ยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยสงฆ์

ยุทธศาสตร์ในการพัฒนามหาวิทยาลัยสงฆ์ *

พระธรรมโกศาจารย์ (ประยูร ธมฺมจิตฺโต)
อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

mcu book
mcu book หน้า 25 - 64


http://www.mcu.ac.th/site/pres_info_content_desc.php?p_id=13

19 พ.ค.56 หลายปีก่อนเคยเห็นการทำ SWOT ของมจร.ลำปาง รู้สึกประทับใจ มาวันนี้พบหนังสือ “ทำไมเรารักพระเจ้าอยู่หัว” เมื่อเปิดอ่านหน้า 25 – 64 ก็พบว่า พระธรรมโกศาจารย์ เล่าว่า มจร.เติมโตมาจนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยวิธีการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) p.39  แล้วให้นิยามคำว่า การบริหารเชิงกลยุทธ์ หมายถึง การทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วยการใช้แผนการอย่างพลิกแพลงตามสถานการณ์
http://www.thaiall.com/swot/

ขอถวายความเคารพ และแสดงความนับถือแด่พระเถรานุเถระ ผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ นิสิต และเพื่อนสหธรรมิกทุกรูป  และขอเจริญพรผู้บริหาร คณาจารย์ นิสิตฝ่ายคฤหัสถ์และสาธุชนทุกท่าน

วันนี้จะเป็นวันที่ประทับอยู่ในความทรงจำของพวกเราไปอีกนานเท่านาน พวกเราชาวมหาจุฬาฯนับหมื่นรูป/คนได้มาประชุมพร้อมกัน ณ ห้องประชุม มวก. ๔๘ พรรษาแห่งนี้เพื่อร่วมพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยอย่างเป็น ทางการ  ณ ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

วันนี้ มหาจุฬาฯ มีสำนักงานใหญ่เป็นของตนเองบนที่ดินที่เป็นของตนเอง ซึ่งสร้างแล้ว เสร็จในช่วงเวลาที่พวกเราทั้งหลายมีส่วนร่วมในการดำเนินการไม่ทางใดก็ทาง หนึ่ง ไม่โดยตรงก็โดยอ้อม ความสำเร็จครั้งนี้งดงามควรแก่ความภาคภูมิใจ ทำให้นึกถึงพุทธศาสนสุภาษิตที่ว่า

วายเมเถว ปุริโส                   ยาว อตฺถสฺส นิปฺปทา

นิปฺผนฺนโสภิโน อตฺถา          ขนฺตฺยา ภิยฺโย น วิชฺชติ

เกิดเป็นคนต้องพยายามต่อไปจนกว่าจะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้

เป้าหมายงดงามเมื่อทำสำเร็จ

ไม่มีเหตุแห่งความสำเร็จใดจะยิ่งไปกว่าความอดทน

ความสำเร็จของพวกเราวันนี้ได้มาด้วยขันติคือทนลำบาก ทนตรากตรำและทนเจ็บใจ

วันนี้ ผมขอถือโอกาสพูดถึงยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์(Strategy)ใน การพัฒนามหาวิทยาลัยในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาจนกระทั่งเรามีวันนี้ที่วังน้อย เพื่อที่ว่าพวกเราทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จะได้นำไปประยุกต์ใช้พัฒนาส่วนงานของเราให้ดียิ่งขึ้นโดยกระจายการพัฒนาให้ เกิดพร้อมกันทุกภาคส่วนตั้งแต่วิทยาเขตลงไปจนถึงหน่วยวิทยบริการ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ

สร้างมหาจุฬาฯด้วยความคิดเชิงยุทธศาสตร์

หลายคนมาเห็นสถานที่แห่งนี้แล้วตั้งคำถามว่าพวกเราสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยได้ ยิ่งใหญ่และงดงามขนาดนี้ได้อย่างไร ผมขอตอบว่าพวกเราสร้างมหาวิทยาลัยด้วยการใช้ความคิดเชิงยุทธศาสตร์หรือความ คิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic Thinking)

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “จิตฺเตน นียตี โลโก โลกหมุนไปด้วยความคิด ถ้าเราปรับความคิดให้ถูกต้อง เราจะหมุนโลกนี้ได้  เหมือนกับที่ อาคีมิเดส (Archimedes) เจ้าของทฤษฏีคานงัด บอกว่าไม่มีอะไรที่เขางัดไม่ได้ ต่อให้ของหนักที่สุดก็งัดได้ตามทฤษฎีของเขา ถ้าเขามีที่ยืนอยู่นอกโลกตรงไหนก็ได้ เขาจะใช้คานงัดดีดโลกนี้กระเด็นออกไป นี่แหละที่ว่าโลกหมุนไปตามความคิด โลกหมุนไปในทางเดียวกันเพราะความคิด โลกชนกันพินาศวอดวายก็เพราะความคิด

พระพุทธศาสนาเรียกระบบความคิดว่าทิฐิ เมื่อปรับทิฐิความเห็นให้ถูกต้อง โลกก็หมุนไปถูกต้อง ถ้าเราสามารถปรับทิฐิของคนนับหมื่นนับแสนให้ไปในทิศทางเดียวกันได้ มันจะเกิดพลังมหาศาล อย่างที่พวกเรามาอยู่ร่วมกันเป็นจำนวนหมื่นวันนี้ในฐานะผู้บริหาร  คณาจารย์ หรือนิสิตของมหาวิทยาลัยหรือในฐานะครูพระสอนศีลธรรม  เมื่อใจเรารวมเป็นหนึ่ง คือปรับทิฐิหรือทัศนะให้ตรงกันได้แล้ว คนหมื่นคนก็จะทำงานประสานกลมเกลียวกันเหมือนคนคนเดียว    ถ้าเราร้อยใจหมื่นดวงให้เป็นดวงเดียว อะไรก็เกิดขึ้นได้  ปาฏิหาริย์ ก็เกิดขึ้นได้ เหมือนการสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยนี้ซึ่งหลายคนเคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้  แต่วันนี้มันเป็นไปได้แล้วเพราะอะไร ก็เพราะความคิดเชิงกลยุทธ์

ก่อนที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจะย้ายสำนักงานใหญ่มาที่วังน้อยที่นี่เมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑  มหาวิทยาลัยตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่วัดมหาธาตุ กรุงเทพมหานคร  เรามีป้ายมหาวิทยาลัยหนึ่งป้ายพร้อมอาคารหนึ่งหลัง นั่นคือบ้านเก่าของเรา   อาคาร ที่นั่นงดงามแต่คับแคบเพราะเรามีนิสิตและคณาจารย์ส่วนกลางจำนวนนับพัน เราอยู่ที่บ้านเก่าอย่างแออัดคับแคบเหมือนปลาใหญ่อยู่ในสระเล็ก มันจะว่ายไปไหนมาไหนก็ไม่ได้ พอเราจับปลามาปล่อยในสระใหญ่ที่วังน้อย ปลาค่อยยิ้มได้และหายใจโล่งอก

ตอนที่เราอยู่รวมกันที่วัดมหาธาตุ ผมได้ยินพวกเราถกเถียงกันในที่ประชุมว่าใครจะอยู่ห้องไหน มุมไหน เราแบ่งสันปันส่วนสำนักงานกันไม่ลงตัวเพราะมีสถานที่จำกัด ผมเคยตั้งข้อสังเกตตั้งแต่เรายังไม่มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นของเรา เองว่า มหาจุฬาฯตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นมาไม่กี่เดือน เอกสารและบุคลากรก็ขยายเต็มห้อง จนล้นออกมาตรงนั้นตรงนี้ ผมนึกอัศจรรย์ใจว่าชาวมหาจุฬาฯ มีศักยภาพที่จะพัฒนางานได้เป็นอย่างดี ขออย่างเดียวคือให้เขามีโอกาสคือมีสถานที่ทำงานที่เป็นสัปปายะ  ผมเชื่อมั่นอย่างนี้ตั้งแต่สมัยที่ผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา

ในฐานะฝ่ายวางแผน ผมต้องคิดฝันล่วงหน้า ผมไม่สงสัยในศักยภาพ ความสามารถ ฝีมือ สติปัญญา น้ำใจและความใจถึงของพวกเราชาวมหาจุฬาฯ   ตอนนั้นเรายังทำอะไรไม่ได้ เพราะเรายังไม่มีเวทีเป็นของเราเอง เรารำสวยแต่ไม่มีเวทีให้รำ  เราแสดงดีแต่ไม่มีโอกาสได้แสดง ตอนนั้นผมจึงใฝ่ฝันว่าถ้าผมมีโอกาสเมื่อไร ผมจะสร้างเวทีให้พวกเราชาวมหาจุฬาฯ ได้แสดงฝีมือกันอย่างเต็มที่ แต่โอกาสที่เรารอคอยก็มาไม่ถึงสักที จนกระทั่งเราต้องสร้างโอกาสขึ้นมาเองด้วยการผลักดันให้มีการตราพระราช บัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๕๔๐

ตอนที่พวกเราผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯ ใกล้สำเร็จก็มีคนสบประมาทพวกเราคือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนหนึ่งในกรมการ ศาสนาสมัยนั้นไปฟ้องพระเถระผู้ใหญ่ว่าถ้ามหาจุฬาฯ มีพระราชบัญญัติเป็นของตนเองจะยุ่งกันใหญ่เพราะพระสงฆ์ทำงานไม่เป็น เจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัด สระเกศราชวรมหาวิหาร รู้สึกห่วงใยพวกเราจึงได้เรียกผมไปเตือนว่ามีคนเขาสบประมาทพวกท่านว่าพระ สงฆ์ทำงานไม่เป็น เพราะฉะนั้นท่านต้องระวังอย่าให้ล้มเหลวเพราะจะเสียหายไปถึงคณะสงฆ์โดยรวม   คำเตือนนั้นยังก้องอยู่ในหูของผมจนทุกวันนี้

ความสำเร็จของพวกเราในวันนี้เป็นการลบล้างคำสบประมาทที่ว่าพระสงฆ์ทำงานไม่เป็น พวกเราชาวมหาจุฬาฯได้พิสูจน์ให้ชาวโลกเห็นว่าพระสงฆ์ไทยสามารถทำงานระดับ ชาติและระดับนานาชาติได้เป็นอย่างดีขอเพียงแต่ให้มีโอกาสและมีเวทีในการ แสดงออก

