ห้องเครื่องคือเขตอันตราย (itinlife298)

power
power

จากภาพยนตร์เรื่อง Erin Brockovich ที่ฉายในปี พ.ศ.2543 นำเสนอเรื่องราวที่ชวนให้ตระหนึกถึงความน่าสะพรึงกลัวของพลังงานไฟฟ้า ผลพวงของการผลิตไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมในชุมชนใกล้เคียง ส่วนจอภาพคอมพิวเตอร์แบบ CRT จะส่งคลื่นแม่เหล็กออกมีผลต่อการเป็นหมัน มะเร็ง และเนื้องอกได้ ทำให้มีการพัฒนาจอภาพแบบ LCD และ LED ที่มีคลื่นแม่เหล็กลดลงมาก อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดที่ใช้ไฟฟ้าจะเกี่ยวข้องกับคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ยิ่งใช้กำลังไฟฟ้ามากก็ยิ่งมีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ามาก และยิ่งมีจำนวนชิ้นของอุปกรณ์ไฟฟ้ารวมอยู่ในที่เดียวจำนวนมาก ก็ยิ่งยากต่อการควบคุมคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่สูงเป็นเงาตามตัว ความไม่กลัวหรือไม่ตระหนักต่อพลังแฝงที่มองไม่เห็นอาจส่งผลต่อสุขภาพอย่างที่คาดไม่ถึง

ห้องเครื่องบริการคอมพิวเตอร์ (Server Farm หรือ Server Room) เป็นสถานที่ที่ติดตั้งเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์ และสายไฟจำนวนมาก ทำให้ต้องใช้พลังงานไฟฟ้ามากกว่าห้องอื่น มักเป็นห้องที่ติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ให้เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทำงาน 24 ชั่วโมงมีอุณหภูมิที่อยู่เกณฑ์ที่ยอมรับได้ ในการออกแบบห้องจะมี 2 แบบ คือ ให้เป็นเพียงห้องเก็บเครื่องบริการที่แยกส่วนจากห้องทำงานของเจ้าหน้าที่เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา หรือ ให้มีเจ้าหน้าที่นั่งอยู่ในห้องเครื่องบริการเพื่อคอยเฝ้าตรวจปัญหาทางจอภาพ หรืออุปกรณ์แจ้งเตือน ถ้ามีเจ้าหน้าที่นั่งประจำมักมีเหตุผลจากความจำเป็นที่ต้องเฝ้าตรวจปัญหาที่จะปล่อยให้เกิดขึ้นไม่ได้ หากเกิดขึ้นก็ต้องแก้ไขในทันที อาทิ ชุมสายโทรศัพท์ ชุมสายไฟฟ้า ชุมทางรถไฟฟ้า เป็นต้น

การออกแบบห้องต้องคำนึงถึงสิทธิมนุษยชน เพราะห้องเครื่องบริการเป็นพื้นที่อันตรายที่มีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าสูงอยู่ตลอดเวลา การเข้าไปทำงานชั่วคราวอาจเกิดขึ้นได้ และไม่ส่งผลมากนัก ถ้าต้องใช้ชีวิตในห้องดังกล่าวนานถึง 8 ชั่วโมงต่อวัน ก็จะมีคำถามว่าเจ้าหน้าที่ที่ประจำการรู้ถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นกับตนเองในระยะยาวหรือไม่ และมีทางเลือกอื่นหรือไม่ เพราะปัจจุบันมีระบบที่เรียกว่าการควบคุมระยะไกล (Remote Control) ทำให้ไม่ต้องเข้าไปอยู่อาศัยในพื้นที่อันตราย แต่สามารถทำงานได้จากระยะไกลในพื้นที่ที่ปลอดภัย ถ้ามีเจ้าหน้าที่ไปอยู่ในนั้นได้มีมาตรการป้องกันอย่างไร ผู้เขียนเสนอว่าตระหนักไว้ไม่เสียหาย เป็นการบริหารความเสี่ยง เพราะกันไว้ดีกว่าแก้ แย่แล้วจะแก้ไม่ทัน

ความเร็วที่ไม่มีวันพอ (itinlife297)

3bb
3bb

9 ก.ค.54 ราวปีพ.ศ.2539 มีโอกาสเชื่อมต่อกับอินเทอร์เน็ตผ่านโมเด็ม (Modem) ซึ่งเป็นอุปกรณ์แปลงสัญญาณระหว่างสัญญาณอนาล็อกในสายโทรศัพท์พื้นฐานและสัญญาณดิจิทอลในเครื่องคอมพิวเตอร์ ในตอนนั้นอุปกรณ์มีความเร็ว 14.4 Kbps โดยใช้โปรแกรม NCSA Mosaic หรือ Netscape browser สำหรับสืบค้นข้อมูล และเว็บไซต์ยอดนิยมที่ทุกคนตอบตรงกันคือ yahoo.com ซึ่งเป็นเบอร์หนึ่งในฐานะเว็บท่า (Portal Website) เริ่มต้นราวปีพ.ศ.2538 พัฒนาโดย เจอร์รี่ หยาง (Jerry Yang) และ เดวิด ฟิโล (David Filo) นักศึกษามหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด

