โดยเฉลี่ยคนเราใช้เวลาหนึ่งในสามของชีวิตไปกับการนอนหลับ เพราะการนอนหลับ คือ การพักผ่อนที่ดีที่สุดของร่างกาย แล้วนอนกี่ชั่วโมงถึงจะเรียกว่านอนพอ ไม่น้อยไม่มากเกินไป และเคยได้ยินมาว่าพออายุเพิ่มมากขึ้นการนอนมากถือว่าไม่จำเป็น จริงหรือไม่ มาหาคำตอบกันค่ะ
ความเชื่อ : ขณะนอนหลับพักผ่อน ร่างกายกับสมองจะหยุดพักไปด้วย
ข้อเท็จจริง : ในขณะหลับร่างกายจะหยุดพักผ่อนตามไปด้วย แต่สมองยังคงทำงานอยู่ การนอนหลับเป็นการลดภาระให้สมองทำงานเบาลง เสมือนว่าได้รับการชาร์ตแบตเตอรีเพื่อเตรียมพร้อมทำงานในวันต่อไป แต่ก็ยังคงต้องควบคุมการทำงานอวัยวะต่างๆ ของร่างกายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นระบบหายใจ ระบบประสาท ฯลฯ
ความเชื่อ : ผู้สูงอายุไม่จำเป็นต้องนอนมาก
ข้อเท็จจริง : ไม่จริง ผู้สูงอายุต้องการนอนหลับพักผ่อนประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เช่นเดียวกับคนวัยหนุ่มสาวทั่วไป ทั้งนี้อายุที่มากขึ้น ประกอบกับการทำงานของอวัยวะในร่างกายเริ่มเสื่อมไปตามเวลา ทำให้กิจวัตรประจำวันเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้พฤติกรรมการนอนไม่เหมือนเดิม นอนหลับได้น้อยชั่วโมงลง หรือหลับๆ ตื่นๆ ตลอดคืน แต่ไม่ว่านอนหลับได้ไม่เต็มอิ่มอย่างไร ร่างกายก็ยังคงต้องการเวลาพักผ่อนให้ได้ 7-9 ชั่วโมง
ความเชื่อ : การนอนหลับพักผ่อนน้อยเป็นประจำ ร่างกายจะชินและไม่ต้องการนอนมากอย่างที่เคย
ข้อเท็จจริง : ไม่จริง เคยมีการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการนอนว่า ในวัยผู้ใหญ่หากนอนให้ได้ประมาณ 7-9 ชั่วโมงทุกวัน จะส่งผลให้สุขภาพร่างกายโดยรวมดีอย่างน่าทึ่ง หากวันไหนนอนหลับได้ไม่เพียงพอ ร่างกายก็จะชดเชยชั่วโมงนอนที่ขาดรวมกับชั่วโมงนอนในอีก 2-3 คืนถัดไป ไม่ว่าเราจะนอนน้อยเป็นประจำหรืออดนอนเป็นประจำแค่ไหน ร่างกายไม่มีวันชินหรือยอมรับให้นอนน้อยได้ตลอด เพราะเป็นการฝืนธรรมชาติการพักผ่อนที่ร่างกายต้องการ
ความเชื่อ : ง่วงหาวตอนกลางวันแสดงว่านอนไม่พอ
ข้อเท็จจริง : จริง สาเหตุของอาการง่วงหาวตอนกลางวันอาจมีส่วนหนึ่งมาจากการพักผ่อนที่ไม่เพียงพอ แต่ก็อาจเกิดกับคนที่นอนหลับเต็มอิ่มได้ด้วย และถ้าง่วงผิดสังเกตอาจเป็นสัญญาณเตือนว่ามีเรื่องสุขภาพอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น การกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับ ทำให้ร่างกายขาดการพักผ่อนอย่างเต็มที่ จำเป็นต้องไปปรึกษาแพทย์ต่อไป
ความเชื่อ : นอนน้อยมีผลต่อน้ำหนัก
ข้อเท็จจริง : จริง หากนอนหลับไม่เพียงพอก็จะส่งผลต่อระบบฮอร์โมนในร่างกาย โดยเฉพาะฮอร์โมนเลปตินและเกรลิน ส่งผลทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ฮอร์โมนทั้ง 2 ทำหน้าที่มีหน้าที่ควบคุมและสร้างสมดุลความต้องการอาหาร ฮอร์โมนเกรลินถูกผลิตขึ้นในระบบทางเดินอาหาร มีหน้าที่กระตุ้นความอยากอาหาร ในขณะที่เลปตินถูกผลิตในเซลล์ไขมัน ทำหน้าที่ส่งสัญญาณรับรู้ว่าอิ่มไปยังสมอง เมื่อได้รับอาหารพอดีกับความต้องการ ดังนั้นหากนอนหลับไม่เพียงพอ จะส่งผลทำให้ระดับเลปตินต่ำลง ร่างกายไม่รู้สึกอิ่มอย่างที่ควรจะเป็น ตรงกันข้ามฮอร์โมนเกรลินจะเพิ่มมากขึ้น ทำให้ความอยากอาหารเพิ่มมากขึ้น ดังนั้นจึงทำให้ร่างกายรับประทานอาหารเกินพอดี น้ำหนักก็เพิ่มมากขึ้น
ดังนั้นการนอนหลับให้เพียงพอประมาณ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน เป็นการสร้างเสริมสุขภาพร่างกายที่ดีที่สุด
——–ขอขอบคุณข้อมูลจาก http://www.247friend.net/blog/domebt/2013/09/16/entry-1