ปฏิรูปการศึกษา
1. ศ.พิเศษภาวิช ทองโรจน์ ขอ 6 เดือน ทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่เสร็จ
2. นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา ขอจับเรื่องปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปครูก่อน
3. รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ ชี้ว่าประเทศผู้นำด้านการศึกษาใช้เวลาปฏิรูปหลักสูตรถึง 10-20 ปีกว่าจะสำเร็จ
กรุงเทพฯ * “ภาวิช” ขอ 6 เดือนทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่เสร็จ ชี้จะกำหนดให้ชัดเจนไปเลยว่าครูต้องสอนอะไร สอนอย่างไร ขณะที่นักเรียนจะเรียนในห้องเรียนน้อยลง แต่ให้ทำกิจกรรมนอกห้องเรียนแทน พร้อมเสนอ 5 ยุทธศาสตร์ปฏิรูปการศึกษาชาติ ขณะที่ “พงศ์เทพ” ขอจับเรื่องปฏิรูปหลักสูตร ปฏิรูปครูก่อน “สมพงษ์” เตือนต้องรอบคอบระวังพลาด ชี้เพราะประเทศผู้นำด้านการศึกษาใช้เวลาปฏิรูปหลักสูตรถึง 10-20 ปีกว่าจะสำเร็จ แต่ไทยจะใช้เวลาแค่ 6 เดือนหรือ
ศ.พิเศษภาวิช ทองโรจน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ที่ปรึกษา รมว.ศธ.) ในฐานะประธานกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวบรรยายเรื่อง “การปฏิรูปหลักสูตร : ประเด็นสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาไทย” ในงานประชุมระดมความคิดเรื่องกรอบแนวทางการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยมีนายพงศ์เทพ เทพกาญจนา รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ศธ. เป็นประธาน เมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า หลักสูตรการศึกษาเป็นสาเหตุหนึ่งของคุณภาพการศึกษา ซึ่งหลักสูตรการศึกษาที่ดีจะต้องมีความทันสมัย มีวงจรการประเมินผลการใช้งาน มีการกำหนดระยะเวลาปรับหลักสูตรเป็นรอบๆ ขณะที่ปัจจุบันระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของเราใช้หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551 ซึ่งหากดูในเนื้อหาแล้วหลักสูตรดังกล่าวเป็นเพียงการปรับเล็กจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2544 ฉะนั้นอาจบอกได้ว่าหลักสูตรที่เรายึดใช้อยู่เก่าไปแล้ว ขณะเดียวกันก็ดูจะมีปัญหากับการใช้อยู่ในปัจจุบัน
ที่ปรึกษา รมว.ศธ. กล่าวอีกว่า หากลงลึกในหลักสูตรแกนกลางฯ พ.ศ.2551 จะพบว่าเป็นหลักสูตรแบบย่อ เพื่อจะเปิดโอกาสให้ครูสามารถนำความรู้ไปต่อยอดการสอนเอง หรือเป็นการออกแบบหลักสูตรที่ต้องการครูเก่ง แต่สภาพความเป็นจริงไม่เป็นอย่างนั้น ทำให้หลักสูตรปัจจุบันไม่ช่วยให้ผลสัมฤทธิ์การศึกษาดีขึ้น ขณะเดียวกันหลักสูตรปัจจุบันยังมีวิธีการบรรจุความรู้ให้นักเรียนแบบหน้ากระดาน ผ่านวิชาตามกลุ่มสาระการเรียนรู้ทั้ง 8 โดยเฉพาะกับนักเรียนช่วงชั้นประถมต้น ไม่เหมือนในต่างประเทศที่มีผลสัมฤทธิ์การศึกษาดี อย่างประเทศฮ่องกง เกาหลี สิงคโปร์ และอังกฤษ ที่มีวิธีการบรรจุความรู้ให้นักเรียนอย่างมีการวางระบบที่สอดคล้องกับช่วงวัย อย่างช่วงชั้นประถมต้น จะเน้นเรื่องการสอนทักษะชีวิต การใช้ภาษาเป็นหลัก อาทิ วิชาวิทยาศาสตร์ จะเป็นการเรียนรู้วิทยาศาสตร์เบื้องต้นที่ผ่านการบรูณาการหลายเนื้อหาของช่วงชั้นประถมต้น และเพิ่มเป็นรายวิชาวิทยาศาสตร์ในชั้นประถมปลาย หรือช่วงชั้นที่สูงขึ้น