วันนี้มีครูพระสอนศีลธรรมจำนวนมากมาอยู่ในห้องประชุมนี้ ผมขอตั้งข้อสังเกตว่าตอนนี้คำสบประมาทได้ย้ายไปลงที่ครูพระสอนศีลธรรมใน โรงเรียนว่าพระสงฆ์สอนเด็กไม่เป็นจึงทำให้วิชาพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องน่า เบื่อสำหรับเด็กในโรงเรียน คำสบประมาทแบบนี้เคยมีมาแล้วเมื่อพระสงฆ์ได้รับนิมนต์ให้ไปสอนในโรงเรียน เป็นครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ในสมัยรัชกาลต่อมาพระสงฆ์ก็หยุดไปสอนในโรงเรียนเพราะมีเสียงค้านว่าพระสงฆ์สอนได้แต่เด็กผู้ชาย แต่สอนเด็กผู้หญิงไม่ได้  ครู ประจำการจึงดึงงานสอนทั้งหมดไปจากพระสงฆ์ พระสงฆ์จึงว่างงานในการสอนศีลธรรมในโรงเรียนไปเกือบหนึ่งร้อยปี จนกระทั่งเมื่อสามปีที่ผ่านมา รัฐบาลบอกให้มหาจุฬาฯช่วยเป็นคนกลางนิมนต์พระสงฆ์ ๒๐,๐๐๐ รูปไปสอนวิชาพระพุทธศาสนาในโรงเรียน พวกเราก็รับหน้าที่เป็นคนกลางให้ แต่ผมก็ห่วงลึกๆ ว่าถ้าพระสงฆ์ล้มเหลวในการสอนศีลธรรมในโรงเรียนครั้งนี้ พระสงฆ์ในอนาคตก็จะหมดโอกาสที่จะเข้าไปสอนศีลธรรมในโรงเรียนและอาจจะต้องรอ อีก ๒๐๐ ปีก่อนที่พระสงฆ์จะได้กลับเข้าไปสอนศีลธรรมในโรงเรียน พระสงฆ์ในอนาคตคงจะสวดรุ่นพวกท่านว่าสอนศีลธรรมในโรงเรียนแบบไหน จึงทำให้โรงเรียนกลายเป็นเขตปลอดครูพระสอนศีลธรรมขึ้นมาได้

ดังนั้น เพื่อลบล้างคำสบประมาทที่มีต่อครูพระสอนศีลธรรมในโรงเรียน มหาจุฬาฯต้องเป็นคนกลางที่เร่งพัฒนาศักยภาพของพวกเราด้วยการจัดหลักสูตรฝึก อบรมให้พวกท่าน  ทางที่ดีคือพวกท่านเข้าเรียนมหาจุฬาฯ เริ่มจากหลักสูตรประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์หรือ ปบส.  เมื่อ เรียนมหาจุฬาฯ แล้วท่านจะรู้ว่ามหาจุฬาไม่ได้สอนแค่ความรู้วิชาการ แต่ยังปลูกฝังให้มีจิตสำนึกสาธารณะในการเป็นผู้ให้เป็นผู้เสียสละดังคำกล่าว ที่ว่า Come to learn, leave to serve” แปลว่า มาเรียนเพื่อรู้ จบไปเป็นผู้ให้บริการ นี่ คือสิ่งที่มหาจุฬาฯ สั่งสอนอบรมนิสิตติดต่อกันมากว่าหกสิบปีจนกลายเป็นวัฒนธรรมองค์กร ของมหาวิทยาลัย พวกเรามีความสุขในฐานะเป็นผู้ให้ เราไม่เคยถามว่าให้แล้วเราจะได้อะไร  เพราะการให้เป็นความสุขอยู่ในตัวเอง ดังพุทธพจน์ที่ว่า “มนาปทายี ลภเต มนาปํ” แปลว่า ให้สิ่งที่น่าพอใจแก่เขา เราก็ได้สิ่งที่น่าพอใจตอบ

เราสร้างอาคารใหญ่โตที่วังน้อยโดยไม่ได้คิดหวงไม่ให้ใครเข้ามาใช้  เราประกาศมาตลอดว่าที่นี่สร้างมาด้วยแรงศรัทธาของประชาชน  คนทั่วไปจึงเข้ามาใช้ได้ ขอให้มาใช้กันเถอะ ที่นี่เป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ พระสงฆ์ทุกรูปจึงมีสิทธิเข้ามาใช้   และ ไม่ใช่เฉพาะพระสงฆ์ไทยเท่านั้น พระสงฆ์ทั่วโลกก็เข้ามาใช้ได้ นี่คือสมบัติของพระศาสนาที่สร้างมาด้วยเงินบริจาคของประชาชนร้อยละ ๖๐ และด้วยงบประมาณจากรัฐบาลอีกร้อยละ ๔๐

เมื่อเราสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยขึ้นมาได้งดงามอย่างที่เห็นอยู่นี้ เราจึงทำพิธีเปิดมหาวิทยาลัยให้ยิ่งใหญ่เพื่อจะประกาศให้คนทั้งหลายเข้ามา ใช้ศึกษาและปฏิบัติธรรม  ปรากฏว่าทุกวันนี้อาคารหอ พักถูกจองกันล่วงหน้าหลายเดือนโดยส่วนราชการต่างๆที่นำบุคลากรเข้ามาปฏิบัติ กรรมฐาน นี่เป็นกิจกรรมหนึ่งในการให้บริการวิชาการแก่สังคมของพวกเรา

เพราะเหตุที่พวกเราชาวมหาจุฬาฯ  มีจิตอาสาชอบเสียสละเพื่อส่วนรวมดังกล่าวมา เวลาที่สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (สมศ.) และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) มาประเมินมหาวิทยาลัย ปรากฏว่าเราได้คะแนนประเมินสูงมากในด้านการบริการสังคม แม้ด้านความเป็นเลิศทางวิชาการ เราอาจจะไม่เลิศเลอนัก   แต่ในเรื่องน้ำใจเสียสละและจิตอาสา เราไม่แพ้ใครในโลก  ผมใช้คำว่าในโลกเพราะตลอดระยะเวลา ๑๐ ปีที่ผ่านมาผมได้เห็นพวกเราจัดงานระดับโลก  ตั้งแต่การจัดประชุมสุดยอดผู้นำชาวพุทธโลก (Buddhist Summit) ในปี ๒๕๔๓ จนถึงการจัดกิจกรรมนานาชาติเนื่องในวันวิสาขบูชาโลกในปัจจุบัน เรา ทำงานกันอย่างทุ่มเทหามรุ่งหามค่ำ จนถึงขนาดที่ว่าชาวต่างประเทศประหลาดใจที่เห็นพระสงฆ์ไทยเสียสละทำงานกัน อย่างจริงจัง พวกเขาถามอธิการบดีว่าท่านสอนกันอย่างไรจึงได้ผลผลิตอย่างนี้ พวกเขาอยากให้เราไปผลิตบัณฑิตแบบเดียวกันนี้ให้เขาบ้างจึงมาสมัครเป็นสาขา ของมหาจุฬาฯ นี่คือที่มาของสถาบันสมทบในต่างประเทศ ในปัจจุบันมหาจุฬาฯมีสถาบันสมทบในต่างประเทศ ๕ แห่ง คือเกาหลีใต้  ไต้หวัน สิงคโปร์ ศรีลังกา และฮังการี

อีกเรื่องหนึ่งเกี่ยวกับจุดแข็งของมหาจุฬาฯที่พวกเราควรตระหนักให้ดีก็คือว่า  พระมหาเถระชาวต่างประเทศหลายรูป โดยเฉพาะพระศรีธัมมานันทะ (K. Sri Dhammananda) ซึ่ง เป็นพระสงฆ์ชาวศรีลังกาประจำอยู่มาเลเซียได้แสดงความรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้ รับปริญญาพุทธศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์จากมหาจุฬาฯ ในการเข้าร่วมพิธีประสาทปริญญาของมหาจุฬาฯนั้น ท่านได้เห็นพระบัณฑิตหลายพันรูปเข้าแถวรับปริญญาพร้อมกับท่าน ภาพที่พระสงฆ์จำนวนนับพันรูปเข้ารับปริญญาอย่างนี้ไม่มีที่ไหนในโลก  มีแต่ที่มหาจุฬาฯเท่านั้น เมื่อจัดอันดับตามจำนวนพระสงฆ์ที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบัน ปรากฏว่า มหาจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ใหญ่ที่สุดในโลก การได้รับปริญญากิตติมศักดิ์จากมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจึงเป็นเรื่องที่พระมหาเถระทั่วโลกภาคภูมิใจกันมาก  เรา จึงได้ข้อสรุปว่า เอกลักษณ์หนึ่งของมหาจุฬาฯที่ทำให้เราโดดเด่นในเวทีโลกวันนี้ซึ่งพวกเราหลาย คนอาจมองข้ามก็คือการที่มหาจุฬาฯมีพระสงฆ์เข้าศึกษาอยู่มากที่สุดในโลก มหาจุฬาฯในอนาคตต้องรักษาเอกลักษณ์นี้ไว้ให้ดี

ดื่มน้ำให้นึกถึงคนขุดบ่อ ทานผลไม้ให้นึกถึงคนปลูกต้นไม้

เพื่อที่จะช่วยกันถนอมรักษาจุดเด่นและ จิตวิญญาณของเราให้คงอยู่สืบไป เราถือคติเตือนใจวันนี้ว่า ดื่มน้ำให้นึกถึงคนขุดบ่อ ทานผลไม้ให้นึกถึงคนปลูกต้นไม้ น้ำในบ่อที่เราดื่มได้เพราะใครก็ไม่รู้ ได้ขุดไว้เราผ่านมาได้ดื่ม ต้องขอบคุณเขา ผลไม้ที่เขาปลูกไว้ เราได้รับประทาน มีต้นไม้ชนิดหนึ่งในประเทศจีนชื่อว่าแปะก้วย  คนปลูกไม่ได้กิน คนกินไม่ได้ปลูก เพราะใช้เวลาเติบโตเกือบ ๑๐๐ ปีจึงจะออกดอกออกผล คนปลูกตายไปแล้ว คนอื่นกินผลของมันไปอีกหลายร้อยปี

ที่ มหาจุฬาฯมีวันนี้เราเป็นหนี้พระคุณขององค์ผู้สถาปนาคือพระบาทสมเด็จพระปรมิ นทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ที่ทรงให้ย้ายศาลาบอกหนังสือพระหรือโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกบาลีจากวัด พระศรีรัตนศาสดารามมาไว้ที่วัดมหาธาตุ เรียกว่า “มหาธาตุวิทยาลัย” ซึ่งเปิดเรียนครั้งแรกเมื่อวันที่ ๘ พฤศจิกายน ๒๔๓๒   ต่อมาพระองค์ผู้ทรงสถาปนาทรงเปลี่ยนนามมหาธาตุวิทยาลัยเป็น “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อปี ๒๔๓๙ เพื่อให้เป็นสถานศึกษาพระไตรปิฎกและวิชาชั้นสูงสำหรับพระภิกษุสามเณรและคฤหัสถ์  ทรง มีพระราชประสงค์จะให้เป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์เอง คู่กันกับ “มหามกุฏราชวิทยาลัย” ซึ่งทรงสถาปนาไว้เป็นอนุสรณ์เฉลิพระเกียรติแด่สมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔  ดังพระราชหัตถเลขาลงวันที่ ๒๓ กันยายน ๒๔๓๙ ที่ทรงมีถึงหม่อมเจ้าประภากร รองอธิบดีกรมศึกษาธิการในสมัยนั้น ความตอนหนึ่งว่า เดิม นั้นคิดว่าจะทำศาลาบอกหนังสือพระ ให้คู่กันกับศาลาบอกหนังสือที่วัดบวรนิเวศน์ที่ให้ชื่อว่ามหามกุฏราช วิทยาลัย เป็นส่วนธรรมยุติกา ที่นี่จะสร้างขึ้นสำหรับส่วนมหานิกาย จะให้ชื่อว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยตั้งสำนักงานใหญ่อยู่ที่วัดมหาธาตุเป็นเวลา ๑๒๐ ปีจนกระทั่งย้ายมาตั้งอยู่ที่ตำบลลำไทร อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๕๕๑ เป็นต้นมา หลายคนรู้สึกประหลาดใจที่พบว่า มหาจุฬาฯเปลี่ยนสภาพจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ขนาดเล็กที่อาศัยอยู่ที่บนที่ดินของ วัดมหาธาตุกลายมาเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ขนาดใหญ่ที่มีที่ดินเป็นของตนเองจำนวน ๓๒๓ ไร่ที่วังน้อย มีอาคารเรียนรวมที่จุผู้เรียนได้ ๑๔,๐๐๐ รูป/คน มีหอประชุมขนาดใหญ่ที่จุคนได้ ๓,๕๐๐ คน มีอุโบสถกลางน้ำใหญ่ที่สุดในโลกซึ่งจุพระสงฆ์ได้ ๔,๐๐๐ รูป ปัจจุบันมหาจุฬาฯเปิดสอนตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอกทั้งที่ส่วน กลางและส่วนภูมิภาคกว่า  ๔๐ จังหวัดทั่วประเทศ   มีนิสิตทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์จำนวน ๑๗,๐๐๐ รูป/คน โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานจากรัฐบาลปีละกว่าหนึ่งพันล้านบาท ที่สำคัญก็คือมหาจุฬาฯยังเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก และสมาคมมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติอีกด้วย

