เอแบคโพลเคยเสนอผลวิจัยเชิงสำรวจว่าคนไทยยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอรัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย พบว่ากลุ่มตัวอย่างยอมรับได้ร้อยละ 63.4 และกลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ยอมรับมากที่สุดคือร้อยละ 68.2 ซึ่งเป็นค่านิยมที่ไม่ดี แล้วเดือนสิงหาคม 2556 ได้ติดตามความพยายามของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านการออกกฎหมายนิรโทษกรรม แล้วพยายามชี้นำว่าร่างกฎหมายฉบับนี้มีความไม่ชอบธรรมและเรียกร้องให้ประชาชนออกมาต่อต้านนอกสภา แต่จำนวนประชาชนที่ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลกลับมีจำนวนไม่เป็นไปตามที่คาดหมาย
เว็บไซต์ข่าว-สื่อ อันดับหนึ่งของประเทศที่ประกาศจุดยืนชัดว่าไม่เป็นกลาง แต่ยืนอยู่ข้างความถูกต้อง ได้แสดงความผิดหวังต่อท่าทีของพรรคการเมืองหนึ่งที่เคยออกมาแสดงตนว่าจะนำค้านการออกกฎหมายฉบับหนึ่งอย่างชัดเจน แล้วเปรียบเปรยบทบาทของพรรคการเมืองที่จะออกมานำกับเนื้อเพลงว่าขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปกลายเป็นบ้องกัญชา ส่วนผู้คนในสื่อสังคมที่น่าจะคล้อยตามการชี้นำของสื่อเลือกข้างในหลายกระแสกลับไม่เป็นไปตามที่คาด เพราะคนไทยเลือกได้ ดังนั้นคนไทยส่วนหนึ่งไปสนใจข่าวการจดทะเบียนของดาราสาวกับทายาทนักการเมือง จนข่าวดาราไปกลบข่าวการเมือง แต่ถ้าไม่มีข่าวดาราก็คาดได้ว่าประชาชนคงไม่ออกไปต่อต้านเหมือนเดิม
เมื่อนึกถึงประโยคที่ว่า คนไทยยอมรับการคอรัปชั่นได้ ถ้าตนเองได้ประโยชน์ ก็จะเข้าใจปรากฎการณ์นิ่งเฉยแล้วไม่ออกไปแสดงพลังตามการยั่วยุชี้นำของสื่อได้ชัดเจน เพราะกลุ่มคนที่ได้ประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมามีหลายกลุ่ม หากออกมาต่อต้านก็เท่ากับออกมาทุบหม้อข้าวหม้อแกงของตนเอง ตัวอย่างนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อคนไทยในแต่ละกลุ่ม อาทิ การขึ้นเงินเดือนข้าราชการและบุคลากรทางการศึกษาเป็นหนึ่งหมื่นห้าพันบาท นโยบายจำนำข้าวที่มีแต่ชาวนาที่ได้ประโยชน์ การแจกแท็บเล็ตนักเรียนประถมและมัธยม นโยบายรถคันแรกที่มีผู้ใช้สิทธ์ไปกว่า 1.2 ล้านคัน การใช้สื่อและเครือข่ายสังคมมิใช่ปัจจัยเดียวที่จะทำให้คนไทยคล้อยตามได้ แต่ความเชื่อและผลประโยชน์เป็นปัจจัยสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรม การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ หรือชี้นำเป็นเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจและเป็นไปได้ยาก หากขัดกับผลประโยชน์ของบุคคล หรือส่วนรวม