มีโอกาสอ่านข่าวจากเว็บ thaipost เล่าว่าปี 2557 มีเครื่องบินตก 15 ครั้ง
มาเลเซียแอร์ไลน์ ตก 2 ครั้ง คือสูญหาย และถูกยิงตก
1. 8 มี.ค.57 เครื่องโบอิ้ง 777 สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 จากกัวลาลัมเปอร์มุ่งสู่ปักกิ่ง มีผู้โดยสาร 239 คน
2. 17 ก.ค.57 มาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 17 ถูกยิงตกขณะอยู่เหนือน่านฟ้ายูเครน ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 298 คน
3. 28 ต.ค.57 เครื่องบินแอร์เอเชีย เที่ยวบินคิวแซด 8501 จากอินโดนีเซียไปสิงคโปร์ มีลูกเรือและผู้โดยสาร 162 คน
—
โดยมีเนื้อข่าวจาก http://www.thaipost.net/news/301214/101091 ว่า
ถ้าคุณเป็นคนที่ไม่กลัวการขึ้นเครื่องบิน ปี 2557 ที่กำลังผ่านพ้นไปนี้อาจทำให้คุณรู้สึกหวาดหวั่นขึ้นมาบ้าง เพราะมีเหตุการณ์เครื่องบินตกที่น่ากลัวอยู่หลายครั้ง แม้ว่าถ้าดูจากสถิติอุบัติเหตุทางเครื่องบินทั้งปีจะเป็นอีกหนึ่งปีที่มีความปลอดภัยในการเดินทางด้วยเครื่องบินมากที่สุด
มาเลเซียแอร์ไลน์เป็นสายการบินที่ต้องประสบเรื่องราวโศกนาฏกรรมมากที่สุด เนื่องจากความสูญเสียที่เกิดขึ้น 2 ครั้งกับสายการบินนี้ ทั้งจากการหายสาบสูญและถูกยิงตก ทำให้ทั่วโลกต้องหันมาทบทวนมาตรการเฝ้าระวังความปลอดภัยในการบินเพื่อให้ผู้ใช้บริการเครื่องบินคลายความกังวลลงบ้าง
มารี เลอแฟบเวร์ นักธุรกิจชาวแคนาเดียนที่มาประกอบธุรกิจในกรุงเทพฯ เผยความรู้สึกว่า ปกติเป็นคนไม่ชอบขึ้นเครื่องบินอยู่แล้ว แต่ทุกวันนี้ยิ่งรู้สึกทรมานมากขึ้นถ้าจะต้องนั่งเครื่องบิน เพราะเวลาอยู่บนเครื่องบินถ้าเกิดเหตุการณ์อะไรขึ้น ผู้โดยสารไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย และเหตุเครื่องบินตกในปีนี้ก็น่ากลัวมาก เธอบอกว่าบางครั้งถ้าจำเป็นต้องขึ้นเครื่องบินถึงกับต้องกินยาระงับประสาทไว้ก่อน
เหตุการณ์เครื่องบินตก ซึ่งเป็นข่าวดังไปทั่วโลกเริ่มจากวันที่ 8 มีนาคม 2557 เมื่อเครื่องโบอิ้ง 777 สายการบินมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 370 จากกัวลาลัมเปอร์มุ่งสู่ปักกิ่ง มีผู้โดยสาร 239 คนหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย หลังจากระบบสื่อสารบนเครื่องถูกปิดลง จนมีการคาดคะเนสาเหตุไปต่างๆ ได้แก่ เกิดการจี้เครื่องบิน, เป็นแผนการร้ายของนักบินเองหรือเกิดเหตุฉุกเฉินบนเครื่อง เช่น ไฟไหม้แบตเตอรี่โทรศัพท์
—
4 เดือนต่อมามาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินเอ็มเอช 17 ถูกยิงตกขณะอยู่เหนือน่านฟ้ายูเครน ผู้โดยสารและลูกเรือเสียชีวิตทั้งหมด 298 คน หลังจากนั้นชาติตะวันตกกล่าวหาว่าเครื่องบินลำนี้โดนยิงร่วงด้วยมิสไซล์ของกลุ่มกบฏยูเครนที่รัสเซียเป็นผู้หนุนหลัง
เท่านั้นยังไม่พออีก 1 สัปดาห์ต่อมา เครื่องบินของทรานส์เอเชียสายการบินในประเทศไต้หวันเครื่องตก เนื่องจากสภาพอากาศที่เลวร้ายและเครื่องบินแอร์แอลจีเรีย เที่ยวบินเอเอช 5017 ตกในมาลีโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้ง 2 เหตุการณ์มีผู้สูญเสียรวม 164 คน และล่าสุดเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา เครื่องบินแอร์เอเชีย เที่ยวบิน 8501 จากอินโดนีเซียไปสิงคโปร์ มีลูกเรือและผู้โดยสาร 162 คน ขาดการติดต่อและยังค้นหาไม่พบ
—
