อาจารย์กูคือใคร

คำค้น นักศึกษา
คำค้น นักศึกษา

อาจารย์กูคือใคร (itinlife376)

คำว่า ครู อาจารย์ หมายถึง ผู้สั่งสอนศิษย์ ผู้ถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ผู้สอนให้ศิษย์เห็นแจ้ง แนะนำศิษย์ให้พ้นจากปัญหา ผู้เชี่ยวชาญทางปรัชญา ผู้มีความรู้สูง ผู้ให้ความรู้ให้คำแนะนำ เป็นที่พึ่งของผู้ไม่รู้ได้ เมื่อเทคโนโลยีการสืบค้นข้อมูลได้ถูกพัฒนาและเป็นที่ยอมรับว่าเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย ตรงประเด็น และตอบคำถามได้ จึงมีศัพท์คำว่าอาจารย์กู หรืออาจารย์กู๋เกิดขึ้น หมายถึง เว็บไซต์กูเกิ้ล (google.com) ที่ให้บริการสืบค้นข้อมูล เมื่อมีคำถามแล้วใช้คำค้นที่เหมาะสมก็จะได้คำตอบที่ต้องการเป็นส่วนใหญ่ เปรียบเสมือนผู้ช่วยแก้ปัญหา ตอบคำถาม และช่วยเหลือผู้ไม่รู้ได้เสมอ

ปัจจุบันร้านหนังสือหรือสำนักพิมพ์หลายแห่งเริ่มประสบปัญหาการทำธุรกิจ เพราะผู้คนอ่านสื่อสิ่งพิมพ์น้อยลง ดูทีวีน้อยลง ฟังวิทยุน้อยลง แต่เข้าอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ดูคลิ๊ปจาก youtube.com เพิ่มขึ้น ทำให้คนพันธุ์ใหม่เริ่มลดการซื้อหนังสือ แต่หาข้อมูล หาคำตอบจากกูเกิ้ลแทน และใช้ชีวิตในเครือข่ายสังคม หรือเกมออนไลน์เป็นส่วนใหญ่ มีอยู่วันหนึ่งผู้เขียนค้นหาข้อมูลเกี่ยวกับนักศึกษาอยากทราบว่านักศึกษาควรประพฤติตัวอย่างไร มีหน้าที่อย่างไร จึงใช้คำว่านักศึกษาไปค้นในกูเกิ้ล โดยหวังว่าจะได้รับข้อมูลเชิงแนะนำจากอาจารย์กู

ผลการสืบค้นคำว่านักศึกษา จาก google.com ไม่เป็นไปดังที่คาดไว้ เพราะพบคลิ๊ปรุนแรง ภาพติดเรท และเว็บผู้ใหญ่ในช่วงต้นของรายการ ซึ่งเป็นเรื่อง sex และ violence  จึงเป็นที่มาของคำถามว่าเราหวังฝากผีฝากไข้ได้มากน้อยเพียงใดกับข้อมูลที่ได้จากอาจารย์กู ในขณะที่โลกเรากำลังก้าวเข้าสู่ยุคคลิ๊ก หรือยุคจิ้มเขี่ย เด็กประถม 1 เข้าถึงอาจารย์กูตามนโยบายของรัฐบาล เด็กมัธยมจนถึงมหาวิทยาลัยต่างรู้จักอาจารย์กู แล้วครู อาจารย์ก็มักมอบหมายให้ไปสืบค้น แทนการพึ่งพาหนังสือที่ฉายภาพว่าทันสมัยรู้จักใช้เทคโนโลยี แม้อาจารย์กูจะตอบคำถามมากมายได้ถูกต้อง แต่ก็มีข้อมูลเชิงลบมากมายคละเคล้ากับข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ก็เพียงแต่หวังว่าเด็กประถมจะมีวิจารณญาณในการเลือกรับสื่อ รู้จักผิดชอบชั่วดีผ่านการแนะนำจากครูประจำชั้น หากจะหวังให้กูเกิ้ลเลือกเฉพาะสารสนเทศที่ดีเชิงบวกอย่างเดียวก็คงไม่ได้ เพราะกระแสวัฒนธรรมเปลี่ยนไป ต่อไปก็คงหวังพึ่งได้แต่คำว่าวิจารณญาณของผู้รับสารเท่านั้น

