ตรวจเอชไอวี..เถอะ ยิ่งรู้เร็ว ยิ่งรักษาได้

เมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ข่าวเรื่องรักษาเอชไอวีให้หายขาดได้เป็นที่ครึกโครมมาก ผู้ติดเชื้อหลายคนมีความหวัง บางรายโทรศัพท์เข้ามาหาผมเพื่อสอบถามรายละเอียด แต่ผมก็ต้องทำให้คนที่โทรมาหาผิดหวังครับ เพราะการรักษาไวรัสเอชไอวีให้ “หายขาด” นั้นอยู่บนเงื่อนไขว่า ต้องตรวจพบการติดเชื้อเอชไอวีในระยะเริ่มแรกที่นักวิจัย บอกว่าภายใน 30 วัน แต่ยิ่งรู้ว่าติดเชื้อเร็วที่สุด ก็จะให้ผลในการรักษาดีกว่า รู้ช้า โดยหลังจากตรวจพบเชื้อแล้วแพทย์จะให้กินยาสูตรเบื้องต้นทันที เหตุที่ต้องเป็นการพบเชื้อไม่เกิน 30 วัน ก็เพราะเอชไอวียังไม่เข้าไปอยู่ในเซลล์ ยังไม่ทันได้ปรับเปลี่ยนสายพันธุกรรมครับทำให้ยาต้านไวรัสสามารถควบคุมเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ

บอกตรงๆ ครับว่า ผมรู้สึกเห็นใจปลายสายมาก เพราะเขาดูมีความหวัง แต่พอฟังรายละเอียดที่ผมบอกแล้ว เขาก็เงียบไปพักใหญ่ ก่อนพูดกับผมด้วยน้ำเสียงอันแผ่วเบาว่า “แบบผมก็คงไม่ได้เนอะพี่ ตรวจพบเชื้อมาปีกว่าแล้ว ไม่เป็นไรพี่ ขอบคุณที่เล่ารายละเอียดให้ผมฟังครับ”

จริงๆ แล้ว ถ้าเป็นผม อ่านข่าวแวบแรกก็คงรู้สึกเหมือนเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เหมือนผู้ติดเชื้อที่โทร.มา เพราะการพาดหัวข่าวชวนให้เข้าใจผิดจริงๆ เช่น “แพทย์ไทยสุดเจ๋งรักษา “เอดส์” หายขาด” ใครอ่านก็เข้าใจผิดครับ (และเป็นพาดหัวที่ผิดข้อเท็จจริง เนื่องจาก “เอดส์” คือภาวะการเจ็บป่วยด้วยโรคติดเชื้อฉวยโอกาสอันเนื่องมาจากภูมิคุ้มกันบกพร่องซึ่งรักษาให้หายขาดได้ การแพทย์บ้านเรารักษาเอดส์ให้หายขาดได้มานานแล้วด้วย)

อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าการค้นพบดังกล่าวเป็นข่าวดี ถือเป็นความหวังที่จะรักษาเอชไอวีให้หายขาดได้ แต่มี 2 โจทยใหญ่ๆ ที่ต้องช่วยกันแก้ครับ โจทย์แรกคือจะต้องรณรงค์ให้คนเข้าใจเรื่องเอดส์ ประเมินความเสี่ยงต่อการรับเชื้อเอชไอวีของตัวเองให้ได้ และคิด ก้าวออกไปตรวจหาการติดเชื้อ ให้เร็วเพื่อที่จะควบคุมเอชไอวีก่อนที่เพิ่มจำนวน จนทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งทำให้ต้องใช้เวลาในการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเป็นเวลานาน กว่าจะลดจำนวนไวรัสและกระตุ้นให้ภูมิคุ้มกันฟื้นฟูมาอยู่ในระดับปกติ ดังนั้นการรู้เร็วก็เพื่อจะใช้ยาต้านไวรัสกำจัดเอชไอวีให้ มีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งจำเป็นต่อการรักษาอย่างยิ่ง ซึ่งโครงการวิจัยที่สภากาชาดไทยทำอยู่ นั้นเริ่มจากโจทย์ที่เชื่อว่า ถ้าเรารู้การติดเชื้อให้เร็ว เริ่มรักษาเร็ว น่าจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพ สูงสุดคือ กำจัดให้เชื้อเอชไอวีหมดไปได้ โดยทดลองให้ยาต้านไวรัสกับผู้ที่เพิ่งติดเชื้อ ตั้งแต่ 7-30 วัน และผลก็ออกมาอย่างที่เป็นข่าวนั่นแหละครับ

