๑๒ พระธาตุศรี
ภาพจากปฏิทินตั้งโต๊ ธนาคารออมสิน ๒๕๕๗
ตามความเชื่อของชาวล้านนา การไหว้พระประจำปีเกิด เป็นศิริมงคลแก่ชีวิต
http://www.wattarnpakrat.com/index.php?mo=59&action=page&id=333334
1. ปีชวด = หนู – พระธาตุศรีจอมทอง
พระธาตุจอมทอง วัดพระบรมธาตุศรีจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ เป็นที่ประดิษฐานของพระทักษิณโมลีธาตุ (พระธาตุ ส่วนที่เป็น พระเศียรเบื้องขวาของ สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า) มีขนาดโตประมาณ เมล็ดข้าวโพด สันฐานกลมเกลี้ยง สีขาวนวลเหมือน ดอกบวบ หรือ สีดอกพิกุลแห้ง ตามประวัติเล่าว่า พระเจ้าอโศกมหาราช เป็นผู้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ที่ ดอยจอมทอง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 218 ปัจจุบัน พระธาตุ ถูกบรรจุไว้ในพระโกศ 5 ชั้น ซึ่งตั้งอยู่ภายใน พระวิหารจตุรมุข ก่ออิฐถือปูนทั้งองค์ มีฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส คล้ายพระเจดีย์ กว้าง 4 เมตร สูง 8 เมตร ตามประวัติว่าสร้างขึ้นโดย พระเจ้าดิลกปนัดดาธิราช หรือ พระเมืองแก้ว กษัตริย์ราชวงศ์มังราย เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ เมื่อปี พ.ศ. 2060
2. ปีฉลู = วัว – พระธาตุลำปางหลวง
พระธาตุลำปางหลวง วัดพระธาตุลำปางหลาง อ.เกาะคา จ.ลำปาง ตามตำนานกล่าวว่า ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าพร้อมด้วยพระเถระสามองค์ได้เสด็จจาริกไปตามบ้านเมืองต่าง ๆ จนถึงบ้านสัมภะการีวัน (บ้านลำปางหลวง) พระพุทธเจ้าได้ประทับเหนือดอยม่อนน้อย มีชาวลัวะคนหนึ่งชื่อ ลัวะอ้ายกอน เกิดความเลื่อมใส ได้นำน้ำผึ้งบรรจุกระบอกไม้ป้างมะพร้าว และมะตูมมาถวายพระพุทธเจ้า พระพุทธองค์ได้ฉันน้ำผึ้งแล้วทิ้งกระบอกไม้ป้างไปทางทิศเหนือ แล้วทรงพยากรณ์ว่า สถานที่แห่งนี้ต่อไปจะมีชื่อว่าลัมพกัปปะนคร แล้วได้ทรงลูบพระเศียรได้พระเกศามาหนึ่งเส้น มอบให้แก่ลัวะอ้ายกอน ลัวะอ้ายกอนได้นำพระเกศานั้น บรรจุในผอบทองคำ และใส่ลงในอุโมงค์พร้อมกับถวายแก้วแหวนเงินทองเป็นเครื่องบูชา แล้วแต่งยนต์ผัด (ยนต์หมุน) รักษาไว้ และถมดินให้เรียบเสมอกัน แล้วก่อเป็นพระเจดีย์สูงเจ็ดศอกเหนืออุโมงค์นั้น ในสมัยต่อมาก็ได้มีกษัตริย์อีกหลายพระองค์ มาก่อสร้างและบูรณะซ่อมแซม จนกระทั่งเป็นวัดที่มีความงามอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
3. ปีขาล = เสือ – พระธาตุช่อแฮ