ผลจัดอันดับตามสื่อช่วงสิ้นปี (itinlife375)

facebook ranking
facebook ranking

30 ธ.ค.55 หนึ่งปีมี 365 วัน ซึ่งเกิดเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ถูกรวบรวมเป็นข้อมูล เมื่อนำมาประมวลหรือวิเคราะห์แล้วนำมาจัดอันดับ รายงานสรุปและเผยแพร่ ทุกองค์กรมีหน้าที่ทำรายงานประจำปี หน่วยงานอิสระ เอกชน หรือภาครัฐหลายแห่งมีหน้าที่รวบรวมข้อมูล เสนอประเด็นตามบทบาท หรือความเชี่ยวชาญของตน หน่วยงานทางการศึกษามีการรายงานข้อมูลว่าสถาบันใดมีคุณภาพ โดยให้คะแนนตามเกณฑ์ หน่วยงานด้านความบันเทิงก็จะจัดอันดับเพลง ภาพยนตร์ หรือนักแสดง หน่วยงานด้านความปลอดภัยก็จะเก็บสถิติ 7 วันอันตรายและเผยแพร่แบบวันต่อวันให้ประชาชนได้ตระหนักรู้และใช้สารสนเทศอย่างรู้เท่าทัน

ผลการจัดอันดับมีประโยชน์ทั้งต่อผู้ที่ได้คะแนนสูง และได้คะแนนต่ำ เพราะผู้ที่มีคะแนนดีก็จะนำผลจัดอันดับไปประชาสัมพันธ์องค์กร ถือเป็นความสำเร็จที่จะต้องส่งต่อให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจากทุกภาคส่วน ส่งผลโดยตรงต่อการเพิ่มยอดขายและยอดลูกค้า ส่วนผู้ที่ได้คะแนไม่ดีก็จะศึกษาเกณฑ์การให้คะแนน ทบทวนจุดแข็งจุดอ่อนในอดีตว่าสอดรับกับเกณฑ์ที่ผู้จัดอันดับใช้พิจารณาหรือไม่ แล้วเพิ่มทรัพยากร วางแผนพัฒนา จัดให้มีกลไกรองรับสำหรับปัจจุบันและอนาคต เพื่อให้มีการดำเนินการจนผ่านเกณฑ์ได้ชัดเจน และนำองค์กรสู่สนามการแข่งขันต่อไป แต่หากไม่สนใจแล้วรอโชคชะตาบันดาลให้ก็จะทำให้องค์กรหลุดจากวงจรการแข่งขันในกลุ่มนั้น ๆ อย่างค่อยเป็นค่อยไป

ผลการจัดอันดับหลั่งไหลออกมาอย่างต่อเนื่องในช่วงสิ้นปี ผู้บริโภคสามารถเลือกใช้ข้อมูลได้อย่างถูกต้อง เกิดผลดีต่อผู้บริโภคที่ใช้ข้อมูลชัดเจน แต่ผลเสียต่อผู้ผลิตที่อยู่ท้ายตารางมักเป็นผลกระทบใหญ่หลวงนัก หลายองค์กรต้องยุบรวม ปิดกิจการ หรือเลิกจ้างบุคลากรนับหมื่นคน ในทางกลับกันผู้ที่ประสบความสำเร็จก็จะยิ่งทะยานไปข้างหน้า เพราะมีทรัพยากรที่พร้อม แต่ผู้ที่อยู่ส่วนท้ายของรายงานมักมียอดขายตกลง ส่งผลให้มีงบประมาณน้อยลง ประชาสัมพันธ์หรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้น้อยลง ย้อนกลับไปกระทบยอดขายให้ลดลงอีกรอบ ส่งผลโดยตรงต่อความอยู่รอดขององค์กร เหตุการณ์ข้างต้นเป็นกระแสวัฒนธรรมการบริโภคที่อำนาจการตัดสินใจเป็นของผู้บริโภคที่จะเลือกสินค้าที่มีคุณภาพ แล้วการแข่งขันแบบนี้ก็จะพบได้ตลอดเวลาในสังคมบริโภคนิยม ที่เสพสื่อมาประกอบการตัดสินใจเลือกสินค้าและบริการ

http://www.thairath.co.th/content/oversea/260523

http://www.2poto.com/201011291879/2010-11-29-09-36-47-1879.html