คนกังวลว่าคอมพิวเตอร์จะแย่งงาน (itinlife 556)

กฎหมายศุลกากร เรื่องวัตถุลามก
กฎหมายศุลกากร เรื่องวัตถุลามก

เคยอ่านหนังสือคอมพิวเตอร์เบื้องต้นและเทคนิคการเขียนโปรแกรม ของ รศ.วัชราภรณ์ สุริยาภิวัฒน์ ภาควิชาสถิติ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ครั้งที่ 11 ปี 2536 เล่าว่าหนึ่งในปัญหาการเข้ามาของคอมพิวเตอร์ คือ การรบกวนระบบงานปกติ มีเนื้อหาตอนหนึ่งว่า การใช้คอมพิวเตอร์ยังมีผลกระทบต่อจิตใจของพนักงาน ความไม่พอใจ ความกังวลใจที่จะตกงาน ข้อความนี้เป็นที่สนใจของผู้เขียนมาโดยตลอดว่าจริงเท็จประการใด แล้วก็มาพบข่าวว่าที่เมืองไทยเปิดร้านอาหารปิ้งย่าง ชื่อร้านฮาจิเมะ ที่ใช้หุ่นยนต์อัจฉริยะเป็นพนักงานเสิร์ฟ แสดงว่าร้านนี้ใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์ในการเสิร์ฟอาหาร ลูกค้าหลายท่านพอใจ แต่สำหรับผู้ใช้แรงงานอาจเห็นเป็นวิกฤตในการหางานก็ได้

บริษัท Foxconn ปลดพนักงาน 60000 คนจากพนักงาน 110000 คน โดยเลือกใช้ AI : Artificial Intelligence แทนมนุษย์ในสายการผลิต แล้วกระแสการปลดพนักงาน หรือเลือกใช้หุ่นยนต์แทนมนุษย์นั้นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นี่ไม่ใช่ความเชื่อ แต่เป็นความจริงว่าผู้บริหารระดับสูงเลือกที่จะมีหุ่นยนต์ไว้ใช้งานแทนมนุษย์ ในยุคฟองสบู่ที่เมืองไทยแตกราวปี 2540 ทำให้ธนาคารจำนวนมากปรับลดพนักงาน ปัจจุบันเราจะเห็นตู้เอทีเอ็ม ตู้ปรับสมุด และตู้รับฝากเงิน ในอดีตจะทำธุรกรรมทางการเงินก็ต้องเดินเข้าไปพูดคุยกับพนักงาน แต่ปัจจุบันธนาคารเลือกลดพนักงานและเพิ่มตู้บริการขึ้นมาแทนที่ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างที่คอมพิวเตอร์เข้ามาแย่งงานมนุษย์

อีกหน้าที่หนึ่งที่คอมพิวเตอร์เข้าแย่งงานของมนุษย์ คือ งานแม่บ้านพ่อบ้าน ปัจจุบันงานบ้านถูกแย่งไปทำโดยเครื่องล้างจาน เครื่องซักผ้า เครื่องกวาดบ้าน กล้องวงจรปิดและสัญญาณกันขโมยเฝ้าบ้าน งานบ้านที่ยากที่สุด คือ การมีเพศสัมพันธ์ มีผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาเพศสัมพันธ์ Dr.Helen Driscoll จาก University of Sunderland ทำนายว่าในอีก 50 ปีข้างหน้า ในสังคมมนุษย์อาจยอมรับว่าการมีเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์เป็นเรื่องปกติ ที่ประเทศไทย Sex toy เป็นของต้องห้าม ที่ไม่อนุญาตให้นำเข้าหรือส่งออกตามกฎหมายศุลกากร เรื่องวัตถุลามก ถ้ามีกฎหมายนี้อยู่ Sex toy ก็จะเป็นของผิดกฎหมาย และการมีเพศสัมพันธ์กับหุ่นยนต์ก็คงไม่เกิดขึ้นอย่างถูกกฎหมาย


+ http://internet1.customs.go.th/ext/Prohibit/Prohibit.jsp
+ http://www.huffingtonpost.co.uk/dr-helen-driscoll/sexual-relationships-with-robots_b_7909964.html
+ http://www.misterbuffet.com/shop_Hajime.asp?id=283
+ https://www.techtalkthai.com/foxconn-cuts-60000-jobs-and-uses-robots-with-ai-instead/