พระธาตุช่อแฮ วัดพระธาตุช่อแฮ อ.เมือง จ.แพร่ เป็นเจดีย์บรรจุพระเกศาและพระบรมสารีริกธาตุพระศอกซ้ายของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นปูชนียสถานที่ศักดิ์ศิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของเมืองแพร่มาแต่โบราณตามตำนานกล่าวว่าขุนลัวะอ้ายก๊อมเป็นผู้สร้าง ปรากฏหลักฐานการบูรณะปฏิสังขรณ์ระหว่าง พ.ศ. 1879-1881 ในสมัยพระมหาธรรมราชา (ลิไท) เมื่อครั้งยังทรงเป็นพระมหาอุปราชครองเมืองศรีสัชนาลัย ลักษณะองค์พระธาตุเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมย่อมุมไม้สิบสอง ศิลปะแบบเชียงแสนสูง 33 เมตร ฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 11 เมตร สร้างด้วยอิฐโบกปูน หุ้มด้วยแผ่นทองเหลือง ลงรักปิดทอง
4. ปีเถาะ = กระต่าย – พระธาตุแช่แห้ง
พระธาตุแช่แห้ง วัดพระธาตุแช่แห้ง กิ่งอ.ภูเพียง จ.น่าน จากพงศาวดารเมืองน่านกล่าวว่า พระยาการเมือง เจ้านครน่านได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากกรุงสุโขทัย มาประดิษฐานไว้ที่ดอยภูเพียงแช่แห้ง และตามตำนานกล่าวว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับสรงน้ำที่ริมฝั่ง แม่น้ำน่านทางทิศตะวันออก ที่บ้านห้วยไค้ และเสวยผลสมอแห้ง ซึ่งพระยามลราชนำมาถวาย แต่ผลสมอนั้นแห้งมาก พระพุทธเจ้าจึงทรงนำผลสมอนั้นไปแช่น้ำก่อนเสวย และทรงพยากรณ์ว่า ต่อไปที่นี่จะมีผู้นำพระบรมสารีริกธาตุมาประดิษฐาน จึงเรียกพระสถูปที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุแห่งนี้ว่า พระธาตุแช่แห้ง
5. ปีมะโรง = งูใหญ่ – พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์
พระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ วัดพระสิงห์วรมหาวิหาร อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ตั้งอยู่ในวัดพระสิงห์วรมหาวิหาร จ.เชียงใหม่ ถือเป็นพระเจดีย์เก่าแก่สร้างในสมัยเดียวกับการตั้งวัด โดยเป็นศิลปะแบบล้านนา หริภุญชัย ผสมลังกา ที่เน้นความงามเรียบง่าย พระธาตุเจดีย์แห่งนี้ พระเจ้าผายู เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ โปรดให้สร้างขึ้น เมื่อ พ.ศ.1888 ต่อมาได้บูรณะใหม่สมัยครูบาศรีวิชัย ราว พ.ศ. 2469 ภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระนำมาจากทวีปลังกา จึงมีความเชื่อว่า อย่างน้อยครั้งหนึ่งในชีวิตผู้เกิดปีมะโรง หากได้มีโอกาสมานมัสการพระธาตุเจดีย์วัดพระสิงห์ จะเป็นมงคลอันสูงสุด
6. ปีมะเส็ง = งูเล็ก – พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์
พระธาตุเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ วัดหนองบัว อ.เมือง จ.อุบลราชธานี ตามประวัติพบว่า พระธาตุเจดีย์แห่งนี้ถูกสร้างขึ้นในวัดหนองบัว จ.อุบลราชธานี ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3 กิโลเมตร โดยมีวัตถุประสงค์ในการก่อสร้าง เพื่อเป็นสัญลักษณ์ครบรอบ 25 ศตวรรษ ของพุทธศาสนาในปี พ.ศ. 2500 โดยได้จำลองแบบมาจากเจดีย์ที่พุทธคยา ประเทศอินเดีย และนับเป็นวัดเดียวในภาคอีสานที่มีเจดีย์แบบนี้ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทั่วไปที่เป็นป่าโปร่ง ร่มรื่น
7. ปีมะเมีย = ม้า – พระบรมธาตุเจดีย์