อีกไม่กี่ปีต่อมาก็มีการพัฒนาโมเด็มให้มีความเร็ว 28.8 Kbps ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าจากเดิม ทำให้สามารถดาวน์โหลดภาพ ข้อมูล คลิ๊ปวีดีโอ และโปรแกรมได้เร็วขึ้น เครื่องคอมพิวเตอร์เริ่มพัฒนาให้รองรับการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมดีขึ้น และโมเด็มความเร็ว 56 Kbps ก็ถือกำเนิด และถูกยอมรับให้เป็นมาตรฐานสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ สำหรับความเร็ว 56 Kbps นั้นเทียบได้กับความเร็วในการดาวน์โหลดภาพขนาด 100 KB ใช้เวลา 15 วินาที หรือ 1 นาทีดาวน์โหลดภาพได้ 4 ภาพ ซึ่งในอดีตภาพดิจิทอลมักมีขนาดไม่ใหญ่ และผู้พัฒนาทราบข้อจำกัดนี้ จึงไม่ใช้สื่อดิจิทอลที่มีขนาดใหญ่เกินจำเป็น มิเช่นนั้นผู้สืบค้นข้อมูลอาจอดทนรอไม่ได้ แล้วเปลี่ยนใจไปเข้าเว็บไซต์อื่นแทน แต่เมื่อค่าใช้จ่ายในการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตต่ำลง อุปกรณ์ถูกพัฒนาควบคู่กัน ทำให้ผู้สืบค้นข้อมูลได้รับบริการความเร็วสูงที่ขึ้น โดยเฉพาะการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากบ้านผ่าน ADSL Modem ที่ทำได้ง่าย และเชื่อมต่อได้พร้อมกันหลายคน

ความต้องการของมนุษย์มีไม่สิ้นสุดฉันใด การพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อตอบความต้องการก็จะต้องดำเนินต่อไปฉันนั้น ในปีพ.ศ.2554 มีการประชาสัมพันธ์ Broadband internet ของ 3BB ว่าให้บริการเชื่อมต่อความเร็วดาวน์โหลด 9 Mbps และอัพโหลด 1 Mbps มีค่าใช้จ่ายเพียง 900 บาท เมื่อเปรียบเทียบความเร็วของอุปกรณ์สองยุค  พบว่า ปัจจุบันบริการ ADSL มีความเร็วสูงกว่าโมเด็ม 14.4 Kbps ถึง 640 เท่า เมื่อเปรียบเทียบเวลาในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่าน ADSL ที่ต้องใช้เวลา 1 ชั่วโมง แต่ถ้าใช้โมเด็มจะต้องรอถึง 26 วันทีเดียว อาจสรุปได้ว่าอินเทอร์เน็ตก็เปรียบเสมือนแก้วสารพัดนึก ต้องการอะไรก็เข้าอินเทอร์เน็ต คิดดีก็ได้ดี แต่ถ้าคิดไม่ดี หรือนำไปใช้ประโยชน์ในทางไม่สุจริต ก็อาจเป็นผลร้ายต่อตนเอง ดังนั้นการจะใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตก็ต้องมีการยับยั้งชั่งใจและพิจารณาให้ถี่ถ้วน

ฮอทสพอทที่นครลำปาง (itinlife286)

3bb hotspot
3bb hotspot

เทศบาลนครลำปาง จังหวัดลำปาง ร่วมกับ 3BB Broadband จัดงานเปิดวายฟายซิตี้ (Wi-Fi City) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2554 โดยบริษัทที่มีความร่วมมือกับเทศบาลนครลำปางได้ติดตั้งฮอทสพอท (Hotspot) ให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่เป้าหมายทั้งหมด 10 พื้นที่ และจะขยายพื้นที่ที่ติดตั้ง Access Point เพิ่มเติมต่อไป ซึ่งฮอทสพอทหมายถึงจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายในพื้นที่สาธารณะ การที่ทั้งเมืองมีฮอทสพอทย่อมอำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยว นักเรียน นักศึกษา และประชาชนสามารถเชื่อมกับอินเทอร์เน็ตได้โดยสะดวก

อุปกรณ์กระจายสัญญาณ (Access Point) แต่ละตัวมีความสามารถรับการเชื่อมต่อจากเครื่องคอมพิวเตอร์ สมาร์ทโฟน หรือไอแพด มีพื้นที่ครอบคลุมรัศมีประมาณ 100 เมตร ถ้าอยู่ห่างออกไป 300 เมตรอาจตรวจพบสัญญาณจากฮอทสพอท แต่คุณภาพของสัญญาณอาจไม่ดีพอที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ให้บริการเปิดให้ผู้ใช้ทดลองใช้ฟรี 20 นาที โดยส่งคำขอทดลองใช้ได้ผ่านโทรศัพท์มือหรืออีเมล ถ้าพึงพอใจในคุณภาพของสัญญาณก็สามารถซื้อบริการทั้งแบบ Prepaid หรือรายเดือนได้ ซึ่งแพคเกจรายเดือนราคา 100 บาทสามารถใช้บริการวายฟายได้ไม่จำกัดชั่วโมง และใช้ได้กับ 3BB Hotspot ทั่วประเทศไทย

