ใบประกอบวิชาชีพไอที หรือไอทีพาสสปอร์ต ถือเป็นใบเบิกทางสำหรับแรงงานด้านไอที ที่จะเข้าสู่องค์กรชั้นนำด้วยเอกสิทธิ์เหนือผู้อื่น
สวทช.จับมือ 15 สถาบันการศึกษา และบริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด สร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพไอทีให้แก่บุคลากรไทยในภาคการผลิต และบริการ เพื่อรับมือกับ AEC 2015 ในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีในวิชาชีพด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์
สถาบันวิทยาการ สวทช. สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมมือกับ 15 สถาบันการศึกษาทั่วประเทศ และบริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ในเครือทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมกันจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือและพิธีแถลงข่าวการจัดตั้ง เครือข่ายในโครงการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานวิชาชีพด้าน วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในภาคการผลิตและบริการ โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ เป็นประธาน
ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกูล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ/ สวทช. กล่าวว่า การสร้างเครือข่ายความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นความร่วมมือและการสนับสนุนระหว่าง สวทช. และสถาบันการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งหน่วยงานหรือองค์กรจากภาคเอกชน ในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาและยกระดับขีดความสามารถด้านมาตรฐานวิชาชีพไอทีขั้น สูงของนักศึกษาและบุคลากรของไทย ให้มีความรู้ ความสามารถและทักษะที่ได้มาตรฐานสากลอย่างแท้จริง เพื่อให้องค์กรสามารถนำมาตรฐานนี้ไปใช้เป็นเกณฑ์ในการพิจารณา สรรหา คัดเลือก ปรับ/ เลื่อนตำแหน่ง บุคลากรกรสายไอที
ตลอดจนเป็นการกระตุ้นให้สถาบันการศึกษามีแนวทางในการปรับปรุงหลักสูตร ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน การดำเนินการสอบวัดมาตรฐานทักษะความรู้ด้านไอที จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้บุคลากรที่สอบผ่านได้รับใบรับรองในคุณภาพของความรู้และทักษะวิชาชีพด้านไอทีระดับมาตรฐานสากล เป็นเครื่องมือในการรับประกันคุณภาพและความเชื่อมั่นที่ดีแก่ผู้ประกอบการหรือตลาดแรงงานทั้งในและนอกประเทศ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการเตรียมพร้อมของแรงงานไทยที่จะรับมือในเรื่องการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรี ในสาชาวิฃาชีพด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ของการเป็นภาคีหนึ่งในประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC 2015
ความร่วมมือกับสถาบันการศึกษาจำนวน 15 แห่งในครั้งนี้ เป็นรูปแบบที่สถาบันการศึกษาจะให้การสนับสนุนการจัดสอบมาตรฐานวิชาชีพไอทีใน ฐานะเป็นศูนย์สอบและศูนย์ติวสอบ และสนับสนุนให้นักศึกษาและบุคลากรทั้งภายในและเครือข่ายภายนอกเข้าร่วม สอบ โดยสถาบันการ ศึกษาที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ ประกอบด้วย
มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี, มหา วิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, มหาวิทยาลัยราชภัฏกาฬสินธุ์, มหาวิทยาลัยราชภัฏราชนครินทร์, มหาวิทยาลัยศิลปากร, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, มหาวิทยาลัยสยาม,มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ และสถาบันการจัดการปัญญาวิภัฒน์
ผศ.ดร.เมธี สรรพานิช รองอธิการบดีวิทยาเขตภูเก็ต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในฐานะผู้แทนของสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการฯ เปิดเผยว่า การเข้าสู่ประชาคมอาเซียนในอีก 4 ปีข้างหน้า ส่งผลให้สถาบันการศึกษาของไทยต้องปรับตัวทั้งในแง่ของหลักสูตร การจัดการเรียนการสอน และการพัฒนาบัณฑิตออกสู่ตลาดแรงงาน เพื่อให้สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น
