แก้วน้ำแห่งความสุข

แก้วน้ำแห่งความสุข
แก้วน้ำแห่งความสุข

ลูกสาว ม.1 นำบทความในกระดาษมาให้อ่าน
เพราะครูให้สรุปมาสั้น ๆ ว่า เขาพูดถึงอะไร
ผมก็ให้ลูกอ่านให้ฟัง แล้วก็ชอบครับ
.. เห็นความคิดของมนุษย์อีกแบบหนึ่ง

จึงนำเนื้อหามาแบ่งปันต่อครับ
ถ้ามีโอกาสก็จะไปหาหนังสือ ความหวัง ไม่เห็น ไม่ใช่ ไม่มี มาอ่านสักหน่อย

จิตร์ ตัณฑเสถียร มือเก๋าของแวดวงโฆษณาพูดเรื่อง “การยึดมั่นถือมั่น

เขายกตัวอย่างเรื่อง “แก้ว”
แก้วที่ว่างเปล่านั้น  เมื่อใส่น้ำ มันก็เป็น “แก้วน้ำ”
แต่ถ้าเราเอาดอกไม้ปักลงไป มันก็จะเป็น “แจกัน”
และถ้าแก้วใบนั้นใหญ่หน่อย เราเติมน้ำและใส่ “ปลา” ลงไป
“แก้วน้ำ” ก็จะกลายเป็น “ตู้ปลา”
และหากเราคว่ำ “แก้วน้ำ” เอาดินสอขีดรอบแก้ว
“แก้วน้ำ” จะกลายเป็น “วงเวียน”

“จิตร์” บอกว่าคนเราอย่ายึดมั่นถือมั่น
อย่าคิดว่า “แก้วน้ำ” ต้องเป็น “แก้วน้ำ” ตลอดไป
ครับ ทุกสรรพสิ่งในโลกนี้ไม่ได้หยุดนิ่ง
มันแปรเปลี่ยนตาม “ตัวแปร” ต่างๆ
เรานำไปใช้งานอย่างไร มันก็เป็นเช่นนั้น

“ชีวิต” ก็เช่นกัน
เหมือนนักเรียนที่เชื่อว่าการสอบเข้ามหาวิทยาลัยคือทั้งหมดของชีวิต
ถ้าสอบไม่ติดก็เสียใจ และรู้สึกว่าชีวิตสิ้นหวัง
หรือถ้าสอบเข้าคณะที่คนคิดว่า “ดี” ก็จะคิดว่าชีวิตนับต่อจากนี้ต้องรุ่งเรืองอย่างแน่นอน

สมัยก่อน “ด่าน” วัดความสำเร็จของชีวิตจะอยู่ที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัย
แต่ปัจจุบันนี้ผู้ปกครองเพิ่ม “ด่าน” มากขึ้น
เริ่มต้นจากระดับ “โรงเรียน”
ถ้าเข้าโรงเรียนนี้ได้ต้องประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน
จากนั้นก็ขยับเป็นทอดๆ จนถึง “มหาวิทยาลัย”
ใช้ “โรงเรียน” หรือ “มหาวิทยาลัย” เป็นดัชนีวัดความสำเร็จ
คิดแบบ “หยุดนิ่ง” ว่าเมื่อเข้าคณะดีๆ มหาวิทยาลัยดังๆไปแล้ว
ชีวิตก็ต้อง “ดี” แบบนี้ตลอดไป
เป็น “แก้วน้ำ” ก็เป็น “แก้วน้ำ” ตลอดไป

นั่นคือเหตุผลที่เด็กวันนี้ต้องใช้เวลากับการ “เรียนพิเศษ” มากกว่าในห้องเรียนปกติ
ไม่มีเวลาเล่นกับชีวิตเลย
ผมไม่เคย “เรียนพิเศษ”
ดังนั้น ทุกครั้งที่เห็นเด็กเรียนพิเศษแบบหามรุ่งหามค่ำ ผมจะรู้สึกสงสารและเสียดาย
“สงสาร” เด็กที่ต้องเรียนหนัก
“เสียดาย” โอกาสสำหรับความสุขนอกห้องเรียนในวัยเด็ก