พระบรมธาตุเจดีย์ วัดพระบรมธาตุ อ.บ้านตาก จ.ตาก ตั้งอยู่ในวัดเก่าแก่แห่งหนึ่ง ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 18 แต่เดิมชาวบ้านเรียกว่า วัดพระเจ้าทันใจ เนื่องจากเป็นที่ประดิษฐานพระเจ้าทันใจ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ และมีตำนานว่าสร้างเสร็จในหนึ่งวัน พระเจ้าทันใจนี้ร้ำลือกันว่าศักสิทธิ์นัก จริงๆ แล้วพระเจ้าทันใจมีอยู่อีกหลายวัด แต่ที่เป็นที่นับถือมากที่สุด คือ วัดพระบรมธาตุ พระครูพิทักษ์บรมธาตุ (ทองอยู่) โดยเจ้าอาวาสวัดพระบรมธาตุได้จดจำเอารูปทรงของเจดีย์ชเวดากองมาสร้างครอบเจดีย์องค์เก่า ซึ่งมีรูปทรงสมัยสุโขทัยไว้ และยังสร้างพระบรมธาตุองค์เล็กๆ 16 องค์ และเจดีย์ใส่พระพุทธรูปอีก 16 องค์ และโขงจุดไฟเทียนอีก 6 โขง ไว้รายรอบเจดีย์องค์ใหญ่ด้วย
ด้านซ้ายมือของเจดีย์จะเป็นทางเข้าวิหารเก่าครึ่งตึกครึ่งไม้และเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นปิดทองปางมารวิชัยภายในวิหารยังมีธรรมาสน์เก่าเป็นไม้แกะสลักอย่างวิจิตรงดงาม ทางซ้ายของเจดีย์เป็นพระอุโบสถครึ่งตึกครึ่งไม้ มีประตูไม้แกะสลักรูปป่าหิมพานต์ หน้าบันและจั่วเป็นไม้แกะสลักไว้อย่างวิจิตร หน้าบันที่สวยมากจะอยู่ทางด้านหลังของพระอุโบสถ บานหน้าต่างเป็นภาพพระพุทธประวัติใช้ไม้แกะสลักปิดทองสวยงามมาก วัดพระบรมธาตุเป็นวัดที่กล่าวได้ว่า สวยงามที่สุดในจังหวัดตาก ในช่วงเทศกาลสงกรานต์จะมีชาวบ้านเป็นจำนวนมาก นำดอกไม้ธูปเทียนมาบูชา นอกจากนั้นยังมีงานประเพณีที่สำคัญอีกงานหนึ่ง คือ ประเพณีขึ้นธาตุเดือนเก้า
8. ปีมะแม = แพะ – พระธาตุดอยสุเทพ
พระธาตุดอยสุเทพ วัดพระธาตุดอยสุเทพ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ สร้างขึ้นในสมัยพระเจ้ากือนาธรรมิกราช เจ้าเมืองเชียงใหม่องค์ที่ 9 โดยพระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุที่พระมหาสุมนเถระ นำมาจากเมืองศรีสัชนาลัย ซึ่งได้ขุดพบจากนิมิตฝันของพระมหาสุมนเอง เมื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุมาสู่เชียงใหม่แล้ว พระธาตุได้แยกเป็นสองส่วน พระเจ้ากือนาทรงเลื่อมใส ได้อัญเชิญบรรจุไว้ที่พระธาตุวัดสวนดอก
ส่วนองค์ที่สอง ได้อัญเชิญขึ้นบนหลังช้างเพื่อเสี่ยงทายว่า ช้างหยุดที่ใด ก็จะสร้างเจดีย์บรรจุพระบรมธาตุที่นั่น แล้วปล่อยช้างไป ช้างได้มุ่งหน้าไปสู่ทิศตะวันตก ขึ้นไปยังดอยสุเทวะฤาษี หรือดอยสุเทพปัจจุบัน แล้วมาหยุดที่ยอดดอยสุเทพ พระเจ้ากือนาทรงรับสั่งให้สร้างพระเจดีย์ ณ ที่นั้น มีขนาดสูง 5 วา เมื่อ พ.ศ.1916 ต่อมาเมื่อปี พ.ศ.2068 พระเจ้าเกษเกล้า กษัตริย์องค์ที่ 12 ของเชียงใหม่ ได้ทำการบูรณะพระเจดีย์ โดยได้นิมนต์พระมหาญาณมงคลโพธิ จากลำพูนมาเป็นประธานการบูรณะ โดยขยายพระเจดีย์ให้ใหญ่ขึ้นกว่าเดิม สูง 11 วา กว้าง 6 วา ที่ปรากฏทุกวันนี้
9. ปีวอก = ลิง – พระธาตุพนม
