สถาบันมะเร็งฯ เร่งศึกษายีนมนุษย์มีความไวต่อสารก่อมะเร็งอย่างไร เชื่อบางคนมียีนกำจัดได้ ชี้เหมือนคนสูบบุหรี่ทั้งชีวิตแต่ไม่เป็นมะเร็ง ย้ำยังคงต้องระวังอาหารที่มีสารก่อมะเร็ง ทั้งไส้กรอกอีสาน กุนเชียง ปลาร้า หมูปิ้ง หมูกระทะ ระบุทานได้แต่อย่าเยอะ
นพ.ธีรวุฒิ คูหะเปรมะ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ เปิดเผยว่า แม้โรคพยาธิใบไม้ตับจะเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งตับและโรคมะเร็งท่อน้ำดี แต่ตัวการที่สำคัญคือ สารก่อมะเร็งที่อยู่ในอาหารหรือที่เรียกว่าสารดินประสิว (สารไนโตรซามีน) เพราะการวิจัยในสัตว์ทดลองพบว่า เมื่อหนูมีการติดพยาธิใบไม้แล้วโอกาสการเป็นมะเร็งมีน้อย แต่หากได้รับสารก่อมะเร็งร่วมด้วยหนูจะเป็นมะเร็งทันที ดังนั้น การรับประทานอาหารนอกจากจะต้องระวังเรื่องพยาธิใบไม้ ซึ่งอยู่ในปลาน้ำจืดดิบแล้ว ยังต้องระวังอาหารที่ใส่สารดินประสิวด้วย เช่น ไส้กรอกอีสาน กุนเชียง ปลาร้า เป็นต้น
“หากจะรับประทานปลาร้าต้องทำให้สุกก่อน เพราะพยาธิสามารถอยู่ในตัวปลาร้าได้นานถึง 6 เดือน แต่เมื่อเข้าสู่ร่างกายของคนแล้วกลับสามารถอยู่ได้นานเป็นปี บางคนอาจคิดว่ารับประทานเข้าไปครั้งเดียวคงไม่เป็นไร แต่ปลาบางตัวมีไข่พยาธิเป็นหมื่นๆ ฟอง เมื่อมันเข้าไปก็จะสร้างลูกหลานออกมา ผ่านไป 30-40 ปี ตัวมันก็ใหญ่และอาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ เพราะแม้จะรับประทานน้อยก็ยังถือว่ามีความเสี่ยง” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าว
นพ.ธีรวุฒิ กล่าวอีกว่า สำหรับสารก่อมะเร็งมีโอกาสก่อให้เกิดเป็นมะเร็งได้มากน้อยเพียงใด ต้องดูที่ปริมาณและความถี่ในการทาน คือต้องทานบ่อยและปริมาณมาก แต่ไม่ใช่ทานทีเดียวแล้วจะเป็น เพราะร่างกายจะสามารถขับสารก่อมะเร็งออกมาได้ แต่ถ้าทานบ่อยๆ ก็จะเข้าไปสะสมเรื่อยๆ โดยเฉพาะทุกวันนี้ในชีวิตประจำวันเรามีสารก่อมะเร็งเยอะ หากหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง แต่ถ้าจำเป็นก็อย่าทานบ่อย เหมือนบุหรี่ที่สูบเข้าไปครั้งเดียวไม่เป็นไร แต่ถ้าสูบเข้าไปนานๆ ก็จะมีโอกาสเป็นมะเร็ง
“อย่างหมูปิ้ง หมูกระทะ ก็จะมีสารก่อมะเร็งจากการที่ไขมันหรือโปรตีนของเนื้อถูกเผาไหม้ หรือที่เรียกว่าสารเฮเทอโรไซคลิก ดังนั้น ข่าวที่ว่ามีถ่านชนิดใหม่ปลอดมะเร็ง เพราะไม่มีควันแสดงว่าเป็นความเข้าใจผิด เพราะสารก่อมะเร็งเกิดจากความร้อน นอกจากการปิ้งย่างแล้ว การรมควันก็ถือว่าไม่ดี เพราะมีสารก่อมะเร็งอยู่เช่นกัน หากจะรับประทานอาหารที่ปรุงจากการรมควันก็ไม่ควรทานบ่อยหรือเยอะ อย่างต่างประเทศตอนนี้ก็มีการรณรงค์อยู่” นพ.ธีรวุฒิ กล่าว
นพ.ธีรวุฒิ กล่าวด้วยว่า โรคมะเร็งนั้นไม่ได้มีแต่ปัจจัยเฉพาะอาหารเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับยีนส์ของแต่ละคนด้วย เพราะทุกวันนี้เราไม่รู้ว่ายีนส์ของแต่ละคนมีความไวต่อสารก่อมะเร็งเป็นอย่างไร บางคนอาจมียีนที่กำจัดสารก่อมะเร็งได้ เหมือนคนที่สูบบุหรี่จนแก่ทำไมถึงไม่เป็นมะเร็ง แต่คนที่สูบไม่นานกลับเป็นมะเร็ง ซึ่งตอนนี้สถาบันมะเร็งแห่งชาติกำลังมีการศึกษาในเรื่องนี้อยู่ร่วมกับญี่ปุ่น สถาบนวิจัยจุฬาภรณ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันมะเร็งแห่งชาติสหรัฐอเมริกา
“ในอนาคตเราอาจรู้ได้ว่าคนไหนมียีนที่มีความไวต่อมะเร็ง เพราะทุกวันนี้ทุกคนได้รับสารก่อมะเร็งกันหมด แต่บางคนอาจมียีนที่สามารถกำจัดสารก่อมะเร็งได้ ลักษณะเหมือนกับการแพ้ยา ทำไมบางคนแพ้ บางคนไม่แพ้ ซึ่งตอนนี้ก็มีการศึกษาอยู่ เพื่อนำมาใช้เช็กยีนส์ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะการสกรีนดังกล่าวมีราคาแพงมาก” ผอ.สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าว
http://www.manager.co.th/QOL/ViewNews.aspx?NewsID=9560000042463