tweet มาก อาจทำสมาธิสั้น .. จริงหรือ

การทวิต หรือการรับส่งข้อความอันจำกัดปริมาณมาก โดยไม่มีการประมวลผล จะส่งผลทำให้สมาธิสั้น โดยเฉพาะในกลุ่มเด็ก เช่นที่ปรากฏในงานวิจัยของผู้เชี่ยวชาญจากสกอตแลนด์

ในยุคที่การไหลบ่าของเทคโนโลยีถาถั่งเข้าใส่ ผู้คน ตั้งแต่อินเทอร์เน็ต เอสเอ็มเอส ไฮไฟว์ มาถึงยุคทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ก และแบล็กเบอร์รี่ จนก้าวตามแทบไม่ทัน มีงานวิจัยหนึ่งที่ชี้ว่าการเล่นสื่อไอทีเหล่านี้ หากไม่มีการประมวลผลแล้ว จะมีผลต่อการพัฒนาความจำ อันส่งผลต่อเนื่องทำให้สมาธิสั้นได้

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นของ ดร.เทรซีย์ อัลโลเวย์ (Dr.Tracy Alloway) นักจิตวิทยาที่เชี่ยวชาญด้านความจำระดับใช้งาน (Working Memory) เป็นความจำระยะสั้นชนิดหนึ่ง จากมหาวิทยาลัยสเตอร์ลิง (University of Stirling) ประเทศสกอตแลนด์ ที่ฝึกเด็กที่เรียนช้าให้มีความจำระดับใช้งานที่ดีขึ้นและได้ผลเป็นที่น่าพอ ใจ มีพัฒนาการความจำระดับใช้งานที่ดีขึ้น โดยงานชิ้นนี้เผยให้เห็นว่ากระบวนการจำต้องมีทั้ง การจำ และ การประมวลผล

นอกจากนี้ งานวิจัยยังครอบคลุมไปถึงสังคมออนไลน์ในยุค 2009 ด้วย กรณีนี้การเล่นเกมซู โดกุ และการอัพเดทเฟซบุ๊ก จะใช้การประมวลผลต่างกับการเล่นทวิตเตอร์ และ ยูทู้บ ตลอดจนการส่งข้อความทั่วไปเป็นการได้ข้อมูลอย่างรวบรัดและเข้ามาเป็นปริมาณมาก ไม่ก่อให้เกิดการประมวลผล จึงไม่เกิดการพัฒนาความจำ ตรงกันข้ามข้อมูลปริมาณมากยังส่งผลให้สมาธิสั้นลง และทำให้สมองไม่สร้างการเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาท

ทวิตเตอร์ เกิดขึ้นครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนมีนาคม 2549 เป็นบริการเครือข่ายสังคมออนไลน์จำพวกไมโครบล็อก ผู้ใช้สามารถส่งข้อความยาวไม่เกิน 140 ตัวอักษร เพื่อระบุว่าตัวเองกำลังทำอะไรอยู่ หรือทวีต (tweet) โดยข้อความอัพเดทที่ส่งเข้าไปยังทวิตเตอร์ จะแสดงอยู่บนเว็บเพจของผู้ใช้คนนั้นบนเว็บไซต์ และผู้ใช้คนอื่นสามารถเลือกรับข้อความเหล่านี้ได้หลายช่องทาง ปัจจุบันทวิตเตอร์มีหมายเลขโทรศัพท์สำหรับส่งเอสเอ็มเอสในสามประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหราชอาณาจักร ปัจจุบันกำลังได้รับความนิยมจากสังคมออนไลน์ในประเทศไทย โดยเฉพาะในหมู่เด็กวัยรุ่นและคนทำงาน

สุกรี พัฒนภิรมย์ นักวิชาการศูนย์เทคโนโลยีไทยกริดแห่งชาติ และผู้เชี่ยวชาญทวิตเตอร์ ไม่เชื่อว่าการเล่นทวิตเตอร์จะมีส่วนทำให้สมาธิสั้น สาเหตุของสมาธิสั้นอาจเกิดจากนิสัยดั้งเดิมตั้งแต่สมัยเรียนหนังสือ ที่ถูกยัดเยียดให้เรียนเยอะ หรือทำอะไรหลายอย่างพร้อมกัน ตลอดจนการดูโทรทัศน์ที่ถูดยัดเยียดด้วยข้อมูลที่เปลี่ยนไปมาอย่างรวดเร็ว

