ได้อ่านบทความที่เขียนโดย อนวัช มีเคลือบ, กิตติมา ชาญวิชัย, และ จิรวัฒน์ วีรังกร. (2560). เขียนเรื่อง การจัดการการสื่อสารเพื่อพัฒนาความผูกพันศิษย์เก่าของมหาวิทยาลัยรัฐในประเทศไทย. วารสารบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์และการสื่อสาร, 12(1), 163-177. และบทความโดย รองศาสตราจารย์ ดร.กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ เขียนเรื่อง พลังของศิษย์เก่ากับสถาบันนิยม (The power of Alumni Institutionalism)
จากบทความวิจัยของ อนวัช มีเคลือบ และคณะ ได้สรุปผลการศึกษาที่ได้จากการสัมภาษณ์เชิงลึก และการสนทนากลุ่ม จากผู้ให้ข้อมูลที่เป็นผู้บริหารมหาวิทยาลัย บุคลากรงานศิษย์เก่าสัมพันธ์ และศิษย์เก่า ที่เรียบเรียงใหม่มาได้ 3 ข้อ พบว่า
- สถาบันควรมีบทบาทในการกำหนดค่านิยม วัฒนธรรม ประเพณีที่เกี่ยวข้องกับศิษย์เก่า
- สถาบันควรมีระบบสื่อสาร โครงสร้าง ฐานข้อมูลศิษย์เก่า และแผนพัฒนาการเข้ามามีส่วนร่วม รวมถึงการยกย่องเชิดชู
- สถาบันควรประเมินการจัดการ การใช้ชีวิต การจัดประชุมใหญ่ บูรณาการกับการพัฒนาศิษย์ปัจจุบัน
จากบทความในไทยรัฐออนไลน์ของ กฤษมันต์ วัฒนาณรงค์ อธิบายในย่อหน้าแรกได้อย่างตรงประเด็นว่า ศิษย์เก่าที่ประสบความสำเร็จในชีวิตและการทำงาน มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในสาขาวิชาชีพต่าง ๆ ย่อมทำให้สถาบันการศึกษาที่ตนเองจบออกมามีชื่อเสียงตามไปด้วย ดังนั้นส่วนหนึ่งของความเชื่อถือหรือชื่อเสียงของสถาบันการศึกษา จึงได้มาจากความสำเร็จของศิษย์เก่า
ปกติแล้ว เมื่อมีอายุเพิ่มขึ้น การสื่อสารง่ายขึ้น พบว่า ศิษย์เก่าได้มีการรวมตัวกันเอง เป็นกลุ่มเป็นห้องเป็นสถาบัน จำแนกตามความสนใจ ดังนี้
- กลุ่มโรงเรียนประถม
- กลุ่มห้องเรียนประถม
- กลุ่มโรงเรียนมัธยม
- กลุ่มห้องเรียนมัธยม
- กลุ่มมหาวิทยาลัย
- กลุ่มหลักสูตรที่สำเร็จการศึกษา
โรงเรียนอัสสัมชัญลำปาง มีนายกสมาคมศิษย์เก่า มีวาระการดำรงตำแหน่งชัดเจน จัดประชุม Home coming day ในเดือนธันวาคมของทุกปี และทุก 2 ปีจะมีการเลือกตั้งนายกสมาคมศิษย์เก่าคนใหม่ มีช่องทางการสื่อสารทั้งเว็บไซต์ เพจเฟซบุ๊ก กลุ่มเฟซบุ๊ก กลุ่มไลน์ที่จำแนกตามระดับชั้น หรือรุ่น มีกิจกรรมที่ดำเนินการโดยสมาคมศิษย์เก่ามากมาย
- การประชุมสามัญและวิสามัญ ของคณะกรรมการฯ
- การจัดแข่งขันกีฬาเชื่อมความสามัคคีระหว่างรุ่น
- การร่วมกิจกรรมกับทางโรงเรียน
- การจัดกิจกรรมสนับสนุนชมรมครูเก่า
- การจัดกิจกรรมหาทุนการศึกษาให้กับศิษย์ปัจจุบัน