http://simple.wikipedia.org/wiki/Leave_It_to_Beaver
ยุคที่หน้าจอ ทั้งโทรทัศน์ ไอโฟน ไอแพด แท็บเล็ต ล้วนดึงดูดสายตาเราไปจากเรื่องรอบตัว แต่สำหรับความสัมพันธ์ในครอบครัว การสบตา พูดคุย สร้างความสัมพันธ์ ล้วนเป็นสิ่งที่สำคัญ คนในครอบครัวจึงควรควบคุมการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เหมาะสม ซึ่งเรามีคำแนะนำดีๆ มาฝากกันเช่นเคย
1. พึงระวังทุกหน้าจอ
เป็นที่ทราบกันดีว่าจอโทรทัศน์ไม่ดีสำหรับสายตาและพัฒนาการของเด็ก แต่คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากกลับปล่อยให้ลูกน้อยเล่นไอแพด ไอโฟน กันได้โดยไม่จำกัดเวลา แต่หน้าจอเหล่านี้ก็เป็นอันตรายต่อสายตาและพัฒนาการของลูกน้อยเช่นกัน หากเป็นไปได้จึงไม่ควรให้เด็กอายุต่ำกว่า 7 ขวบ ใช้หน้าจอเลย หรือหากจำเป็นก็ควรจำกัดเวลาและจำนวนชั่วโมงที่จะให้เด็กๆ เล่นกับอุปกรณ์เหล่านี้ได้
2. สบตากันให้มากขึ้น
คงคุ้นตากันดีกับภาพทุกคนบนโต๊ะอาหารต่างคนต่างจ้องหน้าจอ หรือคนที่คุยกันโดยตายังจ้องหน้าจออยู่ แต่เมื่ออยู่กับคนในครอบครัว เราควรหันมาสบตากัน เพราะบ่อยครั้งที่การสื่อสารทางกายและสายตา สำคัญกว่าปากมากนัก และสำหรับเด็กๆ แล้ว การที่คุณพ่อคุณแม่สบตา มีทีท่าใส่ใจยามที่เขาเล่าเรื่องต่างๆ ให้ฟัง หรือเล่นกับเขานั้น สำคัญมาก ถือเป็นการยอมรับในตัวเขาอย่างหนึ่งทีเดียว
3. กำหนดเวลาใช้อุปกรณ์อิเลกทรอนิกส์
เมื่ออุปกรณ์เหล่านี้คือความเคยชิน การกำหนดเวลาสำหรับการใช้ก็เป็นเทคนิคหนึ่งที่ช่วยจำกัดเวลาได้ดี อาจกำหนดเป็นเวลาหลังทำการบ้านเสร็จ เพื่อช่วยให้ลูกอยากทำการบ้าน และตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ควรจำกัดเวลาสำหรับตัวเองเช่นกัน เช่นหากลูกยังไม่หลับจะไม่แตะเครื่องมือเหล่านี้ เป็นต้น
4. พึงระวังเรื่องความเป็นส่วนตัว
หากเสพติดการใช้เฟซบุ๊ก ควรระมัดระวังที่จะจัดการกำหนดคนที่จะเข้ามาดูไทม์ไลน์ของเรา หรือเข้าถึงข้อมูลของเราได้ ยิ่งเมื่อคุณมักจะโพสรูปของคนในครอบครัว ก็ยิ่งควรระมัดระวังให้มากขึ้นเป็นพิเศษ อย่าลืมว่าโลกออนไลน์จะทำให้ข้อมูลส่วนตัวของคุณที่อาจไม่อยากให้คนไม่รู้จักได้รู้เห็นหลุดออกไปได้ ซึ่งนั่นหมายถึงข้อมูลและรูปของเจ้าตัวน้อยของคุณด้วย
5. ระวังข้อมูลที่ลูกได้รับ
แม้คุณพ่อคุณแม่จะระมัดระวังการรับข้อมูลข่าวสารของลูกน้อย แต่บางโอกาสก็ทำได้ยากยิ่ง เมื่อปล่อยให้ลูกดูโทรทัศน์ หรือใช้คอมพิวเตอร์ คุณพ่อคุณแม่จึงควรอยู่ด้วยทุกครั้ง เพื่อคอยอธิบายหากเห็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม และควรเลือกสื่อที่ลูกรับให้เหมาะสม โดยเฉพาะโฆษณา และละครโทรทัศน์
6. จัดที่ทางสำหรับอุปกรณ์เทคโนโลยี
หากจัดที่ที่ใช้โทรทัศน์ และอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ ให้เป็นที่เป็นทาง และกำหนดไว้ว่าเมื่อออกจากบริเวณเหล่านี้จะไม่ใช้ ก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยจำกัดเวลาและโอกาสที่ใช้ได้ดี เช่นในห้องนอนเป็นสถานที่ที่ปลอดอุปกรณ์ไฮเทค เป็นต้น
อ้างอิงบางส่วนจาก parenting.com
http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000032394