ส่วนโครงสร้างเวลาเรียน พบว่า ปัจจุบันเด็กไทยมีชั่วโมงเรียนในห้องเรียนมากเป็นอับดับ 2 ของโลก คือระดับประถมศึกษา 1,000 ชั่วโมงต่อปี ระดับมัธยมศึกษา 1,200 ชั่วโมงต่อปี เป็นรองประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกาที่มีชั่วโมงในห้องเรียนมากสุด 1,400 ชั่วโมงต่อปี ขณะที่ประเทศฮ่องกงซึ่งมีคะแนนการสอบพิซาเป็นอันดับ 1 มีชั่วโมงเรียนในห้องเรียน 700 ชั่วโมงต่อปี และผลวิจัยของยูเนสโกชี้ว่า ชั่วโมงเรียนในห้องเรียนที่ดีต้องอยู่ที่ประมาณ 800 ชั่วโมงต่อปีเท่านั้น ดังนั้น แน่นอนว่าการปฏิรูปหลักสูตรครั้งนี้จะต้องมีการปรับสัดส่วนชั่วโมงเรียนในห้องเรียนลดลงแน่นอน แต่ก็ยืนยันว่าไม่ใช่การลดการจัดการศึกษา เพราะจะเป็นการทดแทนด้วยชั่วโมงเรียนโครงงาน กิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ด้วยตัวเอง
“คาดว่าจะออกแบบหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐานใหม่ได้เสร็จสิ้นภายใน 6 เดือนนับจากนี้ ส่วนแนวทางหลักสูตรครั้งนี้ เราจะลงลึกในรายละเอียดมากขึ้น อย่างครู เราจะกำหนดเลยว่าต้องสอนอะไร สอนอย่างไร หรือครูคนใดเก่งอยู่แล้ว อยากสอนนอกเหนือที่กำหนดก็สามารถทำได้ ใครไม่คิดเพิ่มก็ทำตามที่กำหนด ส่วนนักเรียนจะเรียนเนื้อหาวิชา มีชั่วโมงเรียนที่เหมาะสม โดยเราจะออกแบบไม่ทำให้การเรียนเหมือนการติดคุก” ศ.พิเศษภาวิชกล่าว
ศ.พิเศษภาวิช กล่าวทิ้งท้ายว่า การปฏิรูปหลักสูตรจะทำอย่างเดียวไม่ได้ ต้องทำควบคู่กันไปเป็น 5 ยุทธ ศาสตร์ ได้แก่ การปฏิรูปหลักสูตร การปฏิรูปครู การตั้งศูนย์ STEME ทุกจังหวัดเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม คณิตศาสตร์ และอังกฤษ ให้โรงเรียนทั่วประเทศ การใช้ไอซีทีเพื่อการศึกษา และการปฏิรูปโครงสร้าง ศธ. ซึ่งที่ผ่านมาเคยเสนอนายพงศ์เทพไปแล้ว ขณะที่ รมว.ศธ.ก็หนักใจ และขอจับเรื่องปฏิรูปหลักสูตรก่อน อย่างไรก็ตาม เพราะเรื่องการกระจายอำนาจก็มีผลต่อคุณภาพการศึกษา อย่างกรณีตั้งเขตพื้นที่การศึกษา ซึ่งปัจจุบันต้องยอมรับว่าเขตพื้นที่ฯ ไม่รู้ว่าหน้าที่คืออะไร เพราะเราไม่กำหนดชัดเจน ทำให้เกิดการกินหัวคิวโยกย้าย การรับใต้โต๊ะเต็มไปหมด ขณะที่โรงเรียนก็เริ่มหมดความเข้มแข็งลงไปทุกวัน แต่หากเป็นประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีกลับไม่ต้องมีเขตพื้นที่ฯ เพราะเขาให้อำนาจโรงเรียนไปเลย
นายพงศ์เทพ กล่าวว่า เราต้องมีการทบทวนสัดส่วนโครงสร้างเวลาเรียนใหม่ ปัจจุบันเรามีชั่วโมงเรียนมาก แต่ประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาดีกลับมีชั่วโมงเรียนน้อยกว่าเรา ดังนั้นทัศนคติที่ว่าเรียนมากจะรู้มากก็ไม่จริงเสมอไป ทั้งนี้ หากเราสอนให้เด็กรู้จักคิด วิเคราะห์เป็น เด็กก็สามารถคิดวิเคราะห์เรื่องอื่นได้ด้วยโดยอาจไม่ต้องสอนเนื้อหานั้น อย่างไรก็ตาม การปฏิรูปหลักสูตรและการปฏิรูปครูเป็นเรื่องหลักที่ตนเน้น ส่วนเรื่องปฏิรูปโครงสร้าง ศธ.เป็นเรื่องเสริม ซึ่งค่อยทำเมื่อเรื่องหลักสำเร็จก็ได้
ด้าน รศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะกรรมการปฏิรูปหลักสูตรและตำราฯ กล่าวว่า ระยะเวลา 6 เดือนที่ตั้งเป้าทำหลักสูตรใหม่เสร็จสิ้น อยากเตือนให้ออกแบบหลักสูตรด้วยความละเอียดรอบคอบ เพราะกลัวจะพลาด อย่างประเทศที่มีคุณภาพการศึกษาอันดับที่ 1 หรือ 2 ของโลก เขาทำทั้งวิจัยและพัฒนาหลักสูตรใช้เวลา 10-20 ปี ตนเห็นด้วยกับข้อเสนอ 5 ยุทธศาสตร์ เพราะเป็นเรื่องสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ซึ่งอยากให้นำแต่ละข้อเสนอมากำหนดขอบเขตเวลาที่จะเริ่มต้นและเสร็จสิ้นเพื่อให้เป็นรูปธรรมด้วย.
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
http://www.glongchalk.com/?p=3174
http://www.thaipost.net/news/110313/70685
http://www.moe.go.th/moe/th/news/detail.php?NewsID=32003&Key=hotnews