หุ่นยนต์คิดแบบในหนังคงยังไม่มี (itinlife508)

cyborg she
cyborg she

มีภาพยนตร์มากมายที่กล่าวถึงการสร้างปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence) ก้าวต่อไปคือการสร้างหุ่นยนต์มารับใช้มนุษย์ มีองค์ประกอบหลายอย่างที่จำเป็นต่อการสร้างหุ่นยนต์ แต่สิ่งที่เรายังทำกันไม่สำเร็จคือการสร้างปัญญาประดิษฐ์ หรือทำให้หุ่นยนต์คิดเองได้ โดยไม่ต้องรอรับคำสั่ง ส่วนนวัตกรรมการสร้างหุ่นยนต์มีความสำเร็จเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จินตนาการเป็นเรื่องที่หยุดไม่ได้ มีภาพยนตร์มากมายฉายสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นในแง่มุมที่หลากหลายทั้งด้านประโยชน์ และปัญหา

หุ่นอาร์ทูดีทู หรือซีทรีพีโอในสตาร์วอร์ส (Star war) เป็นหุ่นยนต์ที่นักดูภาพยนตร์คงจดจำกันได้ดีกว่าเรื่องอื่น แต่ความเหมือนมนุษย์ยังไม่เด่นชัด หากหุ่นยนต์สามารถคิดเองได้ หรือรู้จักการเรียนรู้แล้ว มีภาพยนตร์ที่สะท้อนปัญหาให้เห็น คือ เทอมิเนเตอร์ (Terminator) ที่เล่าว่าถ้าหุ่นยนต์คิดเองได้ ก็จะรู้ว่ามนุษย์เป็นภัยต่อหุ่นยนต์เก่า เพราะมนุษย์ชอบของใหม่เสมอ เพื่อความอยู่รอดของหุ่นยนต์ที่จะต้องเก่าในอนาคต จึงต้องกำจัดมนุษย์ซะก่อนที่จะสายเกินไป และเริ่มดำเนินการในทันที ต่อมาผู้สร้างภาพยนตร์ก็เปลี่ยนแนวว่าเราสามารถควบคุมหุ่นยนต์ได้ โดยการเพิ่มคำสั่งห้ามทำร้ายมนุษย์ให้เป็นเงื่อนไขสำคัญ จนมีภาพยนตร์เรื่องไอโรบอต (irobot) หรือออโตเมต้า (Automata) ที่ทำให้ผู้ชมรู้สึกสบายใจได้ว่าหุ่นยนต์จะไม่มีวันทำร้ายมนุษย์ แต่กฎย่อมมีข้อยกเว้น เมื่อเวลาผ่านไปกฎที่เคยใส่เข้าไปในหุ่นยนต์ก็อาจถูกเปลี่ยน พัฒนา หรืออัพเกรด จนหุ่นยนต์อาจเป็นภัยต่อมนุษย์ได้

ผู้สร้างภาพยนตร์ได้เนรมิตเรื่องราวให้หุ่นยนต์มีความเหมือนมนุษย์มากขึ้นไปอีก ด้วยการสร้างหุ่นยนต์ที่คิดว่าตนเองเป็นมนุษย์ คนที่พบเห็นก็ไม่รู้ เช่น เอวา (EVA) หรือสครีมเมอร์ส (Screamers) หรือไบเซนเทนเนียลแมน (Bicentennial Man) แต่ความเหมือนมนุษย์นั้นก็แฝงมาด้วยภัยซ่อนเร้น เช่น เอวาที่ไม่ผ่านเกณฑ์ความปลอดภัย แต่ผู้สร้างดื้อรั้นขอเก็บไว้ สุดท้ายก็แสดงความรุนแรงออกมาจนทำร้ายผู้สร้าง ส่วนสครีมเมอร์สก็วิวัฒนาการจากอุปกรณ์ที่ดำดินไปสังหารศัตรูขึ้นมาเป็นหุ่นยนต์สาวสวยเหมือนมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อและชีวิตจิตใจ แต่เรื่องไบเซนเทนเนียลแมนเป็นหนึ่งในไม่กี่เรื่องที่สะท้อนให้เห็นเฉพาะมุมบวกของหุ่นยนต์ที่มีขึ้นมาเพื่อช่วยเหลือมนุษย์ และตัดสินใจปิดเครื่องของตนเองด้วยความเชื่ออย่างมนุษย์ แต่วันนี้เรากำลังพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ให้เกิดขึ้นจริง แล้วมาลุ่นกันว่าชีวิตจริงในอนาคตจะเหมือนภาพยนตร์เรื่องใด