7 วิธีลดอาการแน่นท้อง ท้องอืด

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

โรคกรดไหลย้อน ทำให้หลอดอาหารอักเสบ เป็นแผล และถ้าไม่ปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต (lifestyle) ร่วมกับการใช้ยาตามที่หมอแนะนำ อาจทำให้เยื่อบุหลอดอาหารเปลี่ยนแปลง (Barrett’s esophagus) และเสี่ยงมะเร็งเพิ่มขึ้นได้ในระยะยาว (พบน้อยมาก)

เรื่องสำคัญคือ โรคนี้ทำให้แน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว และ “รักษาไม่หาย” เป็นส่วนใหญ่ การปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตต่อไปนี้จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้อย่างมากมาย

วันนี้ขอแนะนำวิธีลดอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยวจากโรคกรดไหลย้อน วันนี้มี 7 วิธีลดแน่นท้อง ท้องอืด มาฝากค่ะ

(1). มื้อเล็กๆ บ่อยๆ

  • อาหารมื้อใหญ่ หรือการดื่มน้ำคราวละมากๆ จะทำให้กระเพาะอาหารโป่งออก และหูรูดหลอดอาหารส่วนล่างหย่อนลง กรดไหลย้อนได้มากขึ้น

(2). ลดเค้กลงหน่อย

  • ชอคโกแล็ต โกโก้ และกาเฟอีน ซึ่งพบในกาแฟ เครื่องดื่มกระตุ้นกำลัง ชา โกโก้ ไมโล โอวัลติน ชอคโกแล็ต อาจทำให้อาการแย่ลง
  • อาหารไขมันสูง เครื่องเทศบางอย่าง อาหารทอด ผลไม้ตระกูล citrus (ส้ม ส้มโอ เกรฟฟรุตหรือเสาวรส), หอมดิบ มะเขือเทศ เนย น้ำมัน เปปเปอร์มินต์ (สะระแหน่ มีมากในหมากฝรั่ง) อาจทำให้อาการแย่ลง
  • ไม่จำเป็นต้องลดอ���หารกลุ่มนี้ไปเสียหมด ขอเพียงจดบันทึกรายการอาหาร ทำเครื่องหมายไว้ว่า วันเวลาใดมีอาการมากประมาณ 2-3 อาทิตย์ จะเริ่มรู้ว่า อาหารใดแสลงโรคสำหรับเรา แล้วทดลองซ้ำ 2-3 ครั้ง ว่า แสลงจริง เพื่อจะได้กินครั้งละน้อยหน่อยต่อไป

(3).  อย่าดื่มแอลกอฮอล์

  • แอลกอฮอล์ทำให้หูรูดกระเพาะอาหารส่วนล่างคลายตัว กรดไหลย้อนได้ง่ายขึ้น
  • การศึกษาในปี 2542 พบว่า ยิ่งดื่มเหล้า เบียร์ ไวน์ หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาก, อาการยิ่งแย่ลง (Am J Medicine)

(4). อีกเหตุผลหนึ่งที่ (ควร) ลดน้ำหนัก

  • การศึกษากลุ่มตัวอย่างมากกว่า 10,000 คนในปี 2546 พบความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีมวลกาย (body mass index / BMI) กับโรคกรดไหลย้อน หรือ “ยิ่งอ้วนยิ่ง(ท้อง)อืด” (Int J Epidemiology)
  • คนอ้วนเป็นโรคกรดไหลย้อนเกือบ 3 เท่าของคนไม่อ้วน
  • กลไกที่อาจเป็นไปได้ คือ คนอ้วนมีไขมันในช่องท้องมากขึ้น แรงดันในช่องท้องมากขึ้น แรงดันนี้ไปบีบกระเพาะอาหาร
  • กลไกอื่นที่อาจเป็นไปได้ คือ ไขมันในช่องท้อง หรือภาวะอ้วนลงพุง อาจปล่อยสารเคมีไปรบกวนการทำงานของทางเดินอาหาร

(5). อย่าสวมเสื้อผ้าคับ

  • เสื้อผ้าคับๆ ทำให้แรงกดต่อกระเพาะอาหารมากขึ้น กรดไหลย้อนมากขึ้น

(6).  เอียงหัวเตียงขึ้น, หลับสบายขึ้น

  • การหลีกเลี่ยงอาหาร น้ำ หรือเครื่องดื่มมื้อใหญ่ก่อนนอน 2-3 ชั่วโมง และหาอะไรหนุนหัวเตียงให้สูงขึ้น 6-8 นิ้ว ช่วยให้กรดไหลย้อนจากกระเพาะอาหารไปหลอดอาหารได้น้อยลง
  • การหนุนหมอนหลายใบไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น
  • การศึกษาพบว่า กลไกสำคัญ คือ หลอดอาหารที่อยู่ในแนวนิ่งมากขึ้นทำให้กรดและน้ำย่อยในหลอดอาหารไหลลงกระเพาะฯ ได้เร็วขึ้น 67%

(7).หยุดสูบบุหรี่

  • นิโคตินในบุหรี่ ทำให้หูรูดหลอดอาหารส่วนล่าง (lower esophagus sphinctor / LES) หย่อนตัว ทำให้อาหาร น้ำ กรด น้ำย่อยไหลย้อนกลับจากกระเพาะอาหาร ขึ้นไปยังหลอดอาหารได้ง่าย
  • นิโคตินทำให้น้ำดีที่ช่วยย่อยไขมันในลำไส้เล็ก ไหลย้อนกลับ จากลำไส้เล็กไปกระเพาะอาหาร ซึ่งทำให้กระเพาะฯ และหลอดอาหารบาดเจ็บจากน้ำดีได้
  • นิโคตินมีฤทธิ์ทำให้การหลั่งน้ำลายลดลง น้ำลายมีสารเบสหรือด่างไบคาร์บอเนต คนรูปร่างใหญ่ (ฝรั่งขนาด 70 กิโลกรัม) กลืนน้ำลายวันละประมาณ 1.5 ลิตร ซึ่งช่วยปกป้องหลอดอาหารจากกรด เมื่อน้ำลายน้อยลง… หลอดอาหารจะบาดเจ็บได้ง่ายขึ้น

ภาพประกอบจากอินเตอร์เนต

ขอขอบคุณข้อมูล

  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ โรงพยาบาลห้างฉัตร ลำปาง สงวนลิขสิทธิ์. ยินดีให้นำไปเผยแพร่โดยอ้างอิงที่มาได้. ห้ามนำไปใช้เพื่อการค้า >  > 7 กรกฎาคม 2552.
  • ข้อมูล ทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแล ท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.

บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย

Leave a Reply