การสอบวัดมาตรฐานความรู้วิชาชีพ ITPE จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการพัฒนาและยกระดับมาตราฐานความรู้ของบัณฑิตไทยโดย เฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมเครือข่ายในวันนี้ ต่างได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่นักศึกษาของตนจะได้รับจาก ITPE ทั้งในแง่ของการยอมรับในความสามารถของบัณฑิตจากนานาประเทศ โอกาสการได้งานทำทั้งในประเทศไทยและประเทศในกลุ่มอาเซียน
นอกจากนั้น การสอบมาตรฐานยังทำให้เกิดการผลักดันให้เกิดการยกระดับการเรียนการสอนใน สถาบันการศึกษาต่างๆ ของประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพและได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น
พร้อมกันนี้ บริษัท ทรู อินฟอร์เมชั่น เทคโนโลยี จำกัด ซึ่งเป็นหน่วยงานภาคเอกชนชั้นนำด้านไอทีได้ให้ความสำคัญและสนับสนุนโครงการนี้ โดยได้เล็งเห็นและตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนามาตรฐานบุคลากรด้านไอทีขององค์กร และการสร้างกลยุทธ์ในการพัฒนาบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องกับไอที
จึงได้มีนโยบายที่ชัดเจนเกี่ยวกับการคัดเลือกบุคลากรเข้าทำงานที่ผ่านโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพ ITPE มีการจัดส่งบุคลากรของบริษัทฯ เพื่อร่วมติวและร่วมสอบในโครงการฯ อย่างต่อเนื่อง ตลอดจนมีการสนับสนุนความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางวิชาการ และแลกเปลี่ยนบุคลากรประสบการณ์เกี่ยวกับการทำงานด้านไอที ในกรณีที่มีการประชุม–สัมมนาเชิงวิชาการ การจัดอบรม และการเรียนการสอนในหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับเรื่องไอที
นอกจากนี้ ดร.ทวีศักดิ์ ผอ. สวทช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ทาง สวทช. ได้มอบหมายให้สถาบันวิทยาการ สวทช. (NSTDA Academy) จัดทำโครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที (Information Technology Professional Examination-ITPE) ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และ Information Technology Promotion Agency (IPA) ภายใต้การกำกับดูแลของ Minister of Economy, Trade and Industry (METI) หรือ กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของประเทศญี่ปุ่น เพื่อผลักดันให้มีการสอบมาตรฐานวิชาชีพด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ไม่อิงผลิตภัณฑ์ในประเทศขึ้น โดยร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย พม่า ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ภายใต้ชื่อ IT Professionals Engineer Examination Council (ITPEC)
โครงการสอบมาตรฐานวิชาชีพไอที จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2549 และจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 6 โดยมีวิชาเปิดสอบในปัจจุบันจำนวน 2 วิชา คือ Fundamental Information Technology Professional Examination (FE) และ วิชา Information Technology Passport Examination (IP) และมีนักศึกษา และคนทำงานในสายวิชาชีพไอที สมัครเข้าร่วมในโครงการจำนวน 5,579 คน มีผู้เข้าสอบจำนวน 5,037 คน และมีผู้สอบผ่านจำนวน 493 คน คิดเป็นเปอร์เซ็นต์เฉลี่ยของการสอบผ่าน 9.79 % การดำเนินความร่วมมือเพื่อจัดตั้งเครือข่ายในครั้งนี้ จะผลักดันให้มีจำนวนผู้สมัครสอบโดยรวมของประเทศทั้งสิ้นมากกว่า 2,000 คนต่อปี
สำหรับการสอบในปี 2554 นี้ เปิดโอกาสให้ผู้สนใจเข้าสมัครสอบ โดยมีศูนย์ติวสอบทั่วประเทศ เพื่อเป็นอีกแนวทางในการเตรียมตัวสอบ พร้อมตัวอย่างข้อสอบเก่าที่ได้รวบรวมไว้ที่หน้าเว็บโครงการฯ สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่ สถาบันวิทยาการ สวทช. โทร. 02-642-5001 โทรสาร 02-642-5014 หรือ http://www.nstdaacademy.com/ และ e-mail: mailto: itpe@nstda.or.th