สรยุทธ สุทัศนะจินดา จากสื่อ 2553 ทำให้ผมรู้สึกว่า
เขาเป็นผู้มี จิตอาสาเป็นเลิศ ได้รับการโจษจันทั่วทุกแคว้น
———————
24 ธ.ค.53 สรยุทธ สุทัศนะจินดา (Sorayuth Suthatsanajinda) วัย 44 ปี คือ นักเล่าข่าว (News Talk) ที่มีชื่อเสียงที่สุดในวงการ จากรายการ เรื่องเล่าเช้านี้ คุยคุ้ยข่าว และ ถึงลูกถึงคน กล่าวกันว่า ชั่วโมงนี้ ไม่มี พิธีกรนักเล่าข่าวคนใดในวงการที่ทรงอิทธิพลเท่า “เฮียสอ“
จุดเด่นของ “สรยุทธ” ที่ไม่มีใครทาบติด คือ
ลีลาแบบดุ เผ็ด เด็ด มัน
แต่นักวารสารศาสตร์ ยกให้เขาเป็น “สื่อดราม่า” ตัวพ่อ
“ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์” อาจารย์วารสารศาสตร์ ม.หอการค้า อธิบาย ปรากฏการณ์นักข่าว “ดราม่า” หรือ Emo-Journalism (Emotion Journalism) ว่าหมายถึง วารสารศาสตร์ที่ขับเน้นแต่อารมณ์ ความรู้สึกของผู้เสพข่าวสารเป็นหลัก
บทบาทของนักข่าวในแนวของ Emo-Journalism ผิดแผกแตกต่างจากนักข่าวในแบบเดิมที่ได้รับการสั่งสอน บ่มเพาะให้นำเสนอข่าวด้วยความเป็นกลาง เที่ยงตรง เป็นธรรม พยายามดึงตัวเองออกจากเรื่องราวข่าวสารที่กำลังนำเสนอ
ที่สำคัญ คือ นักข่าวรวมทั้งผู้ประกาศข่าวต้องไม่แสดงอารมณ์รัก ชอบ เกลียด โกรธ ผ่านออกมาทางการรายงานข่าว
แต่นักข่าว หรือผู้รายงานข่าวในแนว Emo-Journalism ไม่เพียงแต่แสดงอารมณ์ความรู้สึกผ่านการรายงานข่าวเท่านั้น หากแต่ยังกระโดดเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในตัวละครข่าว
พูดง่ายๆว่า ข่าวกลายเป็นเรื่อง “ดราม่า” มากๆ โดยมีนักข่าวเป็นตัวละครเอกคนหนึ่งในข่าว
ปี 2553 Emo-Journalism ถูกปรุงรสลงตัวที่สุด ในตัว เจ้าพ่อนักเล่าข่าวที่ชื่อ “สรยุทธ”
ถ้านึกภาพไม่ออกขอให้ย้อนไปดูวีรกรรมของเขาในช่วงวิกฤตน้ำท่วมทั่วไทย ชาวบ้านตาดำๆ ลอยคออยู่ในน้ำ บ้านเรือนจมหาย หมดเนื้อหมดตัว แล้วจู่ๆ เฮียสอ ตัวเป็นๆ ก็ลุยน้ำออกมา ร่วมทุกข์ร่วมสุขกับชาวบ้านในหลายพื้นๆที่จากภาคอีสานถึงหาดใหญ่
ภาพที่ชาวบ้านร้องไห้ กอดคอ “สรยุทธ” เป็นภาพที่ถูกนำไปเปรียบเทียบกับนายกรัฐมนตรี “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” ที่ออกไปเยี่ยมเยือนชาวบ้านที่กำลังจมน้ำ แต่นายกฯอยู่บนรถบรรทุกทหารจีเอ็มซี พร้อมบริวารมากมาย หรือ ภาพผู้นำตัวแห้งบนเรือที่ถูกลากโดยข้าราชการที่เปียกน้ำ
“ผมว่ายน้ำไม่เป็น แต่ผมอยากมาช่วยเหลือพี่น้อง” คำพูดเพียงแค่นี้ของ “สรยุทธ” ก็ได้ใจคนทั้งประเทศ
ขณะที่น้ำท่วมใหญ่ที่หาดใหญ่ ชั่วโมงแรก ๆ ไม่มีใครรู้นายกรัฐมนตรี อยู่ที่ไหน แต่ในจอทีวีช่อง 3 “สรยุทธ” เข้าไปถึงพื้นที่ที่วิกฤตที่สุด พร้อมความช่วยเหลือ หญิงชาวบ้านที่เดือดร้อนสาหัส กอดเฮียสอ …ร้องไห้โฮ !!! นี่มันยิ่งกว่า ดราม่า เสียอีก
บนความหายนะของชาวบ้าน ใครจะเชื่อว่า สรยุทธ และช่อง 3 ระดมความช่วยเหลือเพื่อเยียวยาความเสียหายจากน้ำท่วม ได้อย่างรวดเร็วและทันเวลา ไม่ว่า “สรยุทธ” ขออะไร ภาคธุรกิจก็ตอบสนองให้ในทันทีในรายการเล่าข่าว ขณะที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐ เป็นไปอย่างเชื่องช้า ตามระบบราชการ
