3 มี.ค.55 มีผลวิจัยว่า พฤติกรรมการใช้งานเครือข่ายสังคม (Social Network) อาจถูกนำใช้ประกอบการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงาน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ความเป็นส่วนตัว และเกณฑ์ที่ใช้ในการประเมิน ปัจจุบันเราทราบว่าเครือข่ายสังคมที่ได้รับความนิยมมีไม่มากนัก อาทิ เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และกูเกิลพลัส ซึ่งทวิตเตอร์ถือเป็นไมโครบล็อก (Micro blogging) ที่มีระดับความเป็นส่วนตัวน้อยกว่าบรรดาเว็บไซต์เครือข่ายสังคม ปัจจุบันผู้ใช้ส่วนใหญ่ในทวิตเตอร์วัดความนิยมจากจำนวนผู้ติดตาม ซึ่งเจ้าของบัญชีไม่จำเป็นต้องรู้จักกับผู้ติดตาม หรืออนุญาตให้มีการติดตาม ผลการจัดอันดับผู้ติดตามเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2555 พบว่า @Khunnie0624 มีผู้ติดตาม 1,064,797 ส่วน @Woodytalk มีผู้ติดตาม 601,370 ส่วน @vajiramedhi มีผู้ติดตาม 501,925 แสดงว่าการมีผู้ติดตามมาก คือ มีคนเข้าถึงเนื้อหาที่เจ้าตัวเผยแพร่ได้มากนั่นเอง
ส่วน facebook และ google+ มีระดับความเป็นส่วนตัวสูงกว่า หากจะเข้าไปดูข้อมูลจะต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าของบัญชี แต่ผู้ใช้บางรายยอมรับเพื่อนใหม่ง่าย และมีไม่น้อยที่เขียนบันทึกอย่างรู้เท่าไม่ถึงภัย จนส่งผลไม่พึงประสงค์ภายหลัง สิ่งหนึ่งที่พึงระวัง คือ นายจ้าง หรือว่าที่เจ้านายอาจเข้ามาดูข้อมูลที่สะท้อนลักษณะเฉพาะบุคคลตาม ทฤษฎีลักษณะนิสัย (Trait Theory) ซึ่งมี 5 เกณฑ์ คือ 1) ชอบเข้าสังคม ชอบแสดงออก (Extraversion) 2) ความซื่อตรง มีคุณธรรม (Conscientiousness) 3) ความเป็นมิตร ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ (Agreeableness) 4) การจัดการกับอารมณ์ (Neuroticism) 5) เปิดกว้างเพื่อประสบการณ์ทำงานหรือเรียนรู้ (Openness to Experience/Intellect) โดยทฤษฎีถูกใช้ในหัวข้อวิจัยที่ Northern Illinois University, Evansville University และ Auburn University ได้ร่วมกันศึกษาจากกลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักศึกษา
เมื่อนำเกณฑ์ข้อ 1 คือ ชอบเข้าสังคม ชอบแสดงออก มาใช้คัดเลือกบุคลากร ก็มักมีการมองหาพฤติกรรมแสดงความคิดเห็นเชิงบวกต่อประเด็นรอบตัว มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เหมาะสม และมีสมดุลในการแสดงออกทั้งภายในและภายนอก มุมมองต่อสังคม การเมือง องค์กร ครอบครัว หรือตนเองเป็นอย่างไร ซึ่งเกณฑ์ที่ใช้คัดเลือกบุคลากรก็แตกต่างกันไปตามตำแหน่ง เช่น นักประชาสัมพันธ์ หรือนักพัฒนาชุมชน ก็ย่อมต้องการคนที่คิดบวก และชอบแสดงออก แต่ถ้าผู้พิพากษา หรือพนักงานทำความสะอาด เกณฑ์ข้างต้นก็คงไม่จำเป็นต้องนำมาใช้ ประเด็นคือท่านคิดว่าสิ่งที่ปรากฎใน profile ของท่าน เป็นภาพบวกหรือลบ หากปรากฎสู่สายตาของนายจ้าง
One thought on “สอบประวัติผู้สมัครงาน (itinlife 332)”