“เวลาที่ผมต้องการสมาธิ ผมก็มีสมาธิอยู่กับมันได้นะ ส่วนงานวิจัยที่บอกว่าเล่นทวิตเตอร์แล้วสมาธิสั้น ผมว่ามันไม่เกี่ยวกัน หากจะสมาธิสั้นก็คงเริ่มตั้งแต่เรามีเพจเจอร์แล้ว ในมุมกลับกันผมว่าข้อความสั้นๆ ทำให้เราต้องใช้สมาธิในการอ่านให้ทัน แถมข้อความสั้นๆ ไม่เยิ่นเย้อสื่อสารกันเร็วดี ขึ้นอยู่กับว่าเราจะตอบสนองทันทีหรือไม่”

ตรงกันข้าม สุกรีกลับแสดงความเป็นห่วงการใช้ บีบี หรือแบล็กเบอรี่ (Black Berry : โทรศัพท์มือถือรุ่นที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้) มากกว่าการเล่นทวิตเตอร์ เพราะสร้างความคาดหวังให้มีการตอบสนองทันที หากไม่มีการตอบสนองก็อาจนำไปสู่การทะเลาะได้ เมื่อเราส่งข้อความไปทางบีบี จะสามารถรู้ได้ทันทีว่าได้รับหรือยัง อ่านหรือยัง แล้วเหตุใดถึงไม่ตอบกลับมา จะสร้างความหงุดหงิดจนนำไปสู่การทะเลาะกันหลายรายแล้ว

ด้าน นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต และรองประธานมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว มองว่า ปัจจุบันผลกระทบจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ทำให้เด็กไทยสมาธิสั้นมากขึ้น ไม่จำกัดเพียงแค่ทวิตเตอร์เท่านั้น ยังรวมถึงการเล่นเกมคอมพิวเตอร์ การแชทเอ็มเอสเอ็นด้วย เนื่องจากธรรมชาติของเทคโนโลยีมันจะเปลี่ยนแปลงความสนใจไปอย่างรวดเร็ว ทำให้คนเรามีความสามารถ หรือสมาธิในการแยกแยะข้อมูลได้ลดน้อยลง

การใช้ไอทีในรูปแบบนี้จะทำให้สมองเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ กระบวนการตอบโต้ไม่เป็นระบบ ดังนั้นจึงมีแนวคิดใหม่ที่จะไม่เอาระบบไอทีเข้าไปติดตั้งอยู่ในห้องเรียน ระดับอนุบาล เนื่องจากเด็กวัยนี้ต้องเสริมสร้างสมาธิ รู้จักรอคอย รู้จักแยกแยะ ควรเน้นการอ่านและการเขียนมากกว่า” นพ.ยงยุทธ กล่าว

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีมักเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และมีสิ่งใหม่ๆ มาทดแทนเสมอ นพ.ยงยุทธ จึงแนะนำว่า ควรสร้างภูมิต้านทานในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น ด้วยการลดการใช้คอมพิวเตอร์เพื่อการบันเทิง แต่เน้นเพื่อการเรียนรู้ให้มากขึ้น หากเด็กใช้ไอทีเพื่อความบันเทิง ผู้ปกครองต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด กำหนดเวลาเล่นให้ชัดเจน หากเป็นชั้นประถมก็วันละครึ่งชั่วโมงถึง 1 ชั่วโมง ที่สำคัญไม่ควรให้เยาวชนใช้คอมพิวเตอร์ในพื้นที่ส่วนตัว เพราะอาจเข้าถึงเรื่องทางเพศ หรือความรุนแรงได้

“การดูแลวัยรุ่นเรื่องการใช้ไอที ผู้ปกครองต้องกำหนดกติกา และส่งเสริมให้ทำกิจกรรมทดแทน เช่น เข้าร่วมกิจกรรมวงโยธวาทิต จะทำให้เด็กสนใจไอทีน้อยลง เมื่อได้ทำกิจกรรมอาจทำให้เด็กมีพัฒนาการและมีสมาธิมากขึ้น” นพ.ยงยุทธ กล่าว