อีกโจทย์สำคัญคือ ขณะนี้มีเพียงคลินิกนิรนาม และศูนย์รับบริจาคโลหิตของสภากาชาด ที่มีเครื่องมือที่ไวต่อการตรวจหาเชื้อตั้งแต่ประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากมีพฤติกรรมเสี่ยงก็สามารถตรวจพบเชื้อได้ แต่ใช้ในระบบการรับบริจาคโลหิตของสภากาชาดเท่านั้น สำหรับโรงพยาบาลส่วนใหญ่ยังใช้วิธีตรวจแบบหาสารภูมิคุ้มกัน (Antibody) ซึ่งต้องรอประมาณ 1 เดือนหลังจากไปมีความเสี่ยงมาจึงจะตรวจได้ซึ่งช้าเกินไปที่รักษาด้วยยาต้านไวรัสเพื่อกำจัดเชื้อเอชไอวีออกจากร่างกายให้หมด เรื่องนี้ ผมคิดว่า รัฐต้องคิดต้องมีนโยบาย ในเรื่องนี้แล้วครับ ช้าไม่ได้ ซึ่งผมขอเสนอว่า รัฐจะต้องเข้ามาสนับสนุน ลงทุนพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง ให้มีเครื่องตรวจกระจายในแต่ละเขตสุขภาพ และสร้างเครือข่ายในการส่งเลือดโดยให้แต่ละโรงพยาบาลส่งเลือดของผู้ที่มาตรวจด้วยวิธีเดิม (Antibody) ที่มีผลเป็นลบมาตรวจซ้ำตามวิธีการตรวจที่สภากาชาดทำอยู่ เพื่อเราจะได้ค้นพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ได้เร็วขึ้น จะช่วยให้คน คนนั้นได้รับการรักษาได้เร็วขึ้นและเขาคนนั้น จะได้ป้องกันคู่คนต่อไปของเขา ไม่ต้องรับเชื้อจากเขาได้ แต่จะทำได้มากน้อยอย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องคิดริเริ่มทำ ถ้ามั่วแต่คิดว่าไม่คุ้ม ทำไม่ได้ …เราก็ต้องเผชิญกับ อัตราการติดเชื้อที่ยังสูงอยู่ต่อไป

หากแก้ 2 โจทย์ใหญ่ข้างต้นได้ก็จะช่วยให้ปัญหาเอดส์บ้านเราลดลงได้มากครับ ที่แน่ๆ คือลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ รัฐก็จะประหยัดค่าใช้จ่ายเรื่องการรักษาโรคติดเชื้อฉวยโอกาสและเรื่องยาต้านไวรัส และผมคิดว่า 2 โจทย์นี้เพื่อนๆ สื่อมวลชนมีส่วนสำคัญยิ่งที่จะช่วยรณรงค์สร้างความรู้ ความเข้าใจ ให้กับประชาชนและช่วยส่งเสียงกระทุ้งรัฐบาลให้จัดการเรื่องระบบและเครื่องไม้เครื่องมือ

ช่วยกันครับ….ช่วยกันรณรงค์ให้คนประเมินความเสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวีให้ได้และเดินเข้ามาตรวจเลือด เพราะยิ่งรู้เร็ว ก็จะยิ่งรักษาได้ ตรวจเถอะครับ จะได้จัดการชีวิตได้ ยิ่งรู้ผลเร็วก็ยิ่งรักษาได้ผลเร็ว ครับ

หากคุณเคยมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้ป้องกัน ตรวจเอชไอวีเถอะครับ…ตรวจเพื่อ (ให้ชีวิต) ก้าวต่อ

บทความโดย: นิมิตร์ เทียนอุดม

http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000039255

Leave a Reply