พระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิต กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ พระขนิษฐา 2 พระองค์
วันที่ 29 พฤศจิกายน ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) รับทราบการแจ้งมติคณะรัฐมนตรี กราบบังคมทูลอันเชิญ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร องค์ผู้สืบสันตติวงศ์ ขึ้นทรงราชย์ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” ของประชาชนชาวไทย
สำหรับพระราชประวัติสังเขป “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” รัชกาลใหม่
พระราชสมภพ
พระองค์ทรงพระราชสมภพ เมื่อวันจันทร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2495 เวลา 17 นาฬิกา 45 นาที ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นพระราชโอรสเพียงพระองค์เดียว ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มหิตลาธิเบศรรามาธิบดี จักรีนฤบดินทรสยามินทราธิราช บรมนาถบพิต กับสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระเชษฐภคินี 1 พระองค์ พระขนิษฐา 2 พระองค์
การศึกษา
ระหว่างพุทธศักราช 2499-2509
– ทรงได้รับการศึกษาระดับอนุบาลศึกษาที่พระที่นั่งอุดร พระราชวังดุสิต และโรงเรียนจิตรลดา
มกราคม – กันยายน 2509
– ทรงเข้ารับการศึกษาระดับประถมศึกษาที่โรงเรียน คิงส์ มิด เมืองซีฟอร์ด แคว้นซัสเซกส์ ที่ประเทศอังกฤษ
กันยายน 2509-กรกฎาคม 2513
– ทรงเข้ารับการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนมิลล์ฟิลด์ เมืองสตีท แคว้นซอมเมอร์เซท ประเทศอังกฤษ
สิงหาคม 2503-พฤษภาคม 2504
– ทรงเข้าศึกษาระดับเตรียมทหารที่โรงเรียนคิงส์สคูล นครซิดนี่ย์ ประเทศออสเตรเลีย
มกราคม 2515 -ธันวาคม 2519
– ทรงเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทรงได้รับปริญญาอักษรศาสตร์บัณฑิต (การศึกษาด้านทหาร) คณะการศึกษาด้านทหาร จากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ ประเทศออสเตรเลีย
นอกจากนี้ ยังทรงศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบกหลักสูตรประจำชุดที่ 56 ระหว่าง พ.ศ. 2520 – 2521 และทรงได้รับปริญญานิติศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช เมื่อปี 2530ครั้งถึงปี 2533 ทรงได้รับการศึกษา ณ วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักรแห่งสหราชอาณาจักรด้วย
เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ปวงชนชาวไทยต่างมีความปลาบปลื้มปิติยินดีเป็นอย่างยิ่งอีกครั้งหนึ่ง เมื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการประกาศสถาปนา สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ ขึ้นดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร มีพระนามาภิไธย ตามจารึกพระสุพรรณบัฎว่า
“สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร สิริกิตยสมบูรณสวางควัฒฯ วรขัตติยราชสันตติวงศ์ มหิตลพงศอดุลยเดช จักรีนเรศยุพราชวิสุทธิ สยามมกุฎราชกุมาร”
ทรงเจริญรอยตามเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ ในการบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่อาณาประชาราษฎร์ ดังประกาศระหว่างพิธีถวายสัตย์ปฎิญาณในการพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2515 ความว่า
“ข้าพเจ้าผู้เป็นสยามมกุฎราชกุมารจะรักษาเกียรติยศและอริยศักดิ์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ พระราชทานไว้ด้วยชีวิตจะภักดีต่อชาติบ้านเมือง จะซื่อสัตย์ต่อประชาชน จะปฏิบัติภาระหน้าที่ทุกอย่าง โดยเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ และโดยความเสียสละ เพื่อความเจริญสงบสุขและความมั่นคงไพบูลย์ของประเทศไทย จนตราบเท่าชีวิตร่างกายจะหาไม่”
ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมงกุฎราชกุมาร
เมื่อครั้นยังทรงพระเยาว์ได้โดยเสด็จ ฯ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ไปทรงเยี่ยมราษฎรในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศ เมื่อทรงพระเจริญวัยได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจด้านต่าง ๆ นานัปการ เพื่อประเทศชาติและประชาชนชาวไทยโดยมิได้ย่อท้อ
ทั้งที่ทรงปฏิบัติแทนพระองค์ และทรงปฏิบัติในส่วนพระองค์เอง ทั้งด้านการพระศาสนา การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข การทหาร ฯลฯ ล้วนนำมาซึ่งความผาสุกสงบแก่ประชาชน นำความเจริญไพบูลย์และความมั่นคงมาสู่บ้านเมือง
ที่มาภาพ:จากหนังสือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราลงกรณ สยามมกุฎราชกุมาร สโมสรไลออนส์ดุสิต กรุงเทพฯ จัดพิมพ์เฉลิมพระเกียรติ