ขออนุญาตเล่าชีวิตวัยเด็กของผมให้เด็กรุ่นใหม่อิจฉาสักหน่อย
ตอนเรียนอยู่ที่เมืองจันท์ ผมใช้ชีวิตอยู่กับโรงเรียนเบญจมราชูทิศ ๑๐-๑๒ ชั่วโมงต่อวัน
ค่าเทอมที่พ่อแม่จ่ายไปคุ้มค่าจริงๆ
ไปเรียนตอนเช้า เรียนเสร็จเดินกลับบ้าน
เปลี่ยนชุดเสร็จก็วิ่งกลับไปโรงเรียนอีก
ไม่ได้ไป “เรียน” แต่ไป “เล่น” ครับ

ตอนเช้าใช้ห้องเรียนของโรงเรียน แต่ตอนเย็นใช้สนามกีฬา
ถ้าไม่เล่นวอลเลย์บอล ก็เล่นฟุตบอล
ใช้แสงอาทิตย์เป็น “นาฬิกาปลุก”
หมดแสงเมื่อไรก็หมดแรงเมื่อนั้น

ส่วนวันเสาร์-อาทิตย์ ถ้าไม่ไปสวนกับ “ป๋า” หรือ “แม่” ก็จะแวะไปบ้านเพื่อน
ฮาเฮกันตลอด
ปิดเทอมก็เล่นฟุตบอล วอลเลย์บอล เข้าสวน ไปห้องสมุดประชาชน หรือหานิยายอ่าน หรือไม่ก็ไปบ้านเพื่อน
ไม่เคยเรียนพิเศษเลย
จนช่วงหนึ่งที่บ้านมีปัญหาทางการเงิน แม่ต้องเปิดแผง ขายสาคูไส้หมูและขนมใส่ไส้หารายได้เพิ่ม
ช่วงนั้นจึงเริ่มทำตัวมีประโยชน์
ช่วยทำขนมและเปลี่ยนผลัดกับแม่ไปนั่งขายที่หน้าแผงตอนค่ำ
แต่ก็ยังเล่นกีฬาตลอด
จนอีก ๑ ปีก่อนเอ็นทรานซ์ ชีวิตผมจึงเปลี่ยนไป
ลุยอ่านหนังสือเต็มที่ก่อนสอบ

ครับ ในขณะที่เด็กวันนี้ใช้เวลาเรียนพิเศษตั้งแต่ระดับประถมจนถึงชั้น ม.๖
ไม่ต่ำกว่า ๑๐ ปี
แต่ผมใช้เวลาลุยอ่านหนังสือเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยแค่ปีเดียว
ที่เหลือ “เล่น”
น่าอิจฉาไหมครับ
ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่มัก “ยึดมั่นถือมั่น” ว่า “โรงเรียน” หรือ“มหาวิทยาลัย” เป็น “ด่าน” วัดความสำเร็จ
ลืมไปว่าชีวิตไม่ใช่ “เกมโชว์”
ผ่านด่านนี้ไปก็ชนะในเกมเลย
ชอบคิดแบบ “หยุดนิ่ง”
เช่นเดียวกับ “เกรด” ในใบปริญญา
นิสิตนักศึกษาจำนวนมากไม่รู้ว่าตัวเลขของ “เกรด” มีค่าเพียงแค่ใช้ในการสมัครงาน
พ้นจากวันนั้น “เกรด” ก็เป็นแค่ “ตัวเลข” ในใบปริญญา
ไม่มีใครสนใจ
เพราะเมื่อเริ่มทำงานจริง คุณค่าของเราจะอยู่ที่การทำงาน
ใครทำงานเก่งกว่ากัน
ใครทำงานกับคนได้ดีกว่ากัน ฯลฯ
หัวหน้างานไม่สนใจแล้วว่าใครเรียนจบมาด้วยเกรดเท่าไร