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่า ความเจริญเติบโตของมหาจุฬาฯเป็นไปอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมานี่เอง บางคนตั้งคำถามว่าพัฒนาการเช่นนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร ก็ขอตอบว่า กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จภายในวันเดียวฉันใด มหาจุฬาฯก็ฉันนั้นคือไม่ได้สร้างเสร็จภายในเวลาหนึ่งทศวรรษ หากแต่เราใช้เวลาเตรียมความพร้อมอยู่ที่วัดมหาธาตุนานหลายปีกว่าจะเป็นอย่าง วันนี้ได้ การสะสมบารมีที่ยาวนานกว่าหนึ่งศตวรรษเป็นปัจจัยหนุนส่งให้มหาจุฬาฯเติบโตมา จนถึงวันนี้

ในประเทศจีนมีต้นไผ่ชนิดหนึ่งที่คนจีนเรียกว่าเมาซูแต่ฝรั่งเรียกว่าโมโซ่ (Moso) ไผ่ชนิดนี้คนแก่ไม่อยากปลูก แต่คนหนุ่มสาวชอบปลูก เหตุที่คนแก่ไม่อยากปลูกก็เพราะว่าปลูก ๕ ปีแล้ว มันสูงจากพื้นนิดเดียว คนแก่บอกว่าเราคงตายเสียก่อนที่มันจะโตเต็มที่  แต่ คนหนุ่มสาวชอบปลูกไผ่ชนิดนี้เพราะหลังจากปลูกได้ ๕ ปี ไผ่จะโตอย่างรวดเร็ว คือมันโตวันละ ๒ ฟุตครึ่ง จนมันสูงเต็มที่ถึง ๗๕ ฟุต ภายใน ๖ สัปดาห์  หลัง จากนั้นมันจะขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆจนกลายเป็นไผ่ยักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก หลายคนคงเคยเห็นไผ่ชนิดนี้ในหนังจีนกำลังภายในที่มีฉากต่อสู้ฟันดาบกันบนยอด ไผ่โมโซ่นี่แหละ

นักพฤกษศาสตร์ศึกษาธรรมชาติของไผ่ชนิดนี้ด้วยการขุดดูรากไผ่ใต้ดินแล้วพบว่า  ในช่วง ๕ ปีแรกไผ่โตอยู่ใต้ดิน รากของมันงอกขดเป็นขนดอยู่ใต้ดิน  ถ้าดึงให้ขยายเป็นเส้นตรงจะมีความยาวเกือบหนึ่งกิโลเมตร นี่แสดงว่ามันเตรียมความพร้อมอยู่ใต้ดิน พอครบ ๕ ปี รากของมันดูดซับอาหารจนต้นไผ่โตพรวดๆ กลายเป็นไผ่ยักษ์

มหาจุฬาฯเปรียบเหมือนไผ่โมโซ่คือซุ่มเตรียมความพร้อมอยู่ที่วัดมหาธาตุตั้งแต่ สมัยรัชกาลที่ ๕ จนกระทั่งมีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ เราเตรียมความพร้อมอยู่ที่วัดมหาธาตุเป็นเวลานานก่อน ที่จะมีพระราชบัญญัติเป็นของตนเอง การเตรียมความพร้อมที่สำคัญที่สุดซึ่งเป็นเหตุให้มีพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็คือการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ ๕ ปีเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ แผนพัฒนานี้มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า แผนพัฒนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ ๗ (พ.ศ. ๒๕๓๕-๒๕๓๙) เราจงใจใส่คำว่า ในช่วงแผนพัฒนาการศึกษาระดับอุดมศึกษาระยะที่ ๗ ไว้ในชื่อแผนพัฒนามหาวิทยาลัยก็เพราะเราไม่ต้องการให้คนทั่วไปรู้ว่ามหา จุฬาฯเพิ่งทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ ๕ ปีเป็นครั้งแรก ผมรู้เรื่องนี้ดีเพราะขณะนั้นผมเป็นรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและวางแผนซึ่งเป็น ผู้รับผิดชอบในการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับนี้

การบริหารเชิงกลยุทธ์

เมื่อมองย้อนดูเหตุการณ์ที่ผ่านมา ผมถือว่าการจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยฉบับนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำพามหา จุฬาฯให้เจริญเติบโตมาถึงจุดที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ทั้งนี้เพราะในการระดมสมองเพื่อจัดทำแผนของมหาวิทยาลัยนั้น เราสร้างวิสัยทัศน์ร่วม กันว่าเราต้องการเห็นมหาจุฬาฯพัฒนาไปเป็นอะไร ถ้าเราไม่มีวิสัยทัศน์ร่วมกันเช่นนั้น เราก็จะไม่มีทางรู้เลยว่ามหาจุฬาฯจะพัฒนาไปในทิศทางใด

ตัวอย่างของการทำงานที่ขาดวิสัยทัศน์ก็คือการแล่นเรือไปพบทวีปอเมริกาของคริสโตเฟอร์ โคลัมบัส (Christopher Columbus) เขาเป็นนักสำรวจคนแรกผู้ค้นพบทวีปอเมริกาเมื่อ พ.ศ. ๒๐๓๕ ก่อนจะแล่นเรือออกเดินทางจากสเปนข้ามมหาสมุทรแอตแลนติก โคลัมบัสไม่มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนว่าตนเองกำลังจะไปไหน (เขาเข้าใจผิดคิดว่าตนเองกำลังแล่นเรือไปทวีปเอเชีย) เมื่อเดินทางถึงทวีปอเมริกาแล้ว โคลัมบัสก็ไม่รู้ว่าเขากำลังอยู่ที่ใด (เขาเข้าใจว่าตนเองกำลังอยู่ที่ทวีปเอเชียจึงเรียกคนพื้นเมืองที่นั่นว่าคน อินเดีย) เมื่อเดินทางกลับถึงสเปน โคลัมบัสก็บอกไม่ได้ว่าเขาไปที่ใดมา (เขาบอกคนในยุโรปว่าเขาไปถึงทวีปเอเชีย) ดังนั้น แม้โคลัมบัสจะเป็นชาวตะวันตกคนแรกที่ค้นพบทวีปใหม่ นักประวัติศาสตร์ก็ไม่ตั้งชื่อทวีปใหม่ตามชื่อของโคลัมบัส ตรงกันข้าม นักประวัติศาสตร์กลับตั้งชื่อว่าทวีปอเมริกาตามชื่อของผู้ค้นพบคนที่สองซึ่ง มีชื่อว่า อเมริโก เวสปุชชี (Amerigo Vespucci) ทั้งนี้เพราะอเมริโกประกาศยืนยันว่าทวีปที่เขาค้นพบหลังจากโคลัมบัสนั้นไม่ใช่ทวีปเอเชียอย่างที่โคลัมบัสเข้าใจแต่เป็นทวีปใหม่ นักประวัติศาสตร์จึงตั้งชื่อทวีปใหม่แห่งนี้ว่าทวีปอเมริกา

การสร้างวิสัยทัศน์ประกอบการวางแผนนี้ถือว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการบริหารเชิงกลยุทธ์หรือการบริหารเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Management) นั่นหมายความว่าที่มหาจุฬาฯเติบใหญ่มาจนถึงทุกวันนี้ก็ด้วยอาศัยวิธีการบริหารเชิงกลยุทธ์นั่นเอง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถานได้นิยามความหมายของคำว่ากลยุทธ์ไว้ว่า การรบที่มีเล่ห์เหลี่ยม, วิธีการที่ต้องใช้กลอุบายต่างๆ, เล่ห์เหลี่ยมในการต่อสู้ และได้นิยามความหมายของคำว่ายุทธศาสตร์ไว้ว่า วิชาว่าด้วยการพัฒนาและการใช้อำนาจทางการเมือง เศรษฐกิจ จิตวิทยา และกำลังรบทางทหารตามความจำเป็นทั้งในยามสงบและยามสงคราม

อย่างไรก็ตาม วงการนักบริหารในปัจจุบันนิยมใช้คำว่ากลยุทธ์และยุทธศาสตร์ในความหมายเดียวกันเพราะแปลมาจากภาษาอังกฤษคำเดียวกันว่า “Strategy”  ซึ่งหมายถึง “วิธีการ แผนการหรือวิธีพลิกแพลงเพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ (A method, plan, or stratagem to achieve some goal)” ดังนั้น ผมจึงใช้คำว่ากลยุทธ์และยุทธศาสตร์ในความหมายเดียวกันว่า “การใช้แผนการอย่างพลิกแพลงตามสถานการณ์เพื่อบรรลุเป้าหมายที่วางไว้” ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา มหาจุฬาฯใช้วิธีการบริหารเชิงกลยุทธ์ (Strategic Management) ในการดำเนินกิจการของมหาวิทยาลัย คำว่า “การบริหารเชิงกลยุทธ์” หมายถึง การทำงานให้สำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ด้วยการใช้แผนการอย่างพลิกแพลงตามสถานการณ์

ยุทธศาสตร์ ในการพัฒนามหาจุฬาฯในช่วง ๒๐ ปีที่ผ่านมาก็คือ เราสร้างวิสัยทัศน์ว่าจะผลักดันให้มหาจุฬาฯพัฒนาไปเป็นอะไร นั่นคือ พวกเรากำหนดเป้าหมายร่วมกันให้ชัดเจนก่อนจัดทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยให้ดำเนิน ไปสู่เป้าหมายนั้นตามลำดับมีขั้นมีตอนและมีการปรับเปลี่ยนแผนการตาม สถานการณ์ ดังนั้น การกำหนดเป้าหมายและแผนการร่วมกันจึงเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารองค์กร องค์กรที่ขาดเป้าหมายและการวางแผนก็เหมือนเรือที่ขาดหางเสือย่อมจะแล่นสะเปะ สะปะและบางทีอาจจะแล่นวนกลับมาที่จุดตั้งต้นก็ได้