บริการนี้อาจเป็นทางเลือกใหม่ของชาวลำปางที่ใช้บริการอินเทอร์เน็ตไร้สายเป็นประจำ เพราะบริการ ADSL ตามบ้าน หรือ Internet SIM ใน Air Card ล้วนมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า หากต้องการลดค่าใช้จ่ายก็อาจเปลี่ยนมาใช้บริการ Wi-Fi Hotspot แต่คุณภาพของอุปกรณ์เพื่อบริการในพื้นที่สาธารณะย่อมต่างกับบริการสำหรับ บุคคล ถ้าใช้บริการฮอทสพอทในร้านกาแฟพร้อมกัน 20 คนย่อมได้รับความเร็วที่ถูกปันส่วนตามการใช้งาน การใช้บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบใดย่อมต้องพิจารณาเลือกผู้ให้บริการ ที่เหมาะสมกับพฤติกรรมการใช้งาน และฮอทสพอทเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่น่าสนใจ

http://www.3bbhotspot.com/home/index.php

ทันโลกทันเหตุการณ์

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก
มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก

26 ก.พ.54 แต่ละวันมีเหตุการณ์มากมายทั้งที่เกี่ยวข้อง และไม่เกี่ยวข้อง ส่วนที่เกี่ยวข้องในแต่ละล่วงเวลาอาจมีหลายกิจกรรม บางวันในเวลาเดียวกันต้องเข้าประชุมกลุ่ม เรียนหนังสือ ไปส่งคนในครอบครัว ไปหาหมอ และอยู่เฝ้ารถที่เสีย ซึ่งทุกเรื่องล้วนสำคัญ แต่มนุษย์เราแยกร่างไม่ได้ ทำให้ต้องเลือกและดำเนินทุกกิจกรรมให้บรรลุไปด้วยวิธีที่แตกต่างและมีความเสียหายเกิดขึ้นน้อยที่สุด การรับรู้ข่าวสารด้วยการฟังวิทยุและดูโทรทัศน์ อาจช่วยให้สามารถแก้ไขปัญหาความขัดแย้งของการดำเนินชีวิตให้ผ่านพ้นไปได้ อาทิ ดูข่าวพยากรณ์อากาศ ข่าวประท้วงปิดถนน ข่าวน้ำท่วม ข่าวเส้นทางอาชีพ รายการทีวีงานประดิษฐ์จากของเหลือใช้

วิทยุ และโทรทัศน์เป็นเทคโนโลยีการสื่อสารสาธารณะแบบทางเดียว ส่วนโทรศัพท์ และอินเทอร์เน็ตเป็นเครื่องมือสื่อสารสองทางที่ทำให้ผู้สื่อสารมีปฏิสัมพันธ์กันได้ สามารถเปลี่ยนบทบาทได้ตลอดเวลา ในอดีตเมื่อเกิดเหตุการณ์หนึ่งขึ้น กว่าจะรู้ก็จะใช้เวลาเป็นชั่วโมง เป็นวัน หรือเป็นสัปดาห์ เพราะสื่อที่เป็นหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ นิตยสารรายเดือน หรือหนังสือพิมพ์รายวันล้วนมีช่องว่างเรื่องเวลา ทีวีและเว็บไซต์ข่าวสารจะมีเนื้อหาที่ทันสมัยและมักเป็นการเผยแพร่แบบทางเดียว เพื่อให้ข่าวสารกระจายไปได้กว้างกว่า ส่วนเว็บไซต์เครือข่ายสังคมจะมีข่าวสารที่เปิดให้กลุ่มเพื่อนสามารถแลกเปลี่ยนความคิดเห็นผ่านระบบที่เชื่อมกับหัวข้อข่าวเหล่านั้น

ครั้งหนึ่งต้องการเข้ารับฟังแถลงข่าวเหตุการณ์หนึ่ง แต่พลาดโอกาส หลังแถลงข่าวเสร็จมีเพื่อนในเครือข่ายสังคมได้ติดป้ายภาพ (Tag) จากการประชุมที่ถ่ายด้วยกล้องของ IPhone ส่งมาให้ จึงรู้ว่าในการประชุมมีบรรยากาศเป็นอย่างไร เมื่อผ่านไปอีกหนึ่งชั่วโมงก็มีเพื่อนบอกว่ามีคลิ๊ปวิดีโอสรุปจากการประชุมแถลงข่าวเผยแพร่แล้ว ดูซ้ำแล้วซ้ำอีกได้ตามต้องการ ทำให้รู้สึกว่าโลกเราแคบลงมาก และเทคโนโลยีก็เสมือนทำให้เราย้อนเวลาไปยังช่วงที่เราต้องการได้ นี่เป็นอีกบทเรียนหนึ่งของการใช้เทคโนโลยีของผู้คนในปัจจุบัน