ที่สำคัญ  ชีวิตของเราไม่ใช่ “เส้นตรง”
แต่เป็น “ทางแยก” ที่ต้องเลือกเสมอ
ดุลพินิจในการใช้ชีวิตจึงเป็นเรื่องสำคัญ
เพราะ “ชีวิต” ก็เหมือน “แก้วน้ำ” ครับ
มันแปรเปลี่ยนไปเสมอ ไม่เคยหยุดนิ่ง

“แก้วน้ำ” จะเป็นอะไร
ขึ้นอยู่กับ “การใช้งาน”
“ชีวิต” ก็เช่นกัน
จะเป็นอะไร
ก็ขึ้นอยู่กับ “การใช้ชีวิต”
ที่สำคัญ ต้องอย่าลืมว่าทุกช่วงเวลาของชีวิตมีค่าเท่าเทียมกัน

ถ้าคนเรามีอายุ ๗๐ ปี
๑๐ ปี ก็คือ ๑ ใน ๗ ของชีวิต
๑๐ ปีในวัยเด็กก็มีค่าเท่ากับ ๑๐ ปีในวัยหนุ่มสาว
หรือ ๑๐ ปีในช่วงท้ายของชีวิต
ไม่มีช่วงเวลาใดมีค่ามากกว่ากัน
ดังนั้น ใครสะสมห้วงเวลาแห่งความสุขได้มากกว่ากัน
คนนั้นถือว่า “โชคดี”
เวลาของ “ความสุข” ที่แท้จริงจึงไม่ใช่ “วันพรุ่งนี้”
แต่เป็น “วันนี้”

http://www.se-ed.com/eShop/Products/Detail.aspx?CategoryId=0&No=9789740208495
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1321953970

สทศ. รับ o-net ถามแรงเรื่องเพศ พร้อมนำข้อวิจารณ์ไปปรับปรุง


onet เวลาผ่านไป อะไรอะไรก็กระจ่างขึ้น
onet เวลาผ่านไป อะไรอะไรก็กระจ่างขึ้น

http://www.scholarshipinter.com/2011/content.php?id=1360

http://news.mthai.com/hot-news/154847.html

1. ผมว่า .. ฐานคิดของคนเราแตกต่างกัน
เมื่อใดก็ตามที่คิด แล้วนำความคิดมาเปรียบเทียบ ก็มักจะเห็นความแตกต่าง
อย่างเช่น ข้อสอบโอเน็ต
ถ้าใช้ฐานคิดของนักเรียนหญิงก็คงตอบไปทาง
ถ้าใช้ฐานคิดของผู้ปกครองที่ทุกเรื่องต้องปรึกษาตนก็คงตอบไปทาง
ถ้าใช้ฐานคิดของวัยรุ่นที่เอนตามโจทย์ก็คงไปอีกทาง
ถ้าใช้ฐานคิดของวิชาสุขศึกษา ก็น่าจะตอบตรงตามที่ผู้ออกข้อสอบคิด