ถ้า บริหารโดยไม่มีการวางแผนเชิงกลยุทธ์จะทำให้การทำงานมีความซ้ำซ้อนและกินแรง มากเพราะไม่มีการส่งไม้ต่อๆกันไปเป็นทอดๆ เวลาทำแผนเชิงกลยุทธ์เราจะตั้งเป้าหมายว่าจะไปที่ใด จากนั้นก็กำหนดขั้นตอนในการดำเนินการไปสู่เป้าหมายนั้นซึ่งรียกว่าการวางแผน ในการวางแผนนั้นเราคิดหลายชั้น ไม่ใช่คิดชั้นเดียว เหมือนการเล่นหมากรุกที่ต้องคิดล่วงหน้าหลายตา จากนั้นก็เดินไปตามแผนที่วางไว้ เมื่อเจอปัญหาก็ต้องรู้จักยืดหยุ่นพลิกแพลงไปตามสถานการณ์ ไม่ใช่เดินอาหัวชนกำแพง มีการถอยตั้งหลักหรือเปลี่ยนเส้นทางเดิน แต่ไม่เคยลืมเป้าหมาย เราต้องเอาชนะปัญหาอุปสรรคให้ได้ และไปให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ ดังคำกล่าวของประธานาธิบดีธีโอดอร์ รูสเวลต์ (Theodore Roosevelt) ที่ว่า ตาดูดาว เท้าติดดิน (Keep your eyes on the stars and your feet on the ground)สองตามองที่ดวงดาวคือเป้าหมาย ส่วนสองเท้าก็เดินไปตามแผนเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายนั้น

เราเห็นวางแผนเชิงกลยุทธ์ในการเล่นบิลเลียด ผู้เล่นต้องวางแผนตีกระทบลูกหนึ่งเพื่อให้วิ่งไปกระทบลูกไหนต่อไปลงช่องไหน หรือทำให้ตามแทงได้ง่ายขึ้น นี่คือการคิดเชิงกลยุทธ์ที่ทำอะไรอย่างมีเป้าหมายเสมอ

ถ้า ท่านดูการแข่งขันฟุตบอลให้ดูด้วยว่าแต่ละฝ่ายเขาวางแผนกันอย่างไร เป้าหมายอยู่ที่การทำประตูในเขตแดนของคู่ต่อสู้ ผู้เล่นต้องส่งลูกฟุตบอลจากกองหลังไปกองกลางจนถึงศูนย์หน้าเพื่อให้ยิงเข้า ประตูฝ่ายตรงข้าม นักเตะแต่ละคนส่งลูกต่อกันเป็นทอดๆรู้จักหลบหลีกคู่ต่อสู้ ต้องรู้จักวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของคู่ต่อสู้ว่าอยู่ตรงไหน พยายามหลีกเลี่ยงจุดแข็งและเข้าโจมตีจุดอ่อน นั่นคือการพลิกแพลงตามสถานการณ์

ใครที่เล่นหมากรุกย่อมรู้จักคิดวางแผนล่วงหน้าว่าถ้าเราเดินไปตานี้ เขาจะเดินไปตาไหน เราจะรุกฆาตเขาได้หรือไม่ ถ้าเรายอมเสียเบี้ยให้เขาไปหนึ่งตัว เราจะกินม้าหรือโคนของเขาได้หรือไม่  นี่คือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ที่ต้องมีการคิดวางแผนล่วงหน้าเสมอ

การบริหารเชิงกลยุทธ์นี้มีอยู่แล้วในพระพุทธศาสนาซึ่งผมเรียกว่าการบริหารตามแนวอริยสัจ ๔ ซึ่งเริ่มจากการตระหนักรู้ปัญหาหรือทุกข์ขององค์กร เราตรวจดูว่าอะไรเป็นสมุทัยคือสาเหตุของปัญหา เราคาดว่าปัญหานั้นแก้ได้หรือไม่ซึ่งเป็นการเก็งนิโรธ จากนั้นเราวางแผนว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร ซึ่งตรงกับอริยสัจข้อที่ ๔ คือมรรค กระบวนการทั้งหมดนี้เป็นการบริหารเชิงกลยุทธ์

เมื่อศึกษาพุทธประวัติ เราพบว่าพระพุทธเจ้าทรงเป็นนักวางแผนชั้นเยี่ยม  เมื่อ จะประกาศพระศาสนาในปีแรกหลังตรัสรู้ พระพุทธองค์ทรงประสงค์จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในแคว้นมคธ แต่ก็ไม่ตรงไปเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสารแห่งแคว้นมคธในทันที  ทรง เห็นว่าพระเจ้าพิมพิสารและชาวมคธเคารพนับถือชฎิลสามพี่น้อง พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปปราบพยศของชฎิลทั้งสามพร้อมลูกศิษย์อีก ๑,๐๐๐ คนจนกระทั่งทุกคนขอบวชเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา จากนั้นจึงเสด็จไปพร้อมพระภิกษุเหล่านั้นเพื่อเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสาร   เมื่อ พระเจ้าพิมพิสารและชาวมคธเห็นว่าชฎิลสามพี่น้องที่พวกตนเคารพนับถือกลายเป็น ศิษย์ของพระพุทธเจ้าแล้ว จิตใจของคนเหล่านั้นก็อ่อนลงพร้อมที่จะฟังเทศน์ของพระพุทธเจ้า หลังจากพระพุทธเจ้าเทศน์จบลง  พระเจ้าพิมพิสารได้ดวง ตาเห็นธรรม ชาวมคธเหล่านั้นปฏิญาณตนเป็นพุทธมามกะ นี่แสดงให้เห็นว่า แม้พระพุทธเจ้าตั้งเป้าหมายไว้ตั้งแต่ต้นว่าจะเทศน์โปรดพระเจ้าพิมพิสารและ ชาวมคธ แต่ก็ทรงวางแผนดึงชฎิลสามพี่น้องมาเป็นศิษย์ให้ได้ก่อนซึ่งจะช่วยให้เทศน์ โปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวมคธได้โดยง่าย นี่คือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของพระพุทธเจ้า

การผลักดันเพื่อให้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

พวกเราลูกศิษย์พระพุทธเจ้าได้วางแผนเชิงกลยุทธ์เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยเป็นขั้นเป็นตอนส่งต่อกันเป็นทอดๆ ดังต่อไปนี้

ขั้นที่ ๑ วางแผนดำเนินการให้มหาจุฬาฯมีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นของตนเอง เพื่อให้มีสถานะเป็นนิติบุคคล

ขั้นที่ ๒ เมื่อมหาวิทยาลัยเป็นนิติบุคคลแล้วก็สามารถเป็นเจ้าของที่ดินและดำเนินการก่อสร้างสำนักงานใหญ่บนที่ดินนั้นได้

ขั้นที่ ๓ เพื่อให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการสร้างสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัย เราจึงกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะให้มหาจุฬาฯเป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานาชาติ เช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต

การดำเนินการในขั้นแรกเพื่อให้มีพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยเป็นของตนเองนั้น เริ่มขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเมื่อเราทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ ๕ ปี เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ ในแผนพัฒนาฉบับแรกนี้ เราเขียนเป็นนโยบายไว้ว่า “พัฒนามหาวิทยาลัยให้มีสถานภาพสมบูรณ์ตามกฎหมาย” และกำหนดเป็นมาตรการรองรับไว้ว่า “ดำเนินการให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย”

ในการบริหารเชิงกลยุทธ์นั้น เราต้องตระหนักว่าเมื่อเรามีทรัพยากรน้อยและมีเวลาจำกัด เราต้องระดมสรรพกำลังเท่าที่มีอยู่ไปสู่เป้าหมายที่เราเห็นว่าสำคัญที่สุด และในช่วงปี ๒๕๓๕-๒๕๓๙ นั้น เราเห็นว่าการดำเนินการให้ตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัยเป็นเรื่องที่สำคัญเป็นอันดับต้น ตลอดช่วงแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ ๕ ปี(๒๕๓๕-๒๕๓๙)นั้น เราทุ่มเทดำเนินการในเรื่องนี้เป็นหลักจนกระทั่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยสำเร็จออกมาในปี ๒๕๔๐

ในช่วงเวลาห้าปีที่ว่านี้เราเกือบไม่ทำอะไรเลยนอกจากเรื่องผลักดันพระราช บัญญัติมหาวิทยาลัย เป้าหมายหลักของเราคือให้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯให้จงได้ และในที่สุดเราก็ทำสำเร็จในปี ๒๕๔๐ เหตุที่เราทำได้ก็เพราะเราทำอย่างมีแผนกลยุทธ์  นี่ แหละที่ผมบอกว่าเราทำเป็นขั้นเป็นตอนกว่าจะมาถึงวันนี้ เราประสบความสำเร็จด้วยพรแสวงไม่ใช่พรสวรรค์ เราทำงานหนักมากในการไปชี้แจงเรื่องพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯเพื่อ ให้ผ่านด่านแต่ละด่านตั้งแต่กรมการศาสนาในสมัยนั้นไปจนถึงวิปรัฐบาล เราเข้าไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร คณะกรรมาธิการวุฒิสภาและคณะกรรมาธิการร่วมของทั้งสองสภา การที่ผมเองได้รับมอบหมายจากมหาวิทยาลัยให้เป็นหัวหน้าคณะเข้าไปชี้แจงในทุก ด่านนั้นทำให้ในตอนนั้นผมจำพระราชบัญญัติมหาจุฬาฯได้เกือบทุกมาตรา

ในการทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัยระยะ ๕ ปี เมื่อพ.ศ. ๒๕๓๕ เป็นเหตุให้เราต้องทำ SWOT Analysis นั่นคือการวิเคราะห์จุดเด่น(Strengths) จุดด้อย (Weakness) โอกาส (Opportunity) และอุปสรรค (Threat) ของมหา จุฬาฯ การวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของการทำแผนพัฒนามหาวิทยาลัย เราได้นำข้อมูลจากการวิเคราะห์ไปประกอบการชี้แจงให้พระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาฯผ่านด่านทุกด่านดังกล่าวมา

อะไรคือจุดเด่นที่สุดของมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย คำตอบก็คือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ได้ทรงสถาปนาไว้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๐ ยิ่งไปกว่านั้น องค์ผู้สถาปนายังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้ใช้พระปรมาภิไธยของพระองค์เป็นชื่อสถาบันว่า “มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๙ เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติแด่พระองค์เอง

ควรกล่าวไว้ ณ ที่นี้ด้วยว่า พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ ทรงสถาปนาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อพ.ศ. ๒๔๕๙ เพื่อเป็นอนุสรณ์เฉลิมพระเกียรติแด่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕

จุดเด่นประการที่ ๒ ของมหาจุฬาฯ มาจากพระราชหัตถเลขาของรัชกาลที่ ๕ ที่ทรงมีถึงเจ้าพระยาปภากร ความตอนหนึ่งว่า “ที่นี่จะสร้างขึ้นสำหรับส่วนมหานิกาย จะให้ชื่อว่ามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย” เพราะ เหตุนี้ พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺตเถร) อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุในขณะนั้นได้เรียกประชุม พระเถระนุเถระฝ่ายมหานิกาย ๕๗ รูปที่วัดมหาธาตุ เมื่อวันที่ ๙ มกราคม ๒๔๙๐ ได้ข้อยุติร่วมกันให้เปิดการศึกษามหาจุฬาฯในรูปแบบมหาวิทยาลัย จึงได้ประกาศใช้ระเบียบมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช ๒๔๙๐  ผมดีใจที่ท่านเจ้าคุณพระราชเวที (พร) เป็นต้นเสียงสวดชะยันโตตอนที่ท่านเจ้าคุณพระพิมลธรรมประกาศเรื่องนี้จบลง

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ ทรงมีพระราชประสงค์ให้มหา จุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาสำหรับพระสงฆ์มหานิกายนี้ถือว่าเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยประการหนึ่ง เพราะเท่ากับว่าจำนวนประชากรสงฆ์ที่ มหาวิทยาลัยจะต้องรับภาระดูแลด้านการศึกษานั้นมีจำนวนมากกว่าสามแสนรูป ด้วยเหตุนี้เองมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก และเพื่อให้คงความเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกเอาไว้ สภามหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จึงได้มีมติให้มหาวิทยาลัยรับพระสงฆ์ และคฤหัสถ์เข้าศึกษาในอัตราส่วน ๗๐/๓๐ นั่นคือให้รับนิสิตฝ่ายพระภิกษุสามเณรร้อยละ ๗๐ และรับนิสิตฝ่ายคฤหัสถ์ร้อยละ ๓๐

อุปสรรคในการเสนอพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย

การผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยใช่ว่าจะราบรื่นเสียทีเดียว เคยมีความพยายามก่อนหน้านี้หลายครั้งแต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ และมีอยู่ครั้งเดียวเท่านั้นที่ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยได้ผ่านวาระที่ ๑ ขั้นรับหลักการของสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๑๘ ใน สมัยที่ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี ขณะที่ร่างพระราชบัญญัติอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมาธิการก็ได้มีการ ยุบสภาไปเสียก่อน  ร่างพระราชบัญญัตินี้จึงเป็นอันตกไป หลังจากนั้นรัฐบาลก็ไม่เคยเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าสภาอีกเลยจนกระทั่งเรามาเริ่มต้นผลักดันกันใหม่ในปี ๒๕๓๕

อุปสรรคสำคัญต่อการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเข้าสภาในปี ๒๕๑๘ ก็คือมติข้อโต้แย้งจากสังคมในสมัยนั้น ๓ ประการ ดังนี้

๑.      มีข้อห่วงใยว่า ถ้าพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยรับรองปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งนี้ก็จะเป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรลาสิกขากันมากขึ้น

๒.    การรับรองสถานภาพและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์จะเป็นสิ่งจูงใจเพื่อให้คนบวชเพียงเพื่อต้องการเอาปริญญา ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการบวช

๓.     การรับรองสถานภาพและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์จะเป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรเป็นผู้เอาเปรียบสังคม

เมื่อถึงปี ๒๕๓๕ ที่เราเริ่มดำเนินการผลักดันพระ ราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยนั้น ข้อโต้แย้งจากสังคมทั้ง ๓ ประการดูจะคลายน้ำหนักลงไปเป็นอันมาก โดยเฉพาะข้อโต้แย้งที่ ๑ ที่ว่าการรับรองสถานภาพและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์จะทำให้พระภิกษุสามเณรลา สิกขากันมากขึ้นนั้นเป็นอันหมดความหมายไปโดยปริยายเมื่อได้มีการตราพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ ที่รับรองปริญญาแต่ไม่รับรองสถานภาพของมหาวิทยาลัยสงฆ์

ข้อโต้แย้งที่ ๒ ที่ว่า การ รับรองสถานภาพและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์จะเป็นสิ่งจูงใจเพื่อให้คนบวช เพียงเพื่อต้องการเอาปริญญานั้นก็ไม่มีน้ำหนักในปี ๒๕๓๕ เพราะในปีนั้นสถาบันอุดมศึกษาได้ผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด โดยเฉพาะสถาบันราชภัฎได้กลายเป็นสถานศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาไปแล้ว ถ้าผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษาต้องการปริญญา พวกเขาคงไม่ลงทุนมาบวชเรียน เพื่อต้องการเอาปริญญาจากมหาวิทยาลัยสงฆ์ คนเหล่านั้นคงเลือกที่จะเข้าเรียนที่สถาบันราชภัฎมากกว่า

ดังนั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๓๕ เป็นต้นมา มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงลดบทบาทในการเป็นสถานศึกษาสำหรับผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา เราเน้นบทบาทใหม่ในการเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับผู้สนใจศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนา ดังที่ปรัชญามหาวิทยาลัยในปัจจุบันมีอยู่ว่า จัดการศึกษาพระพุทธศาสนา บูรณาการกับศาสตร์สมัยใหม่ พัฒนาจิตใจและสังคม

นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยยังมีพันธกิจสำคัญคือการสร้างศาสนทายาทดังที่เราได้กำหนดให้มีแผนงานส่งเสริมพระพุทธศาสนาและทะนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมไว้ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัย ๒๕๓๕-๒๕๓๙ และมีมาตรการรองรับข้อหนึ่งว่า “จัด ฝึกอบรมบุคลากรของสถาบันสงฆ์ เช่น พระสังฆาธิการ พระธรรมทูต พระวิปัสสนาจารย์ พระจริยานิเทศก์ พระปริยัตินิเทศก์ และครูสอนพระปริยัติธรรมให้สามารถส่งเสริมพระพุทธศาสนาและทะนุบำรุงศิลป วัฒนธรรม” กว่าคณะสงฆ์โดยรวมจะไว้วางใจให้มหาวิทยาลัยพัฒนาบุคลากรสงฆ์ เราต้องรอมาจนถึงปี ๒๕๕๐ จึงสามารถทำหลักสูตรประกาศนียบัตรบริหารกิจการคณะสงฆ์ (ป.บส.)ให้เป็นที่นิยมของพระสังฆาธิการทั่วประเทศ ปัจจุบันเราเปิดหลักสูตรป.บส. สำหรับพระสังฆาธิการกระจายอยู่กว่า ๔๐ จังหวัดทั่วประเทศ และได้ทำหลักสูตรการจัดการเชิงพุทธเพื่อพัฒนาพระสังฆาธิการอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ระดับปริญญาตรีจนถึงระดับปริญญาเอก

สำหรับข้อโต้แย้งที่ ๓ ที่ว่าการ รับรองสถานภาพและปริญญาของมหาวิทยาลัยสงฆ์จะเป็นเหตุให้พระภิกษุสามเณรเป็น ผู้เอาเปรียบสังคมนั้น เราสามารถชี้แจงอย่างเสียงดังฟังชัดว่า พระบัณฑิตของเราไม่ได้เป็นผู้เอาเปรียบสังคมแต่อย่างใด ทั้งนี้เพราะมหาวิทยาลัยมีประเพณีที่ถือปฏิบัติมากว่า ๓๐ ปีแล้วว่าผู้ เรียนจบตามหลักสูตรปริญญาตรีสี่ปีของมหาวิทยาลัยยังไม่สามารถรับปริญญาได้จน กว่าจะได้ปฏิบัติศาสนกิจอีกหนึ่งปีเต็ม นั่นหมายความว่า หลังจากเรียนครบสี่ปีตามหลักสูตรปริญญาตรีแล้ว นิสิตต้องออกไปปฏิบัติงานเพื่อสังคมอีก ๑ ปีโดยไม่อาจเรียกร้องค่าตอบแทนใด ๆ เมื่อปฏิบัติงานครบ ๑ ปีแล้วจึงมีสิทธิ์รับปริญญา ด้วยเหตุนี้พระนิสิตของเราจึงถูกฝึกหัดให้เป็นผู้มีจิตอาสาพร้อมเสียสละ เพื่อส่วนรวม

คำชี้แจงของเราได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต่างจังหวัด ที่ได้เห็นผลงานของพระนิสิตปฏิบัติศาสนกิจมาอย่างต่อเนื่อง เมื่อดูลาดเลาล่วงหน้าแล้ว เราเชื่อว่าร่างพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยน่าจะผ่านสภาไปได้เพราะข้อโต้แย้งจาก สังคมทั้งสามข้อลดน้ำหนักไปมาก แต่มีปัญหาใหม่เกิดขึ้นนั้นคือรัฐบาลลังเลที่จะเสนอร่างพระราชบัญญัติ มหาวิทยาลัยสงฆ์เข้าสภาเพราะมีเสียงพูดกันว่าเป็นพระราชบัญญัติอาถรรพ์ที่เสนอเข้าสภาทีไรเป็นอันต้องยุบสภาทุกทีไป

การผลักดันพระราชบัญญัติมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยครั้งนี้เริ่มต้นในเดือนธันวาคม ๒๕๓๕ สมัยนายกรัฐมนตรีชวน หลีกภัย การดำเนินการในช่วงต้นมีอุปสรรคมากเพราะกรมการศาสนาในสมัยนั้นไม่ยอมปล่อย ให้มหาจุฬาฯเป็นอิสระจากการกำกับดูแลของกรม ดังจะเห็นได้จากการที่กรมการศาสนาชิงเสนอให้มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นหลักแทนที่จะให้มีการเสนอร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ ผู้อำนวยการกองศาสนศึกษาของกรมการศาสนาในสมัยนั้นได้แถลงไว้เมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๓๗ ว่า “ควรจะมีการแก้ไขปรับปรุงพระราชบัญญัติกำหนด วิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพระพุทธศาสนา พ.ศ. ๒๕๒๗ เป็นหลัก เพราะนโยบายของท่านรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ มหาวิทยาลัยสงฆ์จะไม่มีสองมหาวิทยาลัยอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เพราะขณะนี้จะมีมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนาแห่งโลกเกิดขึ้นโดยตั้งงบประมาณไว้ แล้ว”

ความล้มเหลวและความสำเร็จในการผลักดันพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย

กว่าเราจะผ่านด่านกรมการศาสนามาได้เวลาก็ล่วงเลยมาจนกระทั่งถึงวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๓๗ ดร.รุ่ง แก้วแดง อธิบดีกรมการศึกษานอกโรงเรียนในสมัยนั้นได้เข้ามาช่วยปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ให้พร้อมที่จะเสนอกระทรวงศึกษาธิการและนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี

วันที่ ๓ มกราคม ๒๕๓๘ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระ ราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ในช่วงที่รอการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกาอยู่นี้ก็มีการประกาศยุบสภา

