ตัวเลข 1.7 ล้านเครื่อง ถ้าราคาเครื่องละ 2,000 บาท
ก็น่าจะเกินงบไปมากกว่าเท่าตัว
งบแท็บเล็ตน้อยกว่ารถคันแรกเยอะเลย
เห็นยอดรถคันแรกน่าจะใช้งบหนึ่งแสนล้านบาท แต่งบแท็บเล็ตแต่หนึ่งพันกว่าล้านเอง
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
เปิดสเป็กจัดซื้อ “แท็บเลต” ลอตใหม่ 1.7 ล้านเครื่อง รวบแจก ป.1-ม.1 ตั้งราคากลาง “ป.1-2,720 บาท” เครื่องเด็ก ม.1 ที่ “2,920 บาท” พร้อมเตรียมเปิดขายซอง 3-5 เม.ย.56 เคาะราคา 29 เม.ย.56 แบ่งประมูล 4 รอบ จับคู่แยกรายภาค สารพัดแบรนด์รุมจีบทั้ง “จีน-อินเดีย-เยอรมนี” คาดแข่งเดือด ขณะที่ “ครู ป.2” โอละพ่อเด็กหิ้วเครื่องติดตัวมาจาก ป.1 แต่ไม่มีงบฯจัดซื้อเครื่องให้ครู
น.อ.สุรพล นะวะมวัฒน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดเผยในฐานะคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายแท็บเลตเพื่อการศึกษา (One Tablet per Child : OPTC) ว่า ขณะนี้ได้สรุปสเป็กของแท็บเลตที่ต้องจัดซื้อลอตใหม่ เพื่อแจกชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และมัธยมศึกษาปีที่ 1 ปีการศึกษา 2556 พร้อมกำหนดขั้นตอนและระยะเวลาในการจัดซื้อแล้ว โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เป็นเจ้าภาพในการจัดซื้อด้วยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ (e-Auction)
สำหรับราคากลางในการจัดซื้อแท็บเลตเด็ก ป.1 อยู่ที่เครื่องละ 2,720 บาท ม.1 และเครื่องสำหรับครูอยู่ที่ 2,920 บาท รวมภาษีและค่าขนส่งถึงหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ โดยจัดซื้อรวมทั้งสิ้น 1.74 ล้านเครื่อง สพฐ.ได้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อจากเจ้าของงบประมาณ 8 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน สำนักการศึกษากรุงเทพมหานคร สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมการส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักการศึกษาเมืองพัทยา และ สพฐ.เอง เพื่อจัดซื้อ
แท็บเลตให้โรงเรียนในสังกัดโดยสเป็กแท็บเลตลอตนี้หลัก ๆ เหมือนกันคือใช้หน่วยประมวลผล (CPU) ดูอัลคอร์ 1.5 GHz หน่วยความจำ (RAM) ขนาด 1 GB ระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ 4.0 ขึ้นไป หรือวินโดวส์ แบตเตอรี่ 3600 mAh ต่างกันที่เด็ก ป.1 มีหน้าจอ 7 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 8 GB ส่วนเด็ก ม.1 และเครื่องคุณครู หน้าจอ 8 นิ้ว ฮาร์ดดิสก์ 16 GB ซึ่งเครื่องของครูมีฟังก์ชั่นเพิ่ม เช่น ช่อง HDMI มีปากกาสไตลัส พร้อม SD card ความจุ 8 GB เพิ่มให้ต่างหากซึ่งสเป็กที่สูงกว่าการจัดซื้อในปีที่แล้ว ที่เป็น CPU และเป็นแบบแกนเดียว ความเร็ว 1 GHz ความจุ RAM 512 MB ฮาร์ดดิสก์ 8 GB และหน้าจอ 7 นิ้ว ราคา 82 เหรียญสหรัฐ (รวมค่าขนส่งถึงสนามบินสุวรรณภูมิ)และจะเปิดขายซองข้อมูลสำหรับผู้สนใจเข้าร่วมประมูลวันที่ 3-5 เม.ย. 2556 มีกำหนดชี้แจงข้อมูลระเบียบ และข้อกำหนดเทคนิค (ทีโออาร์) วันที่ 9 เม.ย. เปิดยื่นซองเทคนิควันที่ 17 เม.ย. และประกาศผลผู้ผ่านเกณฑ์วันที่ 27 เม.ย. ประมูลแบบ e-Auction วันที่ 29 เม.ย. และจัดพิธีลงนามในสัญญาจัดซื้อ 9 หรือ 10 พ.ค. ให้ผู้ชนะทยอยส่งแท็บเลตตั้งแต่วันที่ 10 มิ.ย.จนครบใน 90 วันนับจากเซ็นสัญญา
“ปีนี้กระบวนการจัดซื้อแท็บเลตใช้ e-Auction ต่างกับปีที่แล้วที่ใช้การจัดหาแบบทำสัญญารัฐต่อรัฐ (G to G) เป็นการจัดหาคือสั่งผลิต ไม่ใช่จัดซื้อแบบครั้งนี้ที่ผู้เข้าประมูลทุกรายต้องนำแท็บเลตที่สมบูรณ์แล้ว 6 เครื่องมาให้ทดสอบก่อนว่าตรงตามสเป็กหรือไม่ ใช้งานกับซอฟต์แวร์และคอนเทนต์ของ สพฐ.ที่มีอยู่แล้วได้หรือไม่ ที่สำคัญคือเป็นการตัดสินกันที่ราคา สเป็กที่เหนือกว่าคู่แข่งไม่มีผลถ้าราคาแพงกว่า”
