แฟนของผม วาง หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2555 แล้วก็ชำเรืองไปพบหัวข้อที่น่าสนใจ จึงหยิบขึ้นมาอ่าน เห็นคำว่า สตอรีไฟ และ บทบาทที่น่าสนใจของ นักนิเทศศาสตร์ หลายท่าน แล้วไปค้นข้อมูลจากเน็ต รวมถึงทดสอบใช้บริการของ http://storify.com/ajburin/storify ที่สามารถดึงเนื้อหาจาก social media มารวมกันใน post เดียวได้ง่าย แบบที่เรียกว่า right to left and up to down
คนข่าวยุคเฟซบุ๊ก-ทวิตเตอร์ (Facebook-Twitter) ต้องบูรณาการแบรนด์ตัวเองสู่ “ไลฟ์บล็อก-สตอรีไฟ “ (Live Blog – Storify) … “สุทธิชัย หยุ่น” ประธานกรรมการ บริษัท เนชั่น มัลติมีเดีย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นำทีมคนข่าวเนชั่นเปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้และแบ่งปัน เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านโซเชียลมีเดีย @imsakulsri หรือ “สกุลศรี ศรีสารคาม” อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ คณะนิเทศศาสตร์ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ มาอัพเดทเทรนด์โซเชียลมีเดีย 2012
โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการใช้ “โซเชียลมีเดีย เพื่อการรายงานข่าว” (Social Media & Journalism) อ.สกุลศรี ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของโซเชียลมีเดียนั้น จะช่วยเสริมความต้องการของผู้บริโภคจากสื่อกระแสหลัก เนื่องจากมีความเร็ว ความลึก สามารถมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น ช่วยรายงานข่าวหรือใช้ข้อมูล ตลอดจนช่วยเผยแพร่หรือบอกต่อข่าวนั้นได้
ขณะเดียวกัน คนข่าวก็ต้องสร้างเครือข่ายและเชื่อมโยงข่าวสารจากโซเชียลมีเดียมารวมไว้ เป็นแหล่งเดียว เพื่อเพิ่มความกว้างและลึกของประเด็นข่าวนั้นด้วยการใช้พื้นที่จากเว็บไซ ต์ข่าว แสดงผลจากการกระจายปัญหาไปยังฝูงชน เพื่อให้ร่วมค้นคำตอบ หรือวิธีแก้ปัญหา อย่างกรณีน้ำท่วมซึ่งมีผู้เช็กอินเข้ามารายงานสถานการณ์พื้นที่น้ำท่วม กองบรรณาธิการต้องทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลมานำเสนอผ่านเว็บไซต์ โดยเนื้อหาที่นำเสนอจะมีทั้งรูป คลิปวิดีโอ และเนื้อหา โดยให้เครดิตผู้ที่ส่งข้อมูลเข้ามาด้วย นอกจากนี้ คนข่าวก็ต้องเขียนบล็อกไลฟ์ เพื่อรายงานสดถ่ายทอดประเด็น ต่อยอดเนื้อหาข่าวนั้นๆ พร้อมด้วยคลิปและภาพ เพื่อดึงผู้คนในสังคมโซเชียลมีเดียเข้ามาเป็นแฟนคลับ แลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็น
“ยกตัวอย่าง งานศพของวิทนีย์ ฮุสตัน ก็นำไลฟ์บล็อกมาอัพเดทความเคลื่อนไหวทั้งภาพ ข้อความ และคลิป หรือ “Cholas Kristof” ผู้สื่อข่าวจากนิวยอร์กไทม์ เขียนเฟซบุ๊กรายงานสดสถานการณ์ความวุ่นวายทางการเมืองในกรุงไคโร ประเทศอียิปต์ เช่นเดียวกับ “Amanda michel” จากหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียน ใช้เฟซบุ๊กเป็นช่องทางสื่อสารตอบโต้ประเด็นข่าว โดยมี “สตอรีไฟ” รวบรวมข้อมูลจากโซเชียลมีเดียไว้ในที่เดียวกัน” อ.สกุลศรี กล่าว
ทั้งนี้ “สตอรีไฟ” คือ การเล่าเรื่องด้วยโซเชียลมีเดีย มีลักษณะคล้ายกับการเขียนบล็อก แต่ “สตอรี่ไฟ” สามารถดึงข้อมูลจากโซเชียลเน็ตเวิร์กต่างๆ อย่าง เฟซบุ๊ก, ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, คลิปวิดีโอจากยูทูบ ฯลฯ ซึ่งอยู่อย่างกระจัดกระจายมารวมไว้ในที่เดียวกัน ด้วยวิธีการง่ายๆ เพียงลากและวาง (drag and drop) เท่านั้น ตอนนี้ก็มีเว็บข่าวจำนวนมากใช้บริการสตอรีไฟอยู่ อาทิ กอว์เกอร์ (Gawker), วอลล์สตรีท เจอร์นัล (Wall Street Journal), การ์เดี้ยน (Guardian) เป็นต้น
ด้าน @jin_nation “สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ ” บก.ข่าวการเมือง หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น ผู้ผ่านประสบการณ์การทำข่าวตั้งแต่ยุคส่งข่าวทางโทรศัพท์สาธารณะ มาจนถึงยุคทวีตส่งข่าว ยอมรับว่า สื่อต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ซึ่งใช้โซเชียลมีเดียมีประโยชน์มาก และกำลังสนใจไลฟ์บล็อก และสตอรีไฟ ซึ่งเป็นการรวบรวมและนำเสนอข่าวที่น่าสนใจมากช่องทางหนึ่ง
“สุทธิชัย” เสริมว่า สตอรีไฟเป็นช่องทางที่น่าสนใจ คนข่าวทีวีสามารถนำไปขึ้นหน้าจอทีวีได้เลย แล้วอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสตอรีไฟ ใครเริ่มทำก่อนจะเท่มาก ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียนอกจากจะมีประโยชน์ต่อคนทำข่าวแล้ว ยังใช้สร้างแบนด์ส่วนตัวได้ สมัยก่อนกระบวนการทำข่าว 80 เปอร์เซ็นต์จะเสียไปกับขั้นตอนการส่งข่าว แต่ปัจจุบันกระบวนการส่งข่าวเร็วขึ้นใช้เพียง 20 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น จึงมีเวลามากพอที่จะทำข่าวที่มีเนื้อหา กว้าง ลึก ผ่านโซเชียลมีเดียได้
“นักข่าวของเราปรับตัวใช้โซเชียลมีเดียมา 4-5 ปีแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น พวกเราจะยืนอยู่แถวหน้า ก้าวนำคนอื่นอยู่ 2-3 ก้าว หากถึงวันที่โซเชียลมีเดียทำเงินได้ เราจะเป็นกลุ่มแรกที่อยู่รอด เพราะเราก้าวพ้นความกลัวมาแล้ว และผมยังเชื่อว่าสื่อสิ่งพิมพ์จะไม่ตาย สื่อทีวีก็ไม่ตาย เพราะมีโซเชียลมีเดียมาเสริมซึ่งกันและกัน” สุทธิชัย กล่าว
http://www.oknation.net/blog/Sp-Report/2012/03/12/entry-1
http://newsjunkies-suthichaiyoon.blogspot.com/2012/03/live-blogs-storify.html
http://www.wired.com/gadgetlab/2011/10/apple-iphone-5-live-blog/
live blogging
http://www.thaiall.com/blogacla/admin/1314/