วันที่ ๑๖ มกราคม ๒๕๓๙ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีบรรหาร ศิลปอาชามีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร ต่อมา สภาผู้แทนราษฎรได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ เมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๓๙ และตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาเรื่องนี้ ผมเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการจนกระทั่งเสร็จเรียบร้อยก็ มีการประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๕๓๙ ร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์จึงเป็นอันตกไปอีก

ต่อมา ในวันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๓๙ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ นายกรัฐมนตรีมีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้วเสนอเข้า สู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในทันทีเพราะเสียงพูดว่าเป็นพระราชบัญญัติ อาถรรพ์เริ่มหนาหู จนกระทั่งสภาผู้แทนราษฎรมีมติรับหลักการในวาระที่ ๑ เมื่อวันที่ ๘ มกราคม ๒๕๔๐ และมีมติเห็นชอบในวาระที่ ๒ และที่ ๓ เมื่อวันที่ ๑๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐  จะเห็นได้ว่าขั้น ตอนการพิจารณาคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎรเป็นไปอย่างรวดเร็ว ผมเป็นผู้แทนมหาวิทยาลัยไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการอีกเช่นเคย

วันที่ ๒๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๐ ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติรับหลักการร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์แล้ว ตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณากลั่นกรองที่ผมต้องเข้าไปชี้แจงอีก

ต่อมาวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๔๐ ที่ประชุมวุฒิสภาได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์โดยแก้ไขตาม ข้อเสนอของคณะกรรมาธิการจึงเป็นเหตุให้ต้องส่งเรื่องกลับมาที่สภาผู้แทน ราษฎร

วันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๐ สภาผู้แทนราษฎรมีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วมของสองสภาที่ผมต้องเข้าไปชี้แจง อีกเช่นเคย จากนั้น วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๐ สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์ตามด้วยวุฒิสภา ที่มีมติเห็นชอบเช่นเดียวกันเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๔๐ อันมีผลให้ภารกิจของพวกเราในการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ สำเร็จลุล่วงบริบูรณ์หลังจากที่พวกเราดำเนินการในเรื่องนี้มา ๕ ปีเต็ม เป็นช่วง ๕ ปีที่เราใจหายใจคว่ำเพราะมีการยุบสภา ๒ ครั้งและเปลี่ยนนายกรัฐมนตรีถึง  ๓ คน

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลา ๕ ปีที่เราดำเนินการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกร ณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ จนสำเร็จนั้นเปรียบเหมือนเวลา ๕ ปีแรกแห่งการเตรียมความพร้อมอยู่ใต้ดินของไผ่โมโซ่ และหลังจาก ๕ ปีผ่านไปแล้วไผ่โมโซ่เติบโตเหนือพื้นดินอย่างรวดเร็ว นั่นก็เหมือนกับช่วงที่มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเจริญเติบโตอย่าง รวดเร็วที่วังน้อยแห่งนี้หลังจากมีพระราชบัญญัติเป็นของตนเอง

ก่อนหน้าที่จะมีการตราพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ มหาวิทยาลัยไม่สามารถเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินได้ เมื่อมีผู้บริจาคที่ดินก่อนนั้นเราโอนโฉนดให้วัดมหาธาตุและมูลนิธิมหาจุฬาลง กรณราชวิทยาลัยถือครอบครองแทน มาตรา ๖ แห่งพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ได้บัญญัติให้มหาวิทยาลัยมีสถานภาพเป็น นิติบุคคลซึ่งสามารถมีกรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินได้

วิสัยทัศน์ในการสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อย

เจ้าภาพรายแรกที่บริจาคที่ดินผืนใหญ่ให้มหาวิทยาลัยหลังจากที่เรามีพระราชบัญญัติแล้วก็คือนายแพทย์รัศมี คุณหญิงสมปอง วรรณิสสรที่ ได้ดำเนินการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินจำนวน ๘๔ ไร่ ๑ งาน ๓๗ ตารางวา ณ อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ถวายมหาวิทยาลัยเมื่อวันที่ ๒๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ เจ้า ภาพเก็บที่ดินผืนนี้ไว้สำหรับสร้างวิทยาลัยแพทย์ของโรงพยาบาลสยาม แต่ได้เปลี่ยนใจมาถวายเป็นสถานที่ก่อสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์ คุณหญิงสมปองได้ตั้งเงื่อนไขในการบริจาคที่ดินไว้ว่า เมื่อรับถวายที่ดินแล้ว มหาวิทยาลัยต้องเริ่มดำเนินการก่อสร้างทันที อย่าเก็บที่ดินไว้เฉย ๆ

ผมในฐานะอธิการบดีได้รับปากกับเจ้าภาพว่าจะดำเนินการก่อสร้างมหาวิทยาลัยโดย ไม่ชักช้าจึงระดมผู้เชี่ยวชาญมาออกแบบเพื่อให้พร้อมที่จะก่อสร้างทันทีที่หา เจ้าภาพบริจาคเงินค่าก่อสร้างได้ เรากำหนดวงเงินค่าก่อสร้างไว้หนึ่งพันล้านบาท ในช่วงนั้นเราหาเจ้าภาพยากมากๆเพราะเป็นช่วงที่ประเทศไทยกำลังกู้เงินจากกอง ทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF (International Monetary Fund) มาฟื้นฟูเศรษฐกิจฟองสบู่ที่แตกไปเพราะการลดค่าเงินบาทในปี ๒๕๔๐ ซึ่งเป็นปีที่เราได้พระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมานั่นเอง

ยุทธศาสตร์ที่เรานำมาใช้ในการระดมทุนช่วงนั้นคือเราตั้งเป้าหมายว่าเราจะสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของโลกเหมือน มหาวิทยาลัยนาลันทาของอินเดียในอดีตที่คนจากทั่วโลกมาศึกษาเล่าเรียน แม้แต่พระถังซัมจั๋งจากประเทศจีนก็เรียนอยู่ที่มหาวิทยาลัยนาลันทานานถึง ๕ ปี

วิสัยทัศน์ของผมก็คือสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยให้เป็นมหาวิทยาลัยพระพุทธศาสนานานา ชาติเหมือนมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต เพื่อจูงใจให้คนเห็นคล้อยตามวิสัยทัศน์นี้ ผมได้ขอให้พระมหาสมจินต์ สมฺมาปญฺโญ (ปัจจุบันเป็นพระศรีคัมภีรญาณ) รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการเขียนหนังสือเรื่องจากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ ผมได้เขียนคำปรารภของหนังสือนี้ไว้ตอนหนึ่งว่า งานก่อสร้างอาคารมหาวิทยาลัยแห่งใหม่เป็นงานใหญ่ที่ต้องใช้กำลังทรัพย์และกำลัง สติปัญญามาก ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่าย ทั้งในส่วนของผู้บริหาร คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยและผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป การจัดพิมพ์หนังสือเรื่องจากนาลันทาถึงมหาจุฬาฯ เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความรู้สึกสำนึกร่วมกันในการที่จะช่วยกันส่งเสริมงานนี้ให้สำเร็จลุล่วงไปตามวัตถุประสงค์

หนังสือนี้จัดพิมพ์ครั้งแรกเนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารเสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยเมื่อวันที่ ๑๓ ธันวาคม ๒๕๔๒

ผมได้สั่งให้จัดพิมพ์หนังสือนี้เป็นครั้งที่ ๒ เนื่องในวโรกาสที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมารเสด็จฯทรงประกอบพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยเมื่อวันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๓

ผมใช้สื่อมวลชนให้เป็นประโยชน์ในการระดมทุนสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อย ในช่วงนั้นผมหายใจเข้าออกเป็นเรื่องการก่อสร้างมหาจุฬาฯ เมื่อใดที่ผมไปพูดบรรยายธรรมทางทางวิทยุและโทรทัศน์ ผมเป็นต้องชักชวนให้คนมาบริจาคสนับสนุนการก่อสร้างมหาวิทยาลัยทุกครั้ง ดังที่ครั้งหนึ่งผมแสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง “วันวิสาขบูชาคือวันสำคัญของโลก” ที่ท้องสนามหลวง ในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่  ๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๔  ถ่าย ทอดสดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งผมได้พูดถึงการสร้างมหาจุฬาฯให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนา ของโลกไว้ดังต่อไปนี้

พระ สงฆ์ทั้งหลายต้องช่วยกันชักชวนญาติโยมให้ทำบุญอุปถัมภ์การศึกษาสงฆ์ ฆราวาสบางคนถามว่า อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยไปสร้างอาคารเรียนที่วังน้อย ทำไม ขอบอกว่าที่วังน้อยจะให้เป็นสำนักงานใหญ่ของมหาวิทยาลัย เพราะเรามีวิทยาเขตอยู่ทั่วประเทศ ต่อไปคนทั่วโลกที่สนใจพระพุทธศาสนาจะมาเรียนพระพุทธศาสนากันที่นี่ การสร้างมหาวิทยาลัยสงฆ์เป็นการลงทุนเรื่องการศึกษาจึงเป็นเรื่องที่สมควร ช่วยเหลือ เพราะฉะนั้น   ขอให้ท่านทั้งหลายช่วยทำบุญอุปถัมภ์การศึกษาสงฆ์ ซึ่งถือว่าเป็น วิเจยฺย ทานํ  คือ เลือกพิจารณาให้ทานในที่ที่จะมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้าง และในวันวิสาขบูชาในแต่ละปี ขอให้ทอดผ้าป่าช่วยการศึกษาสงฆ์ ช่วยมหาวิทยาลัยสงฆ์”

ในช่วงแรกของการระดมทุนนั้น แม้ผมจะพูดชักชวนมากมายขนาดไหน คนทั่วไปก็ยังไม่กล้าบริจาคเงินก้อนโต เขาคงเกรงจะเอาเงินมาจมกับโครงการพันล้านในทุ่งวังน้อย อภิมหาโครงการอย่างนี้ไม่มีใครเขาทำกันในยุคที่เศรษฐกิจบ้านเมืองกำลังตกต่ำ ผมจำได้ว่า พระเถระรูปหนึ่งแห่งวัดมหาธาตุถึงกับเตือนผมด้วยความหวังดีว่า “ถ้า ผมเป็นท่านอธิการบดี ผมจะไม่กล้าประกาศเปิดตัวโครงการก่อสร้างมหาจุฬาฯที่ต้องใช้เงินเป็นพันล้าน บาทอย่างนี้ ถ้าประกาศไปแล้วผมคงนอนไม่หลับเพราะไม่รู้จะหาเงินที่ไหนมาสร้างตามที่ ประกาศไว้” ถ้าท่านไม่เกรงใจท่านคงจะพูดต่อว่า ผู้ที่จะทำอภิมหาโครงการระดับนี้ต้องมีอายุพรรษามาก มีบารมีสูงหรือไม่ก็เป็นเกจิอาจารย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แล้วอธิการบดีมหาจุฬาฯเป็นใครจึงกล้าหาญชาญชัยขนาดนี้