ส่วนการเคาะราคาประมูลในเบื้องต้นแบ่งเป็น 4 รอบตามสัญญาที่แยกเซ็น ได้แก่ สัญญาการจัดซื้อแท็บเลตสำหรับเด็ก ป.1 ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้จำนวน 431,775 เครื่อง สัญญาจัดซื้อสำหรับเด็ก ป.1 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 417,042 เครื่อง สัญญาที่ 3 สำหรับชั้น ม.1 ในพื้นที่ภาคกลางและภาคใต้ 416,440 เครื่อง และสัญญาจัดซื้อแท็บเลต ม.1 ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 423,333 เครื่อง โดยผู้ชนะประมูลจะลงนามในสัญญาจัดซื้อโดยตรงกับหน่วยงานเจ้าของงบประมาณ เนื่องจาก สพฐ.เป็นแค่ผู้รับมอบอำนาจในการจัดซื้อเพื่อให้มีปริมาณมากพอ
ขณะที่แท็บเลตสำหรับให้คุณครูจำนวน 54,000 เครื่อง ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าต้องเปิดประมูลและทำสัญญาแยกต่างหาก หรือรวมเข้าไปในการจัดซื้อแท็บเลตแต่ละสัญญาที่แยกตามพื้นที่ แต่มั่นใจว่าการจัดซื้อครั้งนี้จะได้ราคาต่ำกว่าราคากลางแน่นอน เพราะจัดประมูลแยกเป็นรอบ ๆ ไล่ทีละสัญญา เชื่อว่าในสัญญาที่ 4 รอบสุดท้ายยิ่งได้ราคาต่ำที่สุด ซึ่งอาจได้ผู้ชนะแยกเป็น 4 ราย หรือมีแค่บริษัทเดียวก็ได้ ที่สำคัญคือเป็นการประมูลที่เปิดกว้าง ใครที่คิดว่ามีศักยภาพก็เข้ามาประมูลได้
น.อ.สุรพล เปิดเผยด้วยว่า ขณะนี้มีผู้ผลิตแท็บเลตหลายรายสนใจเข้ามาสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนี้ อาทิ ทีซีแอล, ไฮเออร์, แชมเปี้ยนเอเชีย, สโคป, อินถัง, ออลอิน แบรนด์ซังเวิร์นของเอเซอร์ รวมถึงผู้ผลิตแท็บเลตของอินเดียและเยอรมนีด้วย ซึ่งเท่าที่ได้พูดคุยมา บริษัทจีนบางแห่งยอมขาดทุนเพื่อให้ได้โปรเจ็กต์นี้ และเพื่อใช้ชื่อประเทศไทยเพิ่มโปรไฟล์ให้ตนเอง เนื่องจากมีไม่กี่โครงการที่จัดซื้อพร้อมกันเป็นลอตใหญ่
และนอกเหนือจากการจัดส่งแท็บเลตที่ลงแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ให้ครบถ้วนตามข้อกำหนดแล้ว ผู้ชนะประมูลยังต้องเสนอแผนการตั้งศูนย์บริการให้ได้ครอบคลุมพื้นที่ตามสัญญาจัดซื้อ รวมถึงการรับประกันสินค้าเป็นเวลา 1 ปีด้วย
“การจัดซื้อครั้งนี้ได้นำบทเรียนจากครั้งก่อนมาปรับปรุง ตั้งแต่การเปิดเผยรายละเอียดของสัญญาจัดซื้อให้ศึกษาทำความเข้าใจ และยอมรับเงื่อนไขก่อนเข้าประมูล การให้นำแท็บเลตมาทดลองลงแอปพลิเคชั่นและคอนเทนต์ต่าง ๆ ว่าทำงานได้สมบูรณ์ตั้งแต่ขั้นตอนทดสอบเทคนิค รวมถึงการใช้ e-Auction ให้การจัดซื้อโปร่งใส วัดกันที่ราคา จะได้ไม่เกิดข้อครหาทำให้ส่งมอบล่าช้า”
ข้อกังวลที่มีอยู่ คือ ไม่แน่ใจว่าทางองค์การบริหารส่วนท้องถิ่นจะมอบอำนาจการจัดซื้อมาให้ สพฐ.ทันหรือไม่ เนื่องจากติดขัดเรื่องระเบียบการจัดซื้อ และยังมีปัญหาไม่มีงบประมาณในการจัดซื้อแท็บเลตที่จะให้ครูชั้น ป.2 นำไปสอนเด็กนักเรียนที่ได้รับแจกแท็บเลตตั้งแต่ตอน ป.1
ขณะที่ความคืบหน้าในการนำแท็บเลตที่จัดซื้อในปีที่แล้วไปใช้งาน ล่าสุดกระทรวงไอซีทีลงนามในสัญญาเช่าใช้บริการวงจรสื่อสารข้อมูลพร้อมอุปกรณ์โครงการพัฒนาระบบโครงข่ายไร้สาย (WiFi network) กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม เพื่อให้ทั้ง 27,231 โรงเรียนในสังกัด สพฐ.มีอินเทอร์เน็ต WiFi ความเร็ว 4-10 Mbps. ใช้ฟรี
งบประมาณ 1,760 ล้านบาท ระยะเวลาโครงการ 300 วัน นับจากส่งมอบอุปกรณ์ให้โครงข่ายกระทรวงศึกษาธิการ หรือ MOENet จะทยอยเปิดให้บริการใน มิ.ย.เป็นต้นไป คาดว่าจะครบทั้งระบบภายใน ส.ค. โดยกระทรวงไอซีทีได้เตรียมเสนอของบประมาณปี 2557 ไว้ 4,250 ล้านบาทสำหรับวางโครงข่าย WiFi เพิ่มเติมให้โรงเรียนที่ได้รับแจกแท็บเลตในปีการศึกษา 2556 กว่า 43,258 แห่ง
http://www.prachachat.net/news_detail.php?newsid=1363062897&grpid=&catid=06&subcatid=0603