เตือนมาเรื่อยๆ น้ำแข็งขั้วโลกใต้ลดลง 10 เท่าในรอบพันปี

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต
ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

งานวิจัยล่าสุดชี้น้ำแข็งแอนตาร์กติกาละลายเร็วขึ้นถึง 10 เท่าในรอบ 1,000 ปี (ไลฟ์ไซน์)

งานวิจัยพบคาบสมุทรในทวีปแอนตาร์กติกาแถบขั้วโลกละลายเพิ่มขึ้นถึง 10 เท่าในรอบพันปี โดยการละลายส่วนใหญ่เกิดขึ้นในช่วงไม่กี่สิบปีที่ผ่านมา ซึ่งเชื่อมโยงกับภาวะโลกร้อน และการละลายอย่างฉับพลันนี้อาจทำให้ธารน้ำแข็งและน้ำแข็งที่ยื่นไปในมหาสมุทรพังทลายลงมาได้ ส่งผลให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นหากการละลายยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“สิ่งที่เกิดขึ้นหมายถึงคาบสมุทรแอนตาร์กติกา (Antarctic Peninsula) ได้ร้อนขึ้นระดับที่แม้แต่การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเพียงเล็กน้อยก็นำไปสู่การละลายของน้ำแข็งในช่วงหน้าร้อนได้มโหฬาร” เนริลี อาบรัม (Nerilie Abram) ผู้ร่วมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย (Australian National University) และองค์การสำรวจแอนตาร์กติกอังกฤษ (British Antarctic Survey) กล่าว

อีริค สไตจ์ (Eric Steig) ผู้ร่วมวิจัยและศาสตราจารย์ด้านวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน (University of Washington) สหรัฐฯ กล่าวว่า การละลายของน้ำแข็งในคาบสมุทรแอนตาร์กติก ซึ่งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทวีป มีสาเหตุหลักๆ มาจากภาวะโลกร้อนโดยฝีมือมนุษย์ ซึ่งคาบสมุทรดังกล่าวเป็นหนึ่งในสถานที่ร้อนขึ้นเร็วที่สุดในโลก และการวิจัยอื่นๆ ก่อนหน้านี้เผยให้เห็นว่า ฤดูกาลละลายของน้ำแข็งในทวีปแอนตาร์กติกายาวนานผิดปกติ

เพื่อศึกษาภูมิอากาศในอดีตของแอนตาร์กติกาไลฟ์ไซน์ระบุว่า ทีมศึกษาได้เจาะลึกลงไปถึง 364 เมตรในแกนน้ำแข็งของเกาะเจมส์ รอสส์ (James Ross Island) ซึ่งเป็นเกาะที่อยู่ใกล้ปลายตะวันออกเฉียงเหนือของแอนตาร์กติกา โดยแกนน้ำแข็งได้ให้ร่องรอยของอุณหภูมิในอดีตของแอนตาร์กติกา และมีชั้นของของน้ำแข็งที่ละลายในหน้าร้อน และแข็งตัวขึ้นใหม่หลังจากนั้น ซึ่งมองเห็นได้จากแกนน้ำแข็งดังกล่าว ความหนาของของชั้นในแกนน้ำแข็งนี้เผยให้เห็นการละลายของน้ำแข็งในทวีปย้อนไปถึง 1,000 ปีที่ผ่านมา

อาบรัมกล่าวว่า ตอนนี้การละลายของน้ำแข็งในหน้าร้อยอยู่ในระดับสูงสุดเท่าที่เคยเกิดขึ้นในช่วง 1,000 ปีที่ผ่านมา และในขณะที่ช่วง 200-300 ปีแรกของสหัสวรรษ การละลายของน้ำแข็งก็เพิ่มสูงขึ้นมากครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 โดยการศึกษาของพวกเขาตีพิมพ์ลงวารสารเนเจอร์จีโอไซน์ (Nature Geoscience) ซึ่งบ่งชี้ว่า คาบสมุทรแอนตาร์กติกานั้นอาจะได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ

ส่วนภาพจากแกนน้ำแข็งที่เจาะขึ้นมาจากแอนตาร์กติกาตะวันตกนั้นยังไม่ชัดเจนเท่าไหร่นัก โดยมีลักษณะของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมากในอดีตคล้ายๆ กัน แต่ภาพดังกล่าวยังซับซ้อนและยากที่จะหาถึงสาเหตุที่แท้จริงของอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นดังกล่าว ซึ่งก็เป็นไปได้ว่าการละลายของน้ำแข็งที่ฝั่งตะวันตกนั้นเกิดจากสภาพอากาศเอลนีโญเมื่อช่วงทศวรรษที่ 1990

http://www.manager.co.th/Science/ViewNews.aspx?NewsID=9560000046266

Leave a Reply