ได้เข้าร่วมงานสัมมนาโครงการออกหน่วยจัดการทรัพย์สินทางปัญญาสัญจร ครั้งที่ 2 เพื่อให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา เครื่องหมายการค้า สิทธิบัตร อนุสิทธิบัตร ลิขสิทธิ์ แผนผังภูมิของวงจรรวม ความลับทางการค้า และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ณ มหาวิทยาลัยเนชั่น ลำปาง เมื่อวันที่ 17 พ.ค.56 ทำให้ทราบว่าทรัพย์สินทางปัญญามีกฎระเบียบ เงื่อนไข และหน้าที่ของหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับการคุ้มครอง ให้สิ่งที่ได้ถูกสร้างสรรค์ของเราไม่ถูกคัดลอก ไม่แอบอ้าง และมีการนำไปใช้อย่างถูกต้องตามกฎเกณฑ์
ในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมทรัพย์สินทางปัญญามี 7 ฉบับ ซึ่งดร.สรรพวรรธ วิทยาศัย วิทยากรจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้นิยามในแบบที่คุ้นเคยว่า ทรัพย์สินทางปัญญาเป็นอะไรที่เราทำขึ้นแล้วมีคนลอกไปได้ แสดงว่าจดทรัพย์สินทางปัญญาได้ สำหรับสถานที่รับจดทะเบียนเพื่อขอรับการคุ้มครอง โดยปกติจะยื่นได้ที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เป้าหมายของการปกป้องก็เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ ป้องกันการลอกเลียน ที่เห็นสินค้าลอกเลียนใกล้ตัว เช่น สินค้าจากประเทศจีน ทั้งซีดี รองเท้า กระเป๋า เสื้อผ้า ของตกแต่ง และเครื่องใช้ไฟฟ้า
วิทยากรได้นำเสนอ วงจรของสินค้า คือ ออกแบบใหม่ จำหน่ายได้ราคา ลอกเลียนสินค้า แล้วราคาตก จากนั้นก็ต้องออกแบบใหม่เป็นวงจรเรื่อยไป ซึ่งหลังออกแบบนี้เองที่จะต้องยื่นจดสิทธิบัตร เพื่อให้ผลงานที่จำหน่ายไม่ถูกลอกเลียน แล้วมีราคาสูง เมื่อสิทธิบัตรหมดอายุก็จะมีคู่แข่งผลิตขึ้นมาจำหน่ายจำนวนมากเป็นผลให้ราคาตกลงไปจากเดิม ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือบริษัท sony ยื่นจดสิทธิบัตรทีวีจอแบน แต่ใช้เวลาพัฒนาผลิตภัณฑ์เป็นเวลานานจึงนำออกจำหน่าย เมื่อหมดอายุก็จะมีบริษัทคู่แข่งผลิตออกมา ทำให้สินค้าที่เคยมีเพียงบริษัทเดียวมีราคาลดลง ซึ่งสรุปได้ว่าสินค้าที่จะได้รับความคุ้มครองต้องเกิดจากการสร้างสรรค์ ทำซ้ำได้ มีลักษณะเฉพาะ ไม่มีลักษณะต้องห้าม และต้องไม่เหมือนที่จดไปแล้ว หากสนใจเรื่องนี้ก็ต้องศึกษารายละเอียดจากเอกสารเผยแพร่ของกรมทรัพย์สินทางปัญญาต่อไป