ต้องใช้กฎหมาย ห้ามดื่มเหล้าในวัด

ห้ามดื่มสุราในวัด
ห้ามดื่มสุราในวัด

ปัจจุบัน ประเทศไทย มี พระราชบัญญัติหรือกฏหมายควบคุมการขายและการดื่มแอลกอฮอล์ ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา ไว้ ๒ มาตราด้วยกัน คือ มาตรา ๒๗ ห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา และ มาตรา ๓๑ ห้ามมิให้ผู้ใดบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนา เว้นแต่ เป็นส่วนหนึ่งของพิธีกรรมทางศาสนา โดยมีการกำหนดโทษแก่ผู้ฝ่าฝืนไว้ด้วย คือ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
อนึ่ง ในกฎหมายฉบับนี้ มิได้ระบุว่า วัดหรือสถานที่สำหรับปฏิบัติพิธีกรรมทางศาสนานั้น เป็นศาสนาใดเป็นการเฉพาะ หากรวมหมายทุกศาสนาที่มีอยู่ในประเทศไทย ในที่นี้จะขอพูดเฉพาะส่วนของพระพุทธศาสนาเท่านั้น
เป็นที่ทราบโดยทั่วไปแล้วว่าสุราเมรัยนั้น มีพิษและโทษภัยแก่ผู้ดื่มมากมาย ทำให้เสียภาพพจน์ ก่อการวิวาท และเกิดคดีอาชญากรรมมากมาย สติสัมปชัญญะเสื่อมถอย มีผลต่อการขับขี่ยวดยานพาหนะ ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน จะเห็นได้ในเทศกาลปีใหม่ก็ดี เทศกาลสงกรานต์ก็ดี มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ เพราะผู้ขับขี่เมาสุราเป็นอันดับหนึ่ง นอกจากนี้ ยังทำให้เกิดโรคภัยไข้เจ็บคือพิษสุราเรื้อรัง เป็นคนปราศจากความอาย จะแสดงอาการกิริยาอย่างไรก็ได้ เพราะขาดจิตสำนึกชั่วดี ด้วยอำนาจแห่งความมึนเมา และกล้าที่จะกระทำความชั่วได้ทุกขณะและทุกอย่าง
การที่ต้องออกกฎหมายมาควบคุมการขายและการดื่มเหล้าในวัดหรือในศาสนสถานนั้น ก็เพราะ ปัจจุบันมีคนแสวงหาประโยชน์ในการขายเหล้าในสถานที่ดังกล่าว โดยไม่คำนึงถึงว่า วัดหรือศาสนสถานนั้น เป็นแหล่งฟื้นฟูและปลูกฝังศีลธรรมอันดีแก่ชนทั่วไป เป็นสถานที่ต้องให้ความเคารพ ที่ไม่ควรถูกมองว่าเป็นแหล่งอบายมุขเสียเอง เมื่อมีกฎหมายออกมาควบคุมก็จะขจัดสิ่งไม่ดีให้หมดไป และส่งเสริมสิ่งที่ดีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
ในพระพุทธศาสนานั้นถือว่าการดื่มสุรา เมรัยเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรกระทำ จึงบัญญัติไว้ในศีล ๕ ข้อสุดท้าย โดยสอนให้งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา การงดเว้นเป็นเรื่องจิตใจของผู้ต้องการทำความดี โดยปราศจากการบังคับ พระพุทธเจ้าไม่ได้ทรงห้าม และไม่ทรงบังคับใคร เพราะพระองค์ห้ามไม่ได้ ถ้าพระองค์ทรงห้ามได้ จะมีคนทำความชั่วอยู่หรือ พระพุทธองค์เป็นเพียงผู้บอกผู้ชี้ทางสว่างแก่ผู้คน ถ้าใครปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ก็ได้รับคุณประโยชน์ แต่ถ้าไม่ปฏิบัติตามธรรมของพระองค์ ก็จะได้รับในสิ่งไม่ดีที่ตนกระทำลงไป
ในส่วน พระวินัยปิฎก ได้กล่าวถึงเรื่องที่พระภิกษุดื่มสุราไว้ใน สิกขาบทที่ ๑ สุราปานวรรค ในปาจิตตีย์กัณฑ์ว่า พระสาคตะ ปราบนาค (งูใหญ่) ของพวกชฎิลได้ ชาวบ้านดีใจ อยากจะถวายของที่หาได้ยากแก่ท่าน พวกภิกษุฉัพพัคคีย์ (พวกหกคน) แนะให้ถวายเหล้าสีแดงดั่งสีเท้านกพิราบ ชาวบ้านจึงทำตาม โดยถวายเหล้าให้พระสาคตะดื่ม พระสาคตะดื่มแล้วเมานอนกลิ้งอยู่ที่ประตูเมือง ความทราบถึงพระพุทธเจ้า พระองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุดื่มเหล้า (น้ำเมาที่กลั่น) และเมรัย (น้ำเมาที่หมักดอง) ทรงปรับอาบัติปาจิตตีย์แก่ผู้ล่วงละเมิด
