วิจัย ชี้ ปัญหาหมอกควันที่ทำให้ฝุ่นละอองเพิ่มขึ้น ทำให้ 9 จังหวัดภาคเหนือพบสารก่อมะเร็ง 15 ชนิด เทียบเท่าสูบบุหรี่ 75 มวนต่อเดือน
เมื่อวานนี้ (5 เมษายน) นายศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ เปิดเผยว่า ผลวิจัยความเข้มข้นของฝุ่นละอองขนาด 2.5 ไมครอน ในชั้นบรรยากาศช่วงวิกฤติหมอกควันที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนใน 9 จังหวัดภาคเหนือ ได้แก่ เชียงราย พะเยา น่าน ลำปาง แพร่ อุตรดิตถ์ แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ และลำพูน มีความเข้มข้นมากขึ้น เมื่อนำช่วงปลายปี 2555 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเกิดวิกฤติ มาเทียบกับต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเกิดวิกฤติพอดี โดยจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอน เป็นจังหวัดที่มีประมาณฝุ่นละอองเพิ่มขึ้นมากที่สุด ร้อยละ 513 และ 509 ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่มีปริมาณฝุ่นเพิ่มขึ้นน้อยที่สุดได้แก่ เชียงใหม่ เพิ่มขึ้นร้อยละ 87
นายศิวัช กล่าวอีกว่า ในการตรวจความเข้มข้นของสารก่อมะเร็งในฝุ่นละออง พบว่า มีสารก่อมะเร็งสำคัญถึง 15 ชนิด อาทิ เบนโซไพรีน ที่มีความรุนแรงเทียบเท่าการสูบบุหรี่ 75 มวนต่อเดือน เป็นต้น ขณะที่ค่าเฉลี่ยของสารก่อมะเร็งทั่วไปอยู่ที่ 613 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วนจังหวัดที่มีสารก่อมะเร็งมากที่สุดคือ แม่ฮ่องสอน อยู่ที่ 3,864 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร รองลงมาคือ ลำพูน 866 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ส่วน แพร่ มีสารก่อมะเร็งต่ำสุดที่ 54 พิโคกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ ระบุอีกว่า ดังนั้นทางภาครัฐจึงต้องรณรงค์หยุดการเผาป่า หรือเพิ่มโทษสำหรับผู้ที่ฝ่าฝืนมากขึ้น มิเช่นนั้นประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือก็มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งได้