 – 16 องศาเซลเซียส ส่วนช่วงกลางวันจะมีอากาศที่ร้อนจัด อุณหภูมิ 34-37 องศาเซลเซียส นอกจากนี้ยังมีลมอ่อนพัดความเร็ว 6-12 กิโลเมตรต่อชั่วโมง โดยลมจะส่งผลทำให้พัดหมอกควันไฟปกคลุมพื้นที่ของจังหวัดลำปางทั้ง 13 อำเภอ แต่ไม่พัดออกไปจากจังหวัด ส่วนสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 2 ลำปาง ได้ประเมินว่า เนื่องจากสภาพภูมิประเทศของจังหวัดเป็นแอ่ง และมีภูเขาสูงรอบล้อมทุกด้าน จึงทำให้หมอกควันไฟปกคลุมอยู่ในจังหวัดลำปางอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะเกิดฝนตกลงมา เพื่อชำระล้างหมอกควันไฟให้จางหายลงไป ขณะนี้สภาพอากาศของจังหวัดลำปาง ยังเกิดฟ้าสลัวในตอนกลางวัน โดยเห็นชัดเจนด้วยตาเปล่าว่าจะมีหมอกสีขาวปกคลุมอยู่อย่างหนาแน่น ซึ่งก็คือหมอกควันไฟ และสถานีตรวจตวัดคุณภาพอากาศ ของกรมควบคุมมลพิษ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดได้ตรวจค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กต่ำกว่า 10 ไมครอน ล่าสุดในวันนี้ โดย อำเภอแม่เมาะ 201 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และใน อำเภอเมืองลำปาง 177 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นตัวเลขที่กลับมาสูงสุดของประเทศไทย หลังจากเมื่อวานนี้ ค่าได้ลดลงแล้ว แต่กลับขึ้นมาสูงอีกครั้ง
http://breakingnews.nationchannel.com/read.php?newsid=364546