การดื่มสุราจัดเป็นอบายมุข คือ หนทางแห่งความเสื่อมประการหนึ่งของอบายมุขทั้งหลาย ที่ผู้ครองเรือนควรงดเว้นเด็ดขาด เพราะการดื่มสุรามีโทษมากมายดังกล่าวมาแล้วข้างต้น ดังตัวอย่างเรื่องของลูกเศรษฐีผู้มีทรัพย์มาก ต้องกลายเป็นขอทาน ปรากฏในธรรมบทภาค ๕ ความว่า
เศรษฐีในเมืองพาราณสีมีทรัพย์ ๘๐ โกฏิ มีลูกชายคนหนึ่งให้แต่งงานกับลูกสาวผู้มีทรัพย์ ๘๐ โกฏิเช่นกัน เมื่อพ่อแม่ตายแล้ว ก็ได้ครอบครองทรัพย์ร่วมกันทั้งสองฝ่าย ๑๖๐ โกฏิ แต่เพราะคนทั้งสองไม่รู้จักการบริหารทรัพย์สิน สามีไปคบกับนักเลงสุรา เที่ยวดื่มกิน เพลิดเพลินและมัวเมาไปด้วยรูป รส กลิ่น เสียง จนทรัพย์หมดเกลี้ยงทั้งของตนและของภรรยา ในที่สุดต้องกลายเป็นขอทานยังชีพไปวันๆ
ในธรรมบทภาค ๕ เช่นเดียวกัน ได้กล่าวถึงหญิงผู้เป็นสหายของนางวิสาขา มหาอุบาสิกา ๕๐๐ คน ที่สามีของพวกนางนำมาฝากให้ดูแล เพราะพวกเขาจะไปดื่มเหล้าในเทศกาลที่จัดขึ้นตามประเพณี เป็นเวลา ๗ วัน พอวันที่ ๘ สามีของพวกนางออกจากบ้านไปทำงาน พวกภรรยาเหล่านี้ก็ชักชวนกันดื่มสุรา โดยแอบพกสุราที่สามีดื่มเหลือไว้ติดตัวไปด้วย ขอร้องให้นางวิสาขาพาไปเที่ยวในสวน นางวิสาขาก็พาไป สหาย หญิงเหล่านั้นก็แอบกินเหล้าจนเมามาย ร้องรำทำเพลงกันไป นางวิสาขาได้รับความอับอายเป็นอันมาก จึงตำหนิติเตียนหญิงสหายเหล่านั้น และเมื่อพวกนางกลับไปบ้านก็ถูกสามีทุบตีเอา เพราะไปดื่มเหล้าเมามายที่ผู้หญิงไม่ควรกระทำ
ต่อมา มีงานรื่นเริงอื่นๆ อีก พวกหญิงสหายเหล่านั้นอยากกินเหล้า จึงพากันไปหานางวิสาขา ขอให้พาไปเที่ยวเล่นในสวน นางวิสาขาปฏิเสธ เพราะกลัวจะถูกหลอก พวกนางจึงแกล้งเอาใจว่าจะไปทำพุทธบูชา ขอให้พาไปวัดเชตวันมหาวิหาร นางวิสาขาจึงพาไป โดยไม่ทราบว่าหญิงเหล่านั้นแอบนำเหล้าไปด้วย เมื่อถึงวิหารแล้วก็ไปแอบดื่มกันจนเมามาย แล้วจึงไปเฝ้าพระพุทธเจ้า บางคนแสดงอาการพิกลพิการเริ่มหัวเราะ บางคนเริ่มปรบมือ พระพุทธเจ้าทรงทราบเหตุดังนั้น จึงบันดาลให้หญิงเหล่านั้นสร่างจากอาการมึนเมา มีสติสัมปชัญญะดังเดิม ตรัสตำหนิว่า คนที่มาสู่สำนักของพระองค์ไม่ควรกระทำกิริยาเช่นนี้ แล้วตรัสพระคาถาว่า
“เมื่อโลกสันนิวาส อันไฟลุกโพลงอยู่เป็นนิตย์ พวกเธอยังร่าเริงบันเทิงอะไรกันหนอ? เธอทั้งหลายอันความมืดปกคลุมแล้ว ทำไมไม่แสวงหาประทีปเล่า?”
ในเวลาจบพระธรรมเทศนา หญิงทั้ง ๕๐๐ ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว
นี่เป็นการเข้าไปดื่มเหล้าในวัดเป็นครั้ง แรกในพระพุทธศาสนา แต่อาศัยที่พระพุทธเจ้ามีพุทธบารมีอันยอดยิ่ง จึงทำให้พวกเธอเหล่านั้นบรรลุธรรมได้ ถ้าเป็นสมัยนี้ก็อย่าหวังเช่นนั้นเลย แถมยังถูกจับติดคุกอีกต่างหาก
* หมายเหตุ : โลกสันนิวาส หมายถึง โลกอันเป็นที่อยู่ร่วมกัน
จากหนังสือธรรมลีลา ฉบับที่ 91 มิ.ย. 51 โดย ธมฺมจรถ
โดย ผู้จัดการออนไลน์ 29 พฤษภาคม 2551 16:48 น.

