ข้อมูลทางสถิติถือเป็นสารสนเทศที่ใช้ประกอบการตัดสินใจได้ เมื่อมีนาคม 2558 ได้เข้าไปอ่านบทความของ Steven J. Vaughan-Nichols ใน Zdnet.com ที่เล่าถึงข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับการใช้งานโปรแกรมบราวเซอร์ (Browser) และประเภทของอุปกรณ์สืบค้นเว็บไซต์ของหน่วยงานภาครัฐในประเทศสหรัฐโดยเก็บข้อมูล 90 วันจาก 37 หน่วยงาน มีข้อมูลการเข้าเว็บไซต์กว่า 1.39 พันล้านครั้ง ซึ่งมากพอที่จะนำมาวิเคราะห์ว่าใช้โปรแกรมและอุปกรณ์ประเภทใด
อุปกรณ์ที่มีใช้ในหน่วยงานสหรัฐแบ่งได้ 3 ประเภท พบว่า เครื่องคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะ (Desktop) ถูกใช้มากที่สุดมีร้อยละ 67.5 รองลงมาคือสมาร์ทโฟน (Mobile) มีร้อยละ 24.9 และอันดับสุดท้ายคือแท็บเล็ต (Tablet) มีร้อยละ 7.6 ทำให้เห็นว่าหน่วยงานของสหรัฐใช้งานสมาร์ทโฟน และแท็บเล็ตในการทำงาน ต่างกับภาครัฐของไทยที่ยังไม่มีนโยบายสนับสนุนการใช้อุปกรณ์เคลื่อนที่ในที่ทำงานที่ชัดเจน ส่วนหน่วยงานเอกชนที่ยังไม่มีนโยบายก็น่าจะนำไปพิจารณาสนับสนุน และควบคุมตรวจสอบ เพราะการส่งเสริมก็ต้องมาพร้อมกับกฎระเบียบ ข้อบังคับ หรือกติกาในการใช้อุปกรณ์เพื่อสนับสนุนการทำงาน ปัจจุบันสมาร์ทโฟนราคาถูกลง ค่าเชื่อมต่อเครือข่ายก็ลดลงมากจนเป็นเจ้าของได้ทุกคน ทำให้พนักงานบริษัทอาจปฏิเสธการสนับสนุน เพราะต้องการใช้อุปกรณ์กับเรื่องส่วนตัวในเวลางานเป็นหลัก ถ้าเจ้าของบริษัทเข้าใจก็จะต้องออกมาตรการกำกับดูแล เพื่อไม่ให้มีการใช้เทคโนโลยีในเวลางานที่ไม่ตรงกับนโยบาย แล้วส่งผลเสียต่อบริษัทได้
สถิติการใช้โปรแกรมบราวเซอร์ พบว่า Chrome มาเป็นอันดับหนึ่ง มีร้อยละ 34.7 อันดับสองคือ IE มีร้อยละ 28.3 อันดับสามคือ Safari มีร้อยละ 20.3 อันดับสี่คือ Firefox มีร้อยละ 11 ซึ่งสถิติโดยทั่วไปจะพบว่า Firefox มีอันดับสูงกว่า Safari แต่ที่เป็นเช่นนี้เพราะว่าอุปกรณ์ส่วนหนึ่งติดตั้งระบบปฏิบัติการ iOS ที่มีโปรแกรม Safari มาให้ใช้งาน ส่วน IE ก็พบว่ารุ่น 11 ถูกใช้งานมากที่สุดในกลุ่มเดียวกัน มีร้อยละ 14.8 การต่อสู้ของโปรแกรมบราวเซอร์ยังไม่ยุติ ในเวทีนี้ IE ชิงอันดับสองมาได้ แต่ในเวทีอื่น ก็ยังเป็นของ Firefox แล้วท่านล่ะเลือกใช้อุปกรณ์และโปรแกรมใดอยู่
http://internet-browser-review.toptenreviews.com/
http://www.w3schools.com/browsers/browsers_stats.asp
http://www.zdnet.com/article/the-most-u-s-popular-web-browsers/