“ไม่พอใจอะไรก็โพสต์” ค่านิยมใหม่

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

วิจัยพบการกระหน่ำโพสต์ระบายความรู้สึกด้วยถ้อยคำรุนแรง หรือแสดงความกราดเกรี้ยวผ่านทางอินเทอร์เน็ตไม่ได้ช่วยให้จิตใจดีขึ้น แต่กลับทำให้จมอยู่กับปัญหา หรือความรู้สึกแย่ๆ นานมากขึ้นแทน

เป็นค่านิยมของสังคมยุคใหม่ไปเสียแล้ว กับการพบเจอเรื่องราวใดๆ ที่ไม่พอใจ ถูกแซงคิว รถถูกปาดหน้า ฯลฯ หรือถูกทำให้โกรธ ผิดหวัง ก็มาโพสต์ระบายอารมณ์กันบนโลกออนไลน์ ซึ่งหลายคนยอมรับว่าทำไปแล้วก็ได้รับความพอใจกลับมา บางครั้งอาจมีสะใจเล็กๆ เสียด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นหนทางแก้ไขปัญหาหรือเปล่า คำตอบคือ คงไม่ใช่ และอาจไม่ใช่หนทางที่จะทำให้คุณสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับชีวิตได้ แถมเป็นไปได้ด้วยว่า มันทำให้คุณจมอยู่กับความรู้สึกแย่ๆ เหล่านั้นนานมากขึ้น

ทั้งนี้ มีข้อมูลจากงานวิจัยเผยว่า การโพสต์ข้อความรุนแรง หรือข้อความเชิงลบผ่านทางโลกออนไลน์อาจทำให้รู้สึกสบายใจขึ้นในช่วงสั้นๆ แต่ในระยะยาวแล้ว มีแนวโน้มว่าผู้โพสต์จะยังยึดติดอยู่กับความโกรธ หรือความทุกข์นั้นๆ อยู่

นอกจากนั้นยังพบว่า การอ่านข้อความที่โพสต์ด้วยความรู้สึกในแง่ลบของคนอื่นๆ ในโลกออนไลน์ก็มีผลต่อจิตใจไม่แตกต่างจากการเป็นผู้โพสต์ข้อความในลักษณะนั้นๆ เช่นกัน

งานวิจัยชิ้นนี้ได้รับการเผยแพร่ใน the journal Cyberpsychology, Behavior, and Social Networking โดยศาสตราจารย์ไรอัน มาร์ติน ผู้เชี่ยวชาญในสาขาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-กรีนเบย์ หัวหน้าคณะวิจัยได้กล่าวว่า “เราพบว่าเว็บไซต์ส่วนหนึ่งกระตุ้นให้คนเข้ามาใช้เป็นเครื่องระบายอารมณ์ และสนับสนุนให้ใช้วิธีการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งในการจัดการกับความโกรธ โดยพวกเขามองว่าการเข้ามาระบายความโกรธนั้นเป็นวิธีที่ดีต่อสุขภาพ แต่ในความจริงแล้วไม่ใช่”

โดยผู้เชี่ยวชาญท่านนี้เผยว่ามีวิธีที่ดีต่อสุขภาพ และให้ผลในเชิงบวกสำหรับจัดการกับความโกรธอยู่มากมาย แต่การเข้ามาระบายความรู้สึกในโลกออนไลน์ มีแต่จะทำให้ปัญหายุ่งยากมากขึ้น และไม่ได้ทำให้จิตใจของคนๆ นั้น จดจ่ออยู่กับการแก้ปัญหา แต่ไปจดจ่ออยู่กับ “ปัญหา” มากกว่าจะลงมือแก้ไข

นอกจากนั้น การโพสต์ข้อความเชิงลบในอินเทอร์เน็ตยังแสดงให้เห็นถึงภาวะอ่อนแอทางจิตใจของมนุษย์อีกด้วย

“ในโลกนี้ มีผู้คนที่รู้สึกไม่พอใจกับสิ่งต่างๆ อยู่เป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นปัญหาการเมือง ปัญหาการแย่งที่ทำกิน ปัญหาในที่ทำงาน ปัญหาการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย ผู้คนเหล่านั้นเมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ชอบใจต่างก็รู้สึกว่าต้องทำอะไรสักอย่าง และมองว่า การระบายความรู้สึก หรือการไปแสดงความคิดเห็นอย่างรุนแรงบนโลกออนไลน์จะสามารถช่วยได้ แต่พวกเขาไม่รู้เลยว่า การโพสต์ข้อความแย่ๆ หรือโพสต์ข้อความหมิ่นประมาทผู้อื่นนั้นได้ทำร้ายคนรอบข้าง รวมถึงตัวพวกเขาด้วย เพราะเพื่อนๆ หรือคนในครอบครัวหากได้มาอ่านข้อความรุนแรง ก็จะเกิดความเจ็บปวดที่ได้รับรู้่ว่า คุณกำลังมีปัญหา ซึ่งเท่ากับเป็นการสร้างปัญหาต่อไปไม่รู้จบ ขณะที่คนที่ทำให้คุณรู้สึกโกรธนั้น ไม่ได้มารับรู้อะไรด้วยเลย”

กระทั่งคนที่สร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาในโลกออนไลน์ และหวังจะใช้ตัวตนที่คิดว่า ไม่มีใครรู้จักนี้ไปทำร้ายใครก็ได้ ศาสตราจารย์ไรอัน ก็กล่าวไว้เช่นกันว่า มันไม่จริงเสมอไป เพราะในโลกออนไลน์ที่คุณคิดว่าไม่มีใครรู้จักตัวตนที่แท้จริงของคุณนั้น สุดท้ายแล้วทุกสิ่งทุกอย่างสามารถ “ตรวจสอบได้” อยู่ดี และหากมีการใช้ตัวตนเหล่านั้นเพื่อกระทำสิ่งที่ไม่เหมาะสม สุดท้ายก็ต้องเป็นผู้โพสต์ที่จะต้องรับผลของกรรมนั้น

ดังนั้น ก่อนโพสต์คิดให้ดี เพราะหากโพสต์ไปแล้ว คุณจะหนีจากมันไปไม่ได้จนวันตาย

เรียบเรียงจากเดลิเมล

http://www.manager.co.th/Family/ViewNews.aspx?NewsID=9560000036458

Leave a Reply