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?p=65481&sid=e87e45687b9a57276ebd16aaa5aa403e

ห้ามดื่มเหล้าในวัด
พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551
มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 เป็นต้นมา

ด้วยเหตุผลที่ว่า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพ ครอบครัว อุบัติเหตุ และอาชญากรรม ซึ่งมีผลกระทบต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรกำหนดมาตรการต่างๆ ในการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสภาพผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อช่วยลดปัญหาและผลกระทบทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ
ช่วยสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนโดยให้ตระหนักถึงพิษภัยของเครื่องดื่ม แอลกอฮอล์ ตลอดจนช่วยป้องกันเด็กและเยาวชนมิให้เข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้โดยง่าย
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หมายถึง สุรา (ที่แปลว่าเหล้า) ตามกฎหมายว่าด้วยสุรา ส่วนผู้ติดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ คือ บุคคลที่ดื่มเหล้าจนก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพร่างกายหรือจิตใจ โดยการดื่มนั้นมีลักษณะที่ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้น และเมื่อหยุดดื่มจะมีอาการแสดงของการขาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร่างกาย เช่น มือไม้สั่นต้องไปถอนสักหน่อย
สาระสำคัญของพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับนี้ คือ ต้องการที่จะควบคุมทั้งการซื้อการขายสุรา ทั้งนี้เพราะถึงแม้ว่าประเทศไทยประกาศเป็นเมืองพุทธ แต่ชาวบ้านยังสามารถหาซื้อเหล้ามาดื่มกันอย่างง่ายดายและมีจำหน่ายทั่วไป ทำให้ต้องมีทั้งคณะกรรมการและพระราชบัญญัติมากำหนดมาตรการต่างๆ เช่น ห้ามขายเหล้าให้กับคนที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปีบริบูรณ์ (มีการขอดูบัตรประชาชนคนซื้อเหล้ากันแค่ไหน) ห้าม ขายเหล้าให้กับบุคคลซึ่งมีอาการมึนเมาจนครองสติไม่ได้ ถ้าผู้ขายฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
นอกจากสถานที่ราชการ ปั๊มน้ำมัน สวนสาธารณะ โรงเรียน และหอพัก ที่ประกาศห้ามจำหน่ายและดื่มสุราแล้ว ที่น่าสนใจ คือ ต่อไปนี้ถ้ามีการจำหน่ายและดื่มสุรากันในวัด จะถูกจับ มีโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต่อไปนี้ถ้าจะจัดงานในวัด ก็ควรจะเป็นบรรยากาศที่เรียบง่ายและสงบ ส่วนที่จะให้มีการรื่นเริงและเลี้ยงสุรากันควรห่างจากกำแพงวัดให้มากเข้าไว้ จะเป็นการดีแก่ทุกฝ่าย

หนังสือพิมพ์ข่าวสดรายวัน หน้า 30
คอลัมน์ หน้าต่างศาสนา โดย สมชาย สุรชาตรี
ผู้อำนวยการกองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2551 ปีที่ 18 ฉบับที่ 6372
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=15815

Leave a Reply