เช่นเดียวกับ ดร.สุภาพร ธนะชานันท์ อาจารย์จากสถาบันวิจัยพฤติกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทร์วิโรฒ (มศว) ยอมรับว่า ผลการวิจัยในต่างประเทศชี้ให้เห็นว่า สื่อรูปแบบต่างๆ มีอันตรายต่อเด็ก แต่สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เด็กไม่ถูกสื่อครอบงำทำอันตรายได้ หากเด็กคนนั้นมีจิตใจ ความคิดแยกแยะสิ่งผิดถูกได้ และมีสิ่งแวดล้อมที่คอยปกป้องพวกเขา มีพ่อแม่ผู้ปกครองคอยดูแลและกำหนดเวลาการใช้อินเทอร์เน็ต หากไม่มีใครควบคุมเด็กสามารถเล่นอินเทอร์เน็ตได้ตลอดทั้งวัน อาจส่งผลเสียต่อเด็กได้

“ไม่โทษสื่อนะที่ทำให้เด็กได้รับผลกระทบต่างๆ แต่จะโทษผู้ดูแลสื่อมากกว่า อย่างที่อเมริกาเด็กๆ ของเขาจะไม่มีโอกาสได้เข้าไปในเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม เขาจะห้ามจริงๆ มีการบล็อกไว้เลย ส่วนเด็กก็จะมีความซื่อสัตย์ต่อตนเอง ที่จะไม่เข้าไปดูเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสม แตกต่างกับเมืองไทยมาก” ดร.สุภาพร กล่าว

อย่างไรก็ดีผลการวิจัยที่อ้างถึงการเล่น ทวิตเตอร์ทำให้สมาธิสั้นนั้น ดร.สุภาพร บอกว่า การจะทำให้เชื่อได้ว่าคนมีสมาธิสั้นจากการเล่นทวิตเตอร์จริง หรือไม่ ต้องมีการทดลองก่อน คล้ายๆ กับการใช้โทรศัพท์ที่ถูกคาดเดาว่าทำให้สมาธิสั้น ซึ่งอาจไม่เป็นเรื่องจริง และเชื่อว่าเด็กที่เล่นอินเทอร์เน็ตเป็นล้านๆ คนในประเทศไทยไม่ได้สมาธิสั้นทุกคน แต่อาจเป็นคนส่วนน้อยเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

สมาธิสั้น เป็นความผิดปกติด้านพฤติกรรม เกิดจากการทำงานที่ไม่เหมาะสมของสมอง โดยเฉพาะสมองส่วนที่ทำงานเกี่ยวข้องกับสมาธิ ทำให้เกิดการทำงานที่ไม่สัมพันธ์กันกับระบบสั่งงานอื่นๆ อาการสมาธิสั้นในเด็กเล็กวัย 3-5 ขวบ จะแสดงอาการไม่อยู่นิ่ง เคลื่อนไหวตลอดเวลา มักพูดแทรกและขัดจังหวะคนอื่น เป็นคนอดทนรอไม่ได้

สำหรับอาการที่พบในเด็กอายุ 6 ปีขึ้นไปมี 3 กลุ่มอาการ คือ 1.ไม่มีสมาธิ ทำผิดพลาดสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ ทำงานช้า หากเป็นสิ่งที่สนใจมากๆ เช่น วิดีโอเกมหรือรายการโทรทัศน์ ก็อาจตั้งใจดูเป็นเวลาหลายชั่วโมงต่อเนื่องได้ 2.อาการอยู่ไม่สุข ชอบเดินไปมาในห้อง ถ้าไม่เดินก็จะนั่งไม่อยู่นิ่ง ไม่มีระเบียบในการทำสิ่งต่างๆ 3.ขาดความยับยั้งชั่งใจ อดทนรออะไรไม่ได้ มักพูดมาก พูดแทรก รอคอยไม่เป็น

http://www.tlcthai.com/facebook/twitter-%E0%B8%97%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B9%80%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A3%E0%B9%8C-%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%86-%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%88-%E0%B8%97/