เห็นว่า ธปท. จะออกกฎเข้มว่า
เวลาขายสินค้า อย่าขายพ่วง
และให้ชี้แจงให้ละเอียด
แล้วนึกถึงภาพรถ 99 บาท
หรือเครื่องดื่มที่ดื่มแล้วเป็นหมอ บอกงั้นแล้วขายดี
จะให้บอกความจริงเหรอว่า เป็นแค่น้ำหวาน+สารนิดนึง
ผมว่าบางทีให้ข้อมูลมาก ๆ แล้ว
ลูกค้าอาจเปลี่ยนใจได้
.. ยอดขายก็สำคัญนะครับ
http://bit.ly/10DMxhB
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าเมื่อวันที่ 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ธปท.ได้หารือร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อออกประกาศกำหนดมาตรการกำกับดูแลการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์ และด้านประกันภัยผ่านธนาคารพาณิชย์ ให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน และให้มีผลบังคับใช้กับธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งที่ได้รับอนุญาตขายผลิตภัณฑ์ด้านธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจประกันภัยจากก.ล.ต.และคปภ.ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.ปี2556 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ ธปท.ให้เหตุผลว่าได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภค เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยของธนาคารพาณิชย์เป็นระยะๆ เช่น กรณีเจ้าหน้าที่ธนาคารพาณิชย์เสนอขายประกันชีวิตพ่วงกับบริการตู้นิรภัย ให้สินเชื่อหรือชักชวนผู้บริโภคซื้อหน่วยลงทุน ตราสารหนี้ หรือทำประกันชีวิตแทนการฝากเงิน โดยไม่ชี้แจงถึงความเสี่ยงหรือให้ข้อมูลผู้บริโภคไม่ชัดเจน ซึ่งธปท.เห็นว่าเรื่องร้องเรียนดังกล่าวอาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
สำหรับสาระสำคัญในประกาศดังกล่าว ได้คำนึงถึงสิทธิขั้นพื้นฐานของผู้บริโภค ได้แก่ สิทธิที่จะได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง สิทธิที่จะเลือกซื้อผลิตภัณฑ์และบริการการเงินได้อย่างอิสระ สิทธิที่จะร้องเรียนเพื่อความเป็นธรรม และสิทธิที่จะได้รับพิจารณาค่าชดเชยหากเกิดความเสียหาย
นอกจากนี้ได้กำหนดหน้าที่ให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค กำหนดแนวทางเสนอขายผลิตภัณฑ์ให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องแสดงความต่างให้ผู้บริโภคเห็นชัดระหว่างผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย ไม่ใช่เงินฝากเหมือนผลิตภัณฑ์ธนาคารพาณิชย์ อาจมีความเสี่ยงได้รับเงินต้นไม่เต็มจำนวนเมื่อไถ่ถอน และไม่คุ้มครองเงินต้น รวมถึงเปิดเผยข้อมูลผลตอบแทน ทรัพย์สินที่จะได้รับนอกจากดอกเบี้ย เช่น อัตราผลตอบแทนรายปี รวมทั้งผลิตภัณฑ์ที่สามารถและไม่สามารถคำนวณอัตราผลตอบแทนได้
กฎระเบียบยังห้ามธนาคารพาณิชย์บังคับขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัย ควบคู่กับผลิตภัณฑ์ของธนาคารพาณิชย์ หรือกำหนดเงื่อนไขขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์หลัก เช่น ให้ผู้บริโภคทำประกันภัยกับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เพื่อเป็นเงื่อนไขพิจารณาให้สินเชื่อ หรือให้ผู้บริโภคทำประกันชีวิตก่อนเมื่อขอใช้บริการเช่าตู้นิรภัย โดยธนาคารต้องให้สิทธิผู้บริโภคตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์เอง และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคปฏิเสธซื้อผลิตภัณฑ์ได้
ทั้งนี้ ยังห้ามธนาคารพาณิชย์ส่งเสริมการขาย ในลักษณะชิงโชคจับฉลาก เว้นแต่เป็นกรณี ลด แลก แจก แถม การใช้สื่อการตลาดต้องไม่ชวนเชื่อเกินจริง ไม่ทำผู้บริโภคเข้าใจผิด ไม่เป็นเท็จ ซึ่งการเสนอขายผลิตภัณฑ์ทุกช่องทางควรอยู่ในช่วงเวลาเหมาะสม ไม่ทำให้ผู้บริโภครำคาญหรือสูญเสียความเป็นส่วนตัว เป็นต้น
“แบงก์ต้องมีมาตรการ วิธีการทำให้ลูกค้าผู้บริโภคมั่นใจว่า ผู้ขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยมีความรู้เข้าใจในผลิตภัณฑ์ สามารถให้ข้อมูลความเสี่ยงของผลิตภัณฑ์ ผลตอบแทนและการคุ้มครองที่ผู้บริโภคจะได้รับ ตลอดจนผลดำเนินงานของผลิตภัณฑ์ที่ผ่านมา รวมถึงภาษีที่ผู้บริโภคจะต้องจ่ายหรือได้รับการผ่อนผัน และสิทธิตามความเป็นจริง โดยไม่ทำให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจผิด”
นอกจากนี้ กฎระเบียบยังกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ ต้องแยกเคาน์เตอร์ขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยออกจากเคาน์เตอร์ ที่ให้บริการรับฝากถอนเงินของธนาคารพาณิชย์ โดยมีป้ายบ่งบอกหรือสัญลักษณ์ที่แสดงให้ผู้บริโภคเห็นชัดเจน เว้นแต่การทำธุรกรรมต่อเนื่องกับการขายหรือให้บริการผลิตภัณฑ์ เช่นทำธุรกรรมโอนเงินหรือฝากเงินหลังซื้อหลักทรัพย์ สามารถให้บริการที่เคาน์เตอร์ขายผลิตภัณฑ์ด้านหลักทรัพย์และด้านประกันภัยได้ เพื่อประโยชน์ให้บริการ ณ จุดเดียว
ธปท.ได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องมีกระบวนการหลังการขาย และรับเรื่องร้องเรียน ดูแลและอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภค หากพิสูจน์แล้วว่าธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปฏิบัติตาม โดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ เป็นเหตุให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหาย ธนาคารพาณิชย์ต้องชดเชยตามความเหมาะสม อีกทั้งต้องรักษาข้อมูลของผู้บริโภคไว้เป็นความลับ และห้ามให้ข้อมูลผู้บริโภคแก่หน่วยงานอื่นตลอดจนบริษัทในกลุ่มธุรกิจการเงินที่ได้รับอนุญาตจาก ธปท.เพื่อนำไปใช้เสนอขายบริการอื่น เว้นแต่ได้รับความยินยอมจากผู้บริโภค