ในบทบาทของฮีโร่ “สรยุทธ” สอบได้คะแนนเต็ม แต่ในบทบาท “แมลงวัน” ที่ตอมกลิ่นฉาวในวงการบันเทิง “สรยุทธ” ก็เล่นกับข่าว “ฟิล์มและแอนนี่” ได้อย่างถึงพริกถึงขิง กล่าวกันว่า ในช่วงที่สรยุทธ์ เอา “แอนนี่” มาแฉ ฟิล์ม กลางจอช่อง 3 วันนั้น ถนนกลางกรุงเทพว่าง ไม่มีรถวิ่ง ราวกับวันหยุดยาวช่วงสงกรานต์
“ฟิล์มกับแอนนี่” ในการกำกับของเฮียสอ กระชากเรตติ้งของช่อง 3 ที่ดีอยู่แล้ว ให้พุ่งกระฉูด จนทีวีช่องอื่นๆ ง่วงเหงาหาวนอน
แต่เมื่อ กระแสสังคมตีกลับ วิจารณ์สื่อที่ไปยุ่งกับเรื่องส่วนตัวของดารามากเกินไป “สรยุทธ” กลับตัวได้เร็วกว่าใครเพื่อน
นี่คือความเป็นสุดยอดของ “นักเล่าข่าว” ที่หาตัวจับได้ยากยิ่ง เพราะเขารู้ว่า เมื่อใด ควรรุก เมื่อใด ควรถอยและหยุด และในวันที่ “คนรักบอล” กำลังเซ็งเป็ดกับ “ทีมฟุตบอลไทย” ที่ฟอร์มตก จนต้องลุกขึ้นมา ประท้วงขับไล่ “วรวีร์ มะกูดี” ให้ ลาออกจากตำแหน่งนายกสมาคมฟุตบอลฯ จุดรวมตัวที่ดีที่สุดคือ ช่อง 3 และหนังสือขับไล่นายกสมาคมฯ ก็ถูกยื่นใส่มือ “สรยุทธ”
เหตุก็เพราะในสายตาชาวบ้าน “สรยุทธ”เป็นมากกว่าสื่อ เพราะหมอนี่ (มัน) พึ่งได้ทุกเรื่อง !
“สรยุทธ” เคยเผยเทคนิคการสร้างความใกล้ชิดกับคนดู ว่า “ต้องมี Contact อะไรบางอย่าง ต้องสื่อสารกับคนดูเหมือนเขานั่งอยู่กับเรา สมัยก่อนบางวันผมทำรายการแล้วรู้สึกไม่สนุก เพราะรู้สึกว่า Contact เขาไม่ถึง ถ้าวันไหนสนุก ก็ Contact ถึง”
หลักในการ Contact ให้ถึงผู้ชมของ สรยุทธ คือ
1. มีพื้นฐานข่าว มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งต้องใช้เวลา ต้องสร้าง และมันไม่มีทางลัด ทำให้การเล่าข่าวมาจากความเข้าใจ เนื้อหาอยู่ในหัว
2. มีความเป็นมนุษย์ พิธีกรข่าวไม่ใช่ผู้วิเศษ ผิดพลาดได้ เก่งและไม่รู้ได้ แต่ให้เป็นธรรมชาติ ไม่โอเวอร์ แต่ก็ต้องไม่จืด
เทคนิคของ “สรยุทธ” สอดคล้องกับผลสำรวจของ AC Nielsen Media Research ที่ว่า เหตุผลหลักๆ ในการเลือกรับชมข่าวคือ “พิธีกร” ส่วนปัจจัยด้านความรวดเร็ว การเกาะติดทันเหตุการณ์นั้น รองลงมา ขณะที่คุณภาพของข่าวด้านความน่าเชื่อถือ การวิเคราะห์ข่าวนั้นเป็นปัจจัยลำดับท้าย ๆ
สำหรับสังคมไทยแล้ว “สรยุทธ” ยังอยู่ได้อีกนาน บางทีอาจยาวนานกว่า “ลาร์รี่ คิง” เพราะคนไทยส่วนใหญ่ เสพข่าวผ่านโทรทัศน์ มากที่สุด
หากพิจารณาผ่าน “เม็ดเงิน” ผ่านสื่อกระแสหลัก ในช่วงมกราคม – พฤศจิกายน 2553 ที่สำรวจโดย NIELSEN พบว่า เม็ดเงินโฆษณาทั้งตลาด 9 หมื่นกว่าล้าน เป็นส่วนแบ่งของทีวี กว่า 55,435 ล้านบาทหรือ คิดเป็น 60.43 % รองลงมาคือ หนังสือพิมพ์ 13,522 ล้านบาท อันดับสามคือ วิทยุ 5,559 ล้านบาท ส่วนสื่อใหม่อย่างอินเทอร์เนต ได้ส่วนแบ่งแค่ 264 ล้านคิดเป็น 0.29 %
กล่าวได้ว่า “เฮียสอ” คือ ยอดคลื่นของสื่อทีวีที่ทรงอิทธิพลและมั่งคั่งที่สุดแห่งปี 2553
ใครหลายคน พูดทีเล่นทีจริงว่า ถ้าพรรคเพื่อไทย ได้หัวหน้าพรรคชื่อ สรยุทธ สุทัศนะจินดา อาจกลับมาเป็นรัฐบาล อีกครั้ง !!!