บางทีในตอนแรกเราอาจจะดูเหมือนพวกฝันเฟื่องก็เป็นได้ เช่นตอนที่พวกเราประกาศเปิดตัวโครงการก่อสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยผ่านสื่อ ทุกประเภท โดยกำหนดให้วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๔๓ เป็นวันระดมทุนทอดผ้าป่า ๘๔,๐๐๐ กองๆ ละ ๑๐,๐๐๐ บาท เรากะว่าจะได้เงินอย่างน้อย ๘๐๐ ล้านบาท แต่ปรากฏว่าเราได้เงินจากการทอดผ้าป่าครั้งนั้นแค่  ๖  ล้านบาท มันเป็นไปไม่ได้เลยที่อภิมหาโครงการหนึ่งพันล้านบาทจะเริ่มต้นได้ด้วยเงินแค่นั้น

การวางแผนเชิงกลยุทธ์ผลิดอกออกผล

อย่างไรก็ตาม พวกเราได้พยายามหาทางสร้างมหาวิทยาลัยกันต่อไปแม้ความสำเร็จดูจะไกลเกิน เอื้อม ในระยะแรกนั้นรัฐบาลยังไม่ได้เข้ามาช่วยด้านงบประมาณ เพราะยังอยู่ในช่วงพิจารณาว่าจะสนับสนุนดีหรือไม่ เนื่องจากเรายังไม่มีเงินบริจาคเป็นทุนประเดิมจากเอกชน  ดัง นั้น ผู้บริจาครายแรกจึงสำคัญที่สุด เพราะเมื่อมีผู้บริจาครายแรกก็จะมีรายอื่นๆ ตามมา ถึงตอนนั้น รัฐบาลจึงจะให้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้าง นี่คือการวางแผนเชิงกลยุทธ์ของเรา

เราถือว่า เอกชนรายแรกผู้จะเข้ามาช่วยบริจาคให้งานก่อสร้างมหาจุฬาฯเริ่มตั้งไข่และ เดินหน้าไปได้มีความสำคัญมากต่อความสำเร็จของพวกเรา ใครเล่าจะเป็นเทวดาเหาะลงมาโปรดพวกเรา

เราต้องจารึกไว้ตรงนี้ถึงความมีน้ำใจและความกล้าหาญชาญชัยของผู้บริจาครายแรก ที่กล้าเข้ามารับเป็นเจ้าภาพสร้างอาคารหลังแรกให้เราโดยที่ยังไม่มีความมั่น ใจว่าอภิมหาโครงการนี้จะสำเร็จหรือไม่

เหตุให้มีผู้บริจาครายแรกท่านนี้ก็เนื่องมาจากวันหนึ่งเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร อดีตเลขาธิการมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้เรียกผมในฐานะอธิการบดีของมหาจุฬาฯไปพบและแจ้งให้ทราบว่าเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ มีความประสงค์จะสร้างอาคารหนึ่งหลังถวายมหาจุฬาฯที่วังน้อย

ผมรีบไปกราบพบเจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ ที่วัดปากน้ำภาษีเจริญ เจ้าประคุณสมเด็จฯถามผมว่ามีอาคารอะไรจะให้ท่านช่วยสร้างได้บ้าง ผมนำแบบแปลนอาคาร ๒ หลังไปให้ท่านพิจารณา คือ อาคารพิพิธภัณฑ์พระไตรปิฎกราคา ๓๙ ล้านบาท กับอาคารหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศราคา ๗๕ ล้านบาท ท่านชี้ไปที่แบบแปลนอาคารหอสมุดและเทคโนโลยีสารสนเทศแล้วกล่าวว่าผมจะสร้าง อาคารนี้ให้หนึ่งหลัง

ดังนั้น เจ้าภาพสร้างอาคารรายแรก ก็คือ เจ้าประคุณสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้า อาวาสวัดปากน้ำภาษีเจริญ การที่เจ้าประคุณสมเด็จฯได้ประกาศว่าจะช่วยสร้างอาคารหลังใหญ่ให้หนึ่งหลัง ทำให้คนทั่วไปเชื่อมั่นว่าอภิมหาโครงการของเราไม่แท้งแน่นอน

เมื่อ ดร. ยุวรี เอื้อกาญจนวิไล ทราบข่าวว่ามีผู้เจ้าภาพสร้างประเดิมให้หนึ่งหลังแล้วก็มาแสดงความจำนงขอสร้างหอพิพิธภัณฑ์พระไตรปิฎก จากนั้น พระราชพิพัฒน์โกศล เจ้าอาวาสวัดศรีสุดารามกับพวกเราชาวมหาจุฬาฯก็ช่วยกันสร้างหลังที่สามคือ สำนักงานอธิการบดี เมื่ออาคารสามหลังนี้มีเจ้าภาพเรียบร้อยแล้ว รัฐบาลจึงประกาศให้งบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนรวมและอาคารหอพัก นิสิตแก่มหาวิทยาลัย

ในเวลาไล่เลี่ยกันนั้น พระวิสุทธาธิบดี (ปัจจุบันเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์) เจ้าอาวาสวัดสุทัศนเทพวรารามรับเป็นเจ้าภาพสร้างอาคารหอฉัน ๑ หลัง คุณศักดิ์ชัย คุณสุดาวรรณ เตชะไกรศรีรับเป็นเจ้าภาพสร้างอาคารมหาจุฬาบรรณาคาร ๑ หลัง

การ ก่อสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยมีสภาพไม่ต่างจากขบวนรถไฟที่วิ่งออกจากสถานี ตอนแรกที่หัวรถจักรเริ่มลากตู้โดยสารออกจากสถานีนั้น น้ำหนักตู้โดยสารจะถ่วงดึงให้ขบวนรถไฟเคลื่อนตัวไปอย่างช้าๆ แต่เมื่อขบวนรถไฟแล่นไปสักระยะหนึ่ง ตู้โดยสารเริ่มไหลลื่นไปตามหัวรถจักรโดยไม่ต้องมีการออกแรงดึงมากนัก ตอนนี้แหละที่ขบวนรถไฟแล่นฉิวไปเลย

บารมีธรรมของหลวงพ่อปัญญานันทะ

การก่อสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยแล่นฉิวไปแบบสบายๆก็เพราะได้บารมีธรรมของหลวงพ่อปัญญานันทะหรือพระพรหมมังลาจารย์แห่งวัดชลประทานรังสฤษดิ์มาสนับสนุนส่งเสริมพวกเราในช่วงนี้เอง

หลวงพ่อปัญญานันทะได้ข่าวการสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยจากสื่อมวลชนก็ให้ลูกศิษย์คือ ดร.ชาติชาย พิทักษ์ธนาคมพามาดูผลงานของพวกเราที่วังน้อย โดยที่พวกเราไม่ได้มีโอกาสต้อนรับเพราะไม่ทราบว่าท่านมาเมื่อไร

ดร.ชาติชาย ซึ่งเป็นรองอธิการบดีของมหาจุฬาฯในขณะนั้นได้รายงานภายหลังว่าหลวงพ่อ ปัญญานันทะมาเห็นการก่อสร้างมหาวิทยาลัยในช่วงนั้นแล้วก็ออกปากว่า มหาวิทยาลัยออกใหญ่โตอย่างนี้ ทำไมสร้างกันเงียบๆ ให้อธิการบดีพาคณะผู้บริหารไปพบท่านหน่อย

พวกเราฟังแล้วพากันดีใจว่าหลวงพ่อปัญญานันทะคงจะช่วยสร้างอาคารสักหลังสองหลัง เป็นแน่ จึงรีบพากันไปกราบท่านในช่วงเข้าพรรษาปี ๒๕๔๕ ท่านถามถึงการก่อสร้างมหาจุฬาฯที่วังน้อยและบอกว่า “เอาอย่างนี้ก็แล้วกัน ผมจะช่วยพวกท่าน”

พวกเราก็ตั้งใจฟังว่าท่านจะช่วยเรื่องอะไร

ปัญญานันทภิกขุ
ปัญญานันทภิกขุ

หลวงพ่อปัญญานันทะ บอกว่า “ผมจะช่วยออกหัวคิดให้พวกท่านไปทำ คือให้พวกท่านจัดทอดผ้าป่าระดมทุนที่ท้องสนามหลวง จัดให้ใหญ่ มหาจุฬาฯตั้งอยู่ที่วัดมหาธาตุ เมื่อจัดงานทั้งทีอย่าให้อยู่ในกำแพงวัดมหาธาตุ ต้องออกไปจัดที่ท้องสนามหลวง

ฟังไอเดียหลวงพ่อแล้วพวกเราก็มึนเลย ตอนแรกนึกว่าท่านจะช่วยสร้างอาคารสักหลังหนึ่ง ที่ไหนได้ ท่านกลับวางแผนให้พวกเราทอดผ้าป่าที่ท้องสนามหลวง เรากังวลว่าจะหาคนที่ไหนมาร่วมงานเพราะสนามหลวงกว้างใหญ่ไพศาลมาก

เมื่อหลวงพ่อปัญญานันทะแนะนำพวกเราอย่างนี้ ด้วยความเคารพและศรัทธาในหลวงพ่อเสมอมา พวกเราก็กลับมาปรึกษาหารือกันและในที่สุดตกลงว่าจะจัดงานทอดผ้าป่าที่ท้องสนามหลวงเนื่องในวันปิยมหาราชปี ๒๕๔๕

เราจัดทอดผ้าป่าที่ท้องสนามหลวงตามที่หลวงพ่อปัญญานันทะแนะนำ เราได้ เงินจาการทอดผ้าป่าไม่มากนักแต่ได้ใจของหลวงพ่อปัญญานันทะมากกว่า พอทอดผ้าป่าเสร็จหลวงพ่อปัญญานันทะเรียกพวกเราไปพบอีก ท่านชอบใจที่เรากล้าทอดผ้าป่าที่ท้องสนามหลวง ท่านบอกว่า “ผมเคยเสนอมหา จุฬาฯมาตั้งนานแล้วว่าให้จัดทอดผ้าป่าที่ท้องสนามหลวง แต่ไม่มีใครกล้าทำ มีแต่อธิการบดีรูปนี้แหละที่ตัวเล็กแต่ใจใหญ่จึงกล้าทำ ตกลงว่า ผมจะช่วยสร้างหอพักอาคันตุกะให้มหาจุฬาฯหนึ่งหลัง”

หลวงพ่อปัญญานันทะได้แนะนำให้พวกเราซื้อที่ดินเพิ่มอีก ซึ่งเราก็ทำตามคือซื้อที่เพิ่มไปด้านหลังของโครงการอีก ๑๔๐ ไร่ ตอนแรกหลวงพ่อบอกว่าจะหาเงินมาจ่ายค่าที่ดินให้พวกเรา แต่พอหลวงพ่อหันไปสร้างอุโบสถกลางน้ำ ท่านก็ลืมเรื่องค่าที่ดินสนิท เราจึงต้องหาเงินมาจ่ายค่าที่ดินกันเอง