แม้จะมีเหตุเครื่องบินตกที่ยังคงเป็นปริศนาอยู่หลายครั้ง แต่ถ้าดูจากข้อมูลของเครือข่ายความปลอดภัยทางการบินที่มีสำนักงานอยู่ที่เนเธอร์แลนด์พบว่า จากเที่ยวบินหลายล้านเที่ยวทั่วโลกและผู้โดยสารหลายพันล้านคนที่เดินทางกันทั้งปี ตัวเลขของเครื่องบินโดยสารเชิงพาณิชย์ที่ประสบอุบัติเหตุตกในปี 2557 อยู่ที่ 15 ครั้ง ขณะที่ตัวเลขเครื่องบินตกเฉลี่ยตั้งแต่ปี 2489 อยู่ที่ 32 ครั้ง
เจอร์รี โซแจ็ตแมน ที่ปรึกษาด้านการบิน ซึ่งมีสำนักงานอยู่ในกรุงจาการ์ตา บอกว่า เนื่องจากมีความปลอดภัยในการเดินทางโดยเครื่องบินมากขึ้น ทำให้เหตุเครื่องบินตกแต่ละครั้งมีสาเหตุที่ลึกลับซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เพราะเกิดขึ้นในสถานการณ์ที่แทบจะไม่น่าเกิดได้อย่างเช่นในปี 2557
ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตจากเหตุเครื่องบินตกในปีนี้คือ 762 คน สูงที่สุดในรอบ 4 ปี แต่ถ้าไม่นับเหตุการณ์ที่เกิดกับมาเลเซียแอร์ไลน์ ตัวเลขผู้เสียชีวิตจะเป็น 225 คน ใกล้เคียงกับปี 2556 ที่มีผู้เสียชีวิตจากเครื่องบินตกน้อยที่สุดคือ 224 คน
แม้เครื่องบินตกจะเป็นข่าวดังไปทั่วโลก แต่จากการเปิดเผยของสมาคมการขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (ไอเอทีเอ) ระบุว่า จำนวนผู้ใช้บริการเครื่องบินช่วงเดือนมกราคม-ตุลาคม ปี 2557 เพิ่มขึ้นถึง 5.8% และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีกในปี 2558
แต่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับเที่ยวบินเอ็มเอช 370 ทำให้เกิดแนวคิดการเชื่อมต่อข้อมูลการบินระหว่างชาติเพื่อประสิทธิภาพในการเฝ้าติดตามเครื่องบินแต่ละเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง โดยผู้บริหารด้านการบินทั่วโลกใกล้จะประกาศมาตรการใหม่เพื่อใช้ติดตามเที่ยวบิน ได้แก่ กำหนดให้ถ้าเที่ยวบินนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางการบินกะทันหันจะต้องรายงานตำแหน่งของเครื่องบินทุก 5 นาที ส่วนถ้าเป็นเที่ยวบินตามปกติ ให้นักบินต้องรายงานตำแหน่งทุกครึ่งชั่วโมง การทำเช่นนี้จะช่วยได้มากเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเครื่องบินที่จะส่งหน่วยกู้ภัยออกไปค้นหาและช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอซีเอโอ) กำลังทบทวนถึงพื้นที่ ซึ่งมีการสู้รบกันว่ามีความเสี่ยงมากน้อยเพียงใดที่จะให้เครื่องบินผ่านเข้าไปในน่านฟ้า โดยเฉพาะในปัจจุบันมีหลายพื้นที่ในโลกที่อยู่ในการยึดครองของกลุ่มกบฏที่มีอาวุธร้ายแรง
เดวิด เลียร์เมาท์ แห่งนิตยสารไฟท์โกลบอล เห็นว่า แม้จะเกิดเหตุเครื่องบินตกที่สร้างความตื่นตระหนกให้กับคนทั้งโลกอยู่หลายครั้งในปี 2557 แต่ไม่กระทบกับการใช้บริการเครื่องบินทั้งเพื่อไปติดต่อธุรกิจหรือไปเที่ยวพักผ่อนทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพราะตามสถิติแล้วการเดินทางด้วยเครื่องบินก็ยังมีความปลอดภัยมากที่สุด
ต่างจากทอม บันน์ ที่เปิดศูนย์เอสโอเออาร์ในสหรัฐช่วยให้คำปรึกษาผู้ที่กลัวการเดินทางโดยเครื่องบินที่เห็นว่าความคิดด้านลบกับการเดินทาง โดยเครื่องบินจะยังคงฝังลึกอยู่ในจิตใจของนักเดินทางไปอีกนาน “ความไม่ไว้วางใจการเดินทางโดยเครื่องบินเป็นเรื่องที่ฝังลึกมากและจะมีผลกระทบอยู่นานทีเดียว อย่างที่คนกลัวการขึ้นเครื่องบินพูดถึงหายนะที่เกิดขึ้นกับมาเลเซียแอร์ไลน์ทั้ง 2 ครั้งว่าเป็นฝันร้ายที่สุดของพวกเขาแล้ว”.
http://www.telegraph.co.uk/news/worldnews/europe/ukraine/10993482/MH17-what-we-know-so-far.html