2. เรื่องฐานคิดที่แตกต่าง มีตัวอย่างเกี่ยวกับแนวคิดการรับสมัครนักเรียน
โดยงานรับนักเรียนของโรงเรียนในหมู่บ้าน ว่าเหตุที่นักเรียน .. เลือกเรียนเพราะอะไร
1. คุณครูสอนดี ดังนั้นหน้าที่ทำให้มีนักเรียนเพิ่ม คือ สอนในชั้นเรียนให้ดี เป็นหลัก
2. นักเรียนที่นี่เก่ง ดังนั้นต้องติว สอนพิเศษ ให้ทำข้อสอบเยอะ ส่งแข่งขัน เป็นหลัก
3. ค่าเล่าเรียนถูก หรือมีทุนการศึกษา งั้นก็ลดค่าเล่าเรียน เป็นหลัก
4. ครูรู้จักผู้ปกครอง ดังนั้นก็สนับสนุนให้ครูออกพื้นที่ ตามบ้าน สอนน้อยลง เป็นหลัก
5. ครูรู้จักเยาวชน ดังนั้นก็สนับสนุนให้ครูไปคลุกคลีกับเด็กในหมู่บ้าน
คลุกคลีกับเด็นในชั้นเรียนให้น้อยลง เป็นหลัก
6. โรงเรียนสวย ดังนั้นทุ่มทุนสร้าง เป็นหลัก
7. ใกล้บ้าน ไม่ต้องทำอะไร เสือนอนกิน
8. ครูใหญ่เล่นการเมือง ก็ต้องให้ครูใหญ่ออกสื่อบ่อย ๆ เป็นหลัก
9. ใช้ดีจึงบอกเพื่อน อันนี้ต้องมานั่งคุยกันว่า 5w คืออะไร
อันที่จริงทุกเหตุ มีผล ตรงตามสิ่งที่เกิดขึ้น
ถ้าทวนคำถามอีกครั้งว่า “กิจกรรมใดมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของนักเรียนมากที่สุด
ซึ่งคำตอบย่อมมีอยู่เป็นที่ประจักษ์ .. ???
แต่ถ้าคิดตามฐานคิดของบทบาทที่เป็น
คำตอบก็อาจไม่ถูกต้องเสมอไป เรียกว่าคำตอบขึ้นกับคนตอบนั่นหละครับ

3. ประเด็นข่าว
ได้จาก http://www.khaosod.co.th/view_newsonline.php?newsid=TVRNek1EQXdNak00TUE9PQ==

