http://www.youtube.com/watch?v=FM5QxQNDsDQ
ดูข่าวเรื่องบริษัทสหฟาร์มที่ลพบุรีประกอบธุรกิจแล้วขาดสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายค่าตอบแทนตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา จนคนงานออกมาประท้วง แล้วขู่ว่าจะเผาโรงงาน หากไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ค้างไว้ ทำให้นึกถึงเพลง 2 เพลงคือ เพลงใส่ร้ายป้ายสี ของไฮเปอร์ และเพลงแฟนนอกใจจะอภัยหรือแก้แค้น ของ วิว ชัชวาล ที่มีเนื้อหาเล่าถึงความรู้สึกของคนถูกทิ้ง คนที่เป็นฝ่ายเสียหายก็จะเสียใจ แล้วสามารถทำให้อีกฝ่ายเสียใจกว่าเพื่อแก้แค้น แม้การกระทำจะไม่ได้อะไรนอกจากความเจ็บปวดของทั้งคู่ที่จะตราตรึงตลอดไป เหตุการณ์แบบนี้เห็นได้ในละครไทยอยู่เป็นนิจ
กรณีของสหฟาร์มที่บริษัทประกอบธุรกิจผิดพลาด คาดว่าไม่สามารถรั้งให้บริษัทดำเนินธุรกิจต่อไปได้ จนขาดสภาพคล่องและไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนทั้งกับพนักงาน และผู้เลี้ยงไก่ ส่งผลให้มีการเผาโรงงานซึ่งข้อเท็จจริงอยู่ระหว่างการสอบสวน ในทางคอมพิวเตอร์ก็มีประเด็นที่คล้ายกัน และมีหลายองค์กรเคยประสบปัญหาแล้ว เพราะเราไว้ใจมนุษย์ด้วยกันไม่ได้ มีผลสำรวจการก่ออาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ว่าการกระทำความเสียหายให้กับระบบมักเกิดจากคนในองค์กรเป็นส่วนใหญ่ อาทิ พนักงานเขียนโปรแกรมที่ทำงานกับองค์กรมานับสิบปี หากถูกเชิญออกกระทันหัน ก็อาจเสียใจแล้วเดินไปตามหน่วยงาน เข้าลบโปรแกรมที่ตนเคยทำไว้ออกจากทุกเครื่อง ทำให้วันต่อมาหน่วยงานไม่สามารถทำงานได้ตามปกติ
ดังนั้นบริษัทขนาดใหญ่ จึงต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องความปลอดภัยทางคอมพิวเตอร์หลายคน หากมีใครถูกให้ออกก็ต้องดำเนินการอย่างเฉียบพลันไม่ให้พนักงานคนนั้นมีโอกาสสร้างประตูหลัง (Backdoor) หรือตารางงานไม่พึงประสงค์ (Intruder tasks) เพราะปรกติจะเปิดให้มีการเข้าถึงระบบฐานข้อมูลจากนอกบริษัท หรือมีโปรแกรมประมวลผลในระบบจำนวนมาก หากมีผู้ดูแลระบบเปลี่ยนเป็นผู้ไม่ประสงค์ดี แล้วแอบวางโปรแกรมไม่พึงประสงค์ให้ทำงานหลังจากเขาพ้นสภาพการเป็นพนักงาน เพื่อลบข้อมูลจากระบบทั้งหมด ก็จะเป็นความเสียหายที่บริษัทอาจยอมรับไม่ได้ อาทิ ธนาคาร หรือตลาดหลักทรัพย์ ดังนั้นการให้ความรู้เรื่องคุณธรรม จริยธรรม จึงเป็นกิจกรรมขององค์กรที่ต้องมีอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันผู้ที่อาจมีความคิดชั่ววูบมาทำร้ายองค์กรในอนาคต