เหตุที่หลวงพ่อปัญญานันทะประกาศสร้างอุโบสถกลางน้ำก็เนื่องจากว่าวันหนึ่งท่าน เห็นสระขนาดใหญ่ ๑๖ ไร่ ลึก ๑๑ เมตรที่เกิดจากการที่เราขุดเอาดินไปถมที่ในโครงการ หลวงพ่อบอกว่าท่านจะสร้างอุโบสถกลางน้ำในสระนี้ จากนั้น ท่านก็มอบหมายให้คุณภิญโญ สุวรรณคีรีศิลปินแห่งชาติออกแบบอุโบสถกลางน้ำมาให้ผมดู แบบที่ผมเห็นครั้งแรกนั้นเป็นอุโบสถขนาดที่จุพระสงฆ์ได้ ๓๐๐ รูป

ผมบอกว่า มหาจุฬาฯต้องการอุโบสถขนาดใหญ่ที่จุพระสงฆ์ได้ ๓,๐๐๐ ถึง ๔,๐๐๐ รูป

คุณภิญโญย้อนผมว่า ถ้าอุโบสถใหญ่ขนาดนั้นจะไม่สวย อุโบสถที่สวยจะไม่ใหญ่ อุโบสถที่ใหญ่จะไม่สวย

ผมยืนยันว่า เราอยากได้อุโบสถกลางน้ำที่ทั้งใหญ่ทั้งสวย

คุณภิญโญถามผมว่าจะทำอย่างนั้นได้อย่างไร

ผมเสนอให้คุณภิญโญออกแบบอุโบสถเป็นสองชั้นโดยชั้นบนเป็นโรงอุโบสถสวยงามตามที่ คุณภิญโญออกแบบไว้แล้วนั้นแหละ ส่วนชั้นล่างให้ซ่อนรูปคือดูผิวเผินแล้วคล้ายเป็นลานอุโบสถธรรมดา แต่ที่จริงเป็นโรงอุโบสถขนาดใหญ่อยู่ชั้นล่างติดกับผิวน้ำในสระ

คุณภิญโญยอมกลับไปออกแบบใหม่ตามที่ผมเสนอ ผลที่ออกมาก็คืออุโบสถกลางน้ำที่ทั้งใหญ่ทั้งสวยงาม สามารถจุพระสงฆ์ได้  ๔,๐๐๐ รูปจึงเป็นอุโบสถใหญ่ที่สุดในโลก

แม้วันนี้หลวงพ่อปัญญานันทะจะถึงมรณภาพไปแล้ว พระธรรมวิมลโมลี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์รูปปัจจุบันได้สานต่อปณิธานของหลวงพ่อด้วยการ ก่อสร้างอุโบสถกลางน้ำต่อมาจากที่หลวงพ่อสร้างค้างไว้จนใกล้จะแล้วเสร็จ มีกำหนดยกช่อฟ้าอุโบสถในวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๓

สิ่งที่เราจะต้องทำต่อไปหลังจากสร้างอุโบสถกลางน้ำสำเร็จแล้วก็คือการสร้างวัดมหาจุฬาลงกรณวรารามบนที่ดินจำนวน ๑๒ ไร่ติดกันกับอุโบสถกลางน้ำ ครอบครัวไม้ตราวัฒนาได้บริจาคที่ดินผืนนี้ไว้สำหรับสร้างวัดของมหาวิทยาลัย

ตรงบริเวณที่ติดกับสระน้ำใกล้อาคารเรียนรวม เราได้สร้างอาคารหอประชุม มวก. ๔๘ พรรษาแล้วเสร็จด้วยงบประมาณแผ่นดิน ขณะนี้พวกเรากำลังนั่งประชุมกันอยู่ในหอประชุมนี้ เราสามารถคุยได้ว่าอาคารหลังนี้เป็นหอประชุมพระพุทธศาสนาที่ใหญ่ที่สุดใน ปัจจุบันเพราะจุคนได้ถึง ๓,๕๐๐ คน

ศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนานานาชาติ

แม้เราจะได้สร้างอาคารไปมากมายหลายหลังดังกล่าวมาแล้ว เราได้แต่สร้างอาคารสำหรับคนไทยเป็นส่วนใหญ่ เรายังขาดอาคารเรียนและหอพักสำหรับชาวต่างประเทศ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงซื้อที่ดินข้างเคียงเพิ่มอีก ๘๐ ไร่ ซึ่งทำให้ขณะนี้มหาวิทยาลัยมีที่ดินรวมทั้งสิ้น ๓๒๓ ไร่

เราวางแผนที่จะสร้างวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติ (International Buddhist Studies College) ในพื้นที่ที่เราซื้อเพิ่มเติมนั้น วิทยาลัยนานาชาติแห่งนี้จะเป็นสถานศึกษาและวิจัยของคนทั่วโลก ใครจะเข้าไปศึกษาในวิทยาลัยนี้ต้องพูดภาษาอังกฤษ ภาษาจีนหรือภาษาต่างประเทศอื่นๆ คือพูดภาษาอะไรก็ได้ยกเว้นภาษาไทย ขณะนี้มหาวิทยาลัยได้ก่อตั้งสถาบันภาษาสำหรับเตรียมคนเพื่อการนี้

เราคาดหวังไว้ว่า การก่อสร้างวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติจะแล้วเสร็จในช่วงแผนพัฒนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ระยะที่ ๑๑ (พ.ศ. ๒๕๕๕-๒๕๕๙) เราใช้เงินก่อสร้างมหาวิทยาลัยที่วังน้อยไปแล้วไม่น้อยกว่าสองพันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นเงินบริจาคทั่วไปร้อยละ ๖๐ เราจะต้องหาเงินก่อสร้างวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติในจำนวนไม่น้อยกว่ากัน ทั้งนี้เพราะราคาค่าก่อสร้างมหาวิทยาลัยในช่วงสิบปีที่ผ่านมาย่อมถูกกว่า ราคาค่าก่อสร้างในอนาคต ยิ่งดำเนินการช้าเท่าไร ราคาค่าก่อสร้างก็จะยิ่งแพงขึ้นเท่านั้น

เมื่อใดเราสร้างวิทยาลัยพุทธศาสตร์นานาชาติแห่งนี้แล้วเสร็จ เมื่อนั้นก็ถือว่าเราได้บรรลุเป้าหมายตามวิสัยทัศน์ที่เราวางไว้ว่าเราจะสร้างมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยให้เป็นศูนย์กลางการศึกษาพระพุทธศาสนาของโลกเช่นเดียวกับมหาวิทยาลัยนาลันทาในอดีต

ผมเคยฝันที่จะเห็นประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก ดังที่ผมพูดเรื่องนี้ไว้เมื่อวันที่  ๗  พฤษภาคม  ๒๕๔๔ ในการแสดงปาฐกถาธรรมเรื่อง “วันวิสาขบูชาคือวันสำคัญของโลก” ที่ท้องสนามหลวง ถ่ายทอดสดทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ผมพูดไว้ตอนหนึ่งว่า

เราต้องยกระดับการศึกษาของพระสงฆ์ ปรับให้การศึกษาของพระสงฆ์สามารถสอนเป็นภาษาอังกฤษเพื่อเผยแผ่ในต่างประเทศ ให้มากขึ้น ให้ชาวบ้านได้เรียนพระพุทธศาสนา ให้พระสงฆ์เรียนภาษาอังกฤษเพิ่มขึ้น ศึกษาพระพุทธศาสนาเป็นภาษาอังกฤษ สามารถสอนพระพุทธศาสนาในระดับโลก และจัดประชุมนานาชาติมากขึ้น  อาตมาจัดประชุมนานาชาติโดยเชิญผู้นำชาวพุทธทั่วโลกมาประชุมร่วมกันเรียกว่า Buddhist Summit  พระสังฆราชจาก ๑๖ ประเทศมาประชุมพร้อมกันโดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายกเป็นองค์ประธาน  มหาจุฬาฯ จัดทำเองโดยไม่ได้เงินรัฐบาลสนับสนุนเลย  การประชุมแบบนี้จัดได้ไม่ยากถ้ามีเงินทุนประมาณ ๑๐ – ๒๐ ล้านบาท มหาจุฬาฯ จะทำให้ดูอีก ประเทศไทยจะได้ชื่อว่าเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก แต่ว่ามหาจุฬาฯ ที่ผ่านมาเหนื่อยมาก  เงิน สนับสนุนก็ไม่มี แต่อาศัยความเชื่อมั่น อาศัยความศรัทธาจึงจัดได้ เรื่องนี้เป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าพระสงฆ์ไทยมีความสามารถจัดประชุมระดับ นานาชาติเป็นที่ยอมรับทั่วโลก ถ้าจะจัดต่อไปรัฐบาลต้องมีเงินอุปถัมภ์ให้ ถ้ารัฐบาลจะจัดประชุมพระพุทธศาสนานานาชาติ มหาจุฬาฯ จะช่วยทำให้ก็ได้ ถือว่าเป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทย”

ความฝันที่ผมพูดไว้เมื่อปี ๒๕๔๔ ได้กลายเป็นจริงเมื่อรัฐบาลและมหาเถรสมาคมได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นองค์กรหลักในการจัดงานวิสาขบูชาโลกในปี ๒๕๔๘  ผลที่ตามมาก็คือผู้นำชาวพุทธทั่วโลกได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลกตั้งแต่บัดนั้น

ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยเป็นสถานที่ตั้งของสภาสากลวันวิสาขบูชาโลก (ICUNDV) ซึ่งมีอธิการบดีของมหาจุฬาฯเป็นประธานสภา และยังเป็นที่ตั้งของสมาคมมหาวิทยาลัยพุทธศาสนานานาชาติ(IABU) ซึ่งมีสมาชิก ๑๑๖ มหาวิทยาลัยทั่วโลกและมีอธิการบดีของมหาจุฬาฯเป็นนายกสมาคม

มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยพัฒนาก้าวหน้ามาโดยลำดับจนมีวันนี้ที่วังน้อยก็ด้วยอาศัยวิธีบริหารเชิงกลยุทธ์(Strategic Management) ดังกล่าวมาแล้ว

ผมขอสรุปจบด้วยบทกลอนเกี่ยวกับการบริหารที่ผมแต่งไว้เป็นคติเตือนใจว่า

เดินหมากรุกแต่ละครั้งยังต้องคิด

หมากชีวิตเดิมพันนั้นใหญ่กว่า

แม้ประมาทพลาดพลั้งพังทันตา

คิดล่วงหน้าให้ตลอดจะปลอดภัย

ขออนุโมทนาขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมงานแสดงความยินดีกับพวกเราเนื่องในวโรกาสที่ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฏราชกุมาร เสด็จฯ ทรงเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยที่วังน้อยอย่างเป็นทางการ

ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบุญกุศลที่ได้บำเพ็ญไว้ในพระศาสนาจงอำนวยพรให้ทุก รูป ทุกท่าน ทุกคนเจริญงอกงามไพบูลย์ในร่มธรรมแห่งองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ายิ่งๆ ขึ้นไป ตลอดกาลนาน เทอญฯ

* เรียบเรียงจากปาฐกถาพิเศษที่แสดงเนื่องในพิธีเปิดมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราช วิทยาลัย อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ณ หอประชุม มวก. ๔๘ พรรษา เมื่อวันที่ ๒ ธันวาคม ๒๕๕๓

Author: burin

I am Lecturer, Developer, Researcher, Columnist, Writer, Photographer, and Webmaster - L@mpang man

Leave a Reply