จากกรณี สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ “สทศ.” จัดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน หรือ “โอเน็ต” ช่วงชั้นที่ 4 หรือระดับมัธยมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีการศึกษา 2554 ระหว่างวันที่ 18-19 ก.พ. ที่ผ่านมา และภายหลังการสอบปรากฏว่ามีกลุ่มนักเรียน ม.6 เข้าไปโพสต์กระทู้ตามเว็บไซต์ชื่อดัง อาทิ เด็กดี และเอ็มไทย ดอต คอม วิพากษ์วิจารณ์ตั้งคำถามถึงวิธีออกข้อสอบวิชาสุขศึกษาดังกล่าว เพราะโจทย์และคำตอบค่อนข้างกำกวม ตัดสินใจยากว่าข้อใดถูกข้อใดผิด ตลอดจนโจทย์บางข้ออ่านแล้วเนื้อหาไม่เหมาะสม
โดยคำถามที่ กลุ่มนักเรียนชี้ว่า ไร้หลักการวิชาการและไม่เหมาะสมอย่างยิ่ง เช่น “หากเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร” ตอบ ก.ชวนเพื่อนไปเตะบอล ข.ปรึกษาครอบครัว ค.พยายามนอนให้หลับ ง.ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ จ.ชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง หรือ “เป็นแฟนกันต้องแสดงออกยังไงให้ถูกประเพณีไทย” ตอบ ก.เดินโอบไหล่ซื้อของ ข.ชวนไปทานข้าวดูหนัง ค.นอนหนุนตักในที่สาธารณะ ง.ชวนกันไปทะเลค้างคืน จ.ป้อนข้าวกันในร้านอาหาร และ “อาการลักเพศจะมีพฤติกรรมแสดงออกมาอย่างไร” ก.สะสมชั้นในเพศตรงข้าม ข.แต่งกายเลียนแบบเพศตรงข้าม ค.รักกับเพศเดียวกัน ง.โชว์อวัยวะเพศ จ.แอบดูเพื่อนต่างเพศในห้องน้ำ ตามที่ “ข่าวสด” เสนอมาตามลำดับนั้น
ล่าสุด นายสมหวัง พิธิยานุวัฒน์ ประธานคณะกรรมการบริหาร สทศ. และนายสัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผอ.สทศ. ก็ได้ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงข้อกังขากระหึ่มเน็ตวัยโจ๋ว่า ได้เรียกผู้ออกข้อสอบวิชาสุขศึกษา มาชี้แจงแล้ว พบว่า
เนื้อหาข้อสอบเป็นไปตามหลักสูตรที่เคยประกาศลงเว็บไซ ต์ สทศ. ตั้งแต่ก่อนจัดสอบ เนื้อหาเป็นการวัดความจำเนื้อหาที่อยู่ในตำรา
“คนอาจมองว่าข้อสอบไม่เหมาะสม ซึ่งสทศ.ก็ยอมรับว่าข้อความที่ไปเขียนเป็นโจทย์อาจรุนแรงเกินไป แต่ไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น เบื้องต้นจึงให้เจ้าหน้าที่รวบรวมความเห็นของเด็กในเว็บไซต์ต่างๆ เพื่อนำไปวิเคราะห์ปรับรูปแบบการออกข้อสอบในปีหน้า ขอชี้แจงว่าข้อสอบโอเน็ตที่ถูกนำโพสต์ไว้ที่เว็บไซต์ มีเนื้อหาไม่ถูกต้องสมบูรณ์ทั้งหมด..
“อย่างโจทย์ข้างต้น จริงๆ แล้ว สทศ.ถามว่า ′ในค่านิยมที่ดีจะปฏิบัติตนอย่างไรหากเกิดอารมณ์ทางเพศ′ ซึ่งก็อยู่ในหลักสูตรวิชาสุขศึกษา สาระที่ 2 เรื่องชีวิตและครอบครัว ในมาตรฐานเรื่องค่านิยมที่ดีเรื่องเพศ และเข้าใจธรรมชาติของการเกิดอารมณ์ทางเพศ โดยใจความเนื้อหาได้เขียนวิธีแก้ไว้ว่า ให้แสดงการปลดปล่อยอารมณ์ด้วยการออกกำลังกายและเล่นกีฬา ฉะนั้นคำตอบที่ถูกจะเป็นข้อ ก.ชวนเพื่อนไปเตะบอล ซึ่งเป็นการให้เด็กได้คิดวิเคราะห์แทนการท่องจำตรงตามวัตถุประสงค์ของ สทศ.” ผอ. สทศ.กล่าว
อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาจากคำตอบของ ผอ.สทศ. แล้วก็ยังถือว่า “ไม่เคลียร์ไ อยู่นั่นเอง เนื่องจากถ้าฟันธงว่า คำตอบที่ถูกต้อง คือ “ก.ชวนเพื่อนไปเตะบอล” ก็มีข้อโต้แย้งจากน.ส.เพชรไพริน ทองพหุสัจจะ นักเรียนชั้นม.6 โรงเรียนสตรีวิทยา ผู้ทำข้อสอบมาหมาดๆ ที่ให้สัมภาษณ์ “ข่าวสด” เอาไว้ว่า
“ข้อสอบโอเน็ตในส่วนของคำถามนั้นไม่ยาก แต่ตัวเลือกคำตอบทั้ง 5 ข้อกำกวมมาก เช่นถามว่าเมื่อเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมาต้องทำอย่างไร ตัวเลือกคำตอบ ได้แก่ ชวนเพื่อนไปเตะบอล ปรึกษาครอบครัว พยายามนอนให้หลับ ไปเที่ยวกับเพื่อนต่างเพศ หรือชวนเพื่อนสนิทไปดูหนัง ซึ่งตอบไปว่าพยายามนอนให้หลับ เนื่องจากเป็นผู้หญิงคงไม่ตอบข้อที่ชวนเพื่อนไปเตะบอล และไม่รู้ว่าตัวเลือกใดเป็นคำตอบที่ถูกต้อง เพราะนักเรียนหญิงและชายอาจตอบไม่เหมือนกัน จึงไม่แน่ใจว่าผู้ออกข้อสอบต้องการวัดอะไรในตัวเด็กกันแน่ แต่ที่แน่ๆ คือข้อสอบสักษณะนี้ทำให้ผู้สอบงงและสับสนมาก”
ก็ได้แต่หวังว่า เมื่อมีบทเรียนหลายครั้งหลายครา สอบ “โอเน็ต” ครั้งหน้าคงไม่มีคำถามพิสดารพันลึก โผล่ออกมาให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ต้องร้อง “จ๊ากส์” กันอีกรอบ!