พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาฉบับใหม่ ที่คาดว่าจะมีผลบังคับใช้กลางปีหน้า ปรับการติดตามหนี้จากผู้กู้หลังจบการศึกษา ขยับเพดานอัตราดอกเบี้ยเป็นไม่เกิน 7.5% ให้สถานประกอบการหรือนายจ้างหักเงินจากลูกจ้างที่เป็นลูกหนี้ ส่งคืนให้กองทุนฯ
นายปรีชา บูชางกูร รองผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ. กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาหรือ กยศ.ฉบับใหม่ มีการปรับปรุงให้กองทุนฯ มีการบริหารจัดการที่คล่องตัวมากขึ้น มีประสิทธิภาพในการติดตามหนี้ โดย หนึ่งในมาตรการที่นำมาใช้ คือ การเปิดเผยข้อมูลผู้กู้กับสถานประกอบการ โดยกองทุนจะแจ้งสถานประกอบทั้งภาครัฐ และเอกชนให้เป็นตัวกลางในการหักเงินจากลูกจ้างซึ่งเป็นลูกหนี้ กยศ.และนำเงินส่งโดยตรงกับกรมสรรพากร หากสถานประกอบการละเลยหรือไม่ปฎิบัติ ถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย และต้องรับผิดชอบในการชดใช้หนี้งวดที่ลูกหนี้ผิดนัดค้างชำระพร้อมเบี้ยปรับ
สำหรับการเปิดเผยข้อมูลผู้กู้ รองผู้จัดการกองทุน กยศ. ระบุว่าข้อมูลที่เปิดเผยจะเป็นไปเพื่อการติดตามหนี้เพื่อให้รู้หลักแหล่งที่ทำงาน ส่วนการที่สถานประกอบต้องหักเงินนำส่งสรรพากรนั้น ถือเป็นหน้าที่ที่ระบุไว้ในกฎหมาย แต่ไม่มีบทลงโทษต่อผู้กู้ มีเพียงบทลงโทษนายจ้างเท่านั้น
“กฎหมายใหม่กำหนดว่า ผู้กู้ทำงานที่ไหนมีหน้าที่แจ้งนายจ้างว่าเป็นหนี้ กยศ.และยินยอมให้หักเงินเดือนนำส่งสรรพากรเพื่อชำระหนี้กับกองทุน หลักการใหม่จะเป็นอย่างนี้” นายปรีชา กล่าว
ส่วนอัตราดอกเบี้ยที่ปรับเพิ่มขึ้นในกฎหมายระบุไว้ไม่เกินร้อยละ 7.5 ซึ่งอัตรานี้ มีการเพิ่มขึ้นจากดอกเบี้ยเดิมที่อยู่ร้อยละ 1 ซึ่งการเพิ่มอัตรดอกเบี้ย ก็เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้ผู้กู้ไม่ผิดค้างชำระ ซึ่งตัวเลขนี้ จะมีการกำหนดก่อนมีการทำสัญญาระหว่างกู้ในแต่ละปี โดยจะยึดตามสภาวการณ์ หรือการพิจารณาร่วมกันของบอร์ดกรรมกองทุนฯ )
ด้านโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชนหรือไอลอว์ เปิดเผยว่า ร่างกฎหมายใหม่นี้ผ่านความเห็นชอบประกาศใช้เป็นกฎหมายจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปตั้งแต่วันที่ 17 พ.ย.ที่ผ่านมา เหลือเพียงขั้นตอนการประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาเท่านั้น
———–ขอบคุณข้อมูลจาก http://news.thaipbs.or.th/content/259012