พระธาตุพนม วัดพระธาตุพนม อ.ธาตุพนม จ.นครพนม เป็นปูชนียสถานศักดิ์สิทธิ์ของภาคอีสาน ประดิษฐานบนเนินที่เรียกว่าภูกำพร้า ปัจจุบันเป็นบริเวณวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร อยู่ห่างจากตัวเมืองนครพนมราว 52 กิโลเมตร พระธาตุพนมสร้างขึ้นแต่สมัยอาณาจักรศรีโคตรบูรณ์ ประมาณ พ.ศ. 8 โดยเจ้าเมือง 5 องค์คือ พระยาสุวรรณภิงคารนะ พระยาคำแดง พระยาอินทปัตถะนคร พระยาจุลนีพรหมทัต และพระยานันทเสน เพื่อบรรจุพระอุงรังคธาตุ (กระดูกส่วนหน้าอก) ของพระพุทธเจ้า ลักษณะพระเจดีย์เป็นเจดีย์ทรงบัวเหลี่ยม หรือทรงแจกัน ก่อด้วยอิฐมีลวดลายจำหลักลงไปในแผ่นอิฐ มีซุ้มคั่นด้านละซุ้ม ซ้อมกัน 3 ชั้น ลดหลั่นกันลงมาอย่างวิจิตร พระธาตุพนมได้รับการบูรณะเรื่อยมาตามกาลเวลา และในวันที่ 11 สิงหาคม 2518 องค์พระธาตุพนมได้หักโค่นลง ประชาชนชาวไทยทั่วทั้งประเทศได้ร่วมกันสละทุนทรัพย์ก่อสร้างขึ้นใหม่ และมีพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขึ้นบรรจุอีกครั้งในวันที่ 23 มีนาคม 2522
10. ปีระกา = ไก่ – พระธาตุหริภุญชัย
พระธาตุหริภุญชัย วัดพระธาตุหริภุญชัย อ.เมือง จ.ลำพูน เป็นปูชนียสถานสำคัญยิ่งแห่งหนึ่งในภาคเหนือ และเป็นมิ่งขวัญของชาวลำพูน ตั้งอยู่ในวัดพระธาตุหริภุญชัย ในกลางเมืองลำพูน ภายในวัดเป็นลานกว้าง มีวิหารหลายหลัง หอระฆังสวยงาม ปรากฏในตำนานว่า สร้างขึ้นในรัชสมัยของพระเจ้าอาทิตยราช กษัตริย์นครหริภุญชัยราว พ.ศ.1586 ต่อมาได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์พระบรมธาตุนี้อีกหลายครั้งในรัชกาลพระเจ้าติโลกราชเมื่อ พ.ศ.1986 ได้โปรดให้เสริมพระธาตุเป็น 23 วา ฐานกว้าง 12 วา 2 ศอก ยอดมีฉัตร 7 ชั้น
หลังจากนั้นพระเมืองแก้วได้ทรงบูรณปฏิสังขรณ์และสร้างระเบียงหอก ซึ่งเป็นรั้วล้อมพระธาตุ 500 เล่ม แล้วทรงสร้างวิหารหลวง และใน ปีพ.ศ.2329 พระเจ้ากาวิละได้ทรงทำการบูรณะพระบรมธาตุ และทรงสร้างฉัตรหลวงขึ้น 4 มุม และสร้างฉัตรยอดเจดีย์ด้วยทองคำเป็น 9 ชั้น ฐานพระธาตุเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสกว้างด้านละ 10 วา และสร้างรั้วทองเหลืองล้อมรอบองค์เจดีย์ด้านในองค์พระธาตุเป็นสีทองอร่ามเป็นที่ต้องตาต้องใจนักท่องเที่ยวต่างเมืองผู้มีโอกาสได้ไปเยือนยิ่งนัก ทางจังหวัดลำพูนได้จัดให้มีงานนมัสการประจำปีขึ้นในวันเพ็ญ เดือน 6 ซึ่งก็คือวันวิสาขบูชา
11. ปีจอ = สุนัข – พระธาตุวัดเกตการาม
พระธาตุวัดเกตการาม วัดเกตการาม อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ความเป็นมาตามพุทธประวัติ ได้กล่าวไว้ว่า เป็นที่ประดิษฐานพระทันตธาตุที่พระอินทร์นำมาจากพระบรมธาตุที่โทณพราหมณ์ได้แอบซ่อนไว้ เมื่อครั้งมีการแบ่ง พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าให้แก่เจ้าเมืองต่าง ๆ ด้วยเหตุที่ พระธาตุเจดีย์องค์นี้ มนุษย์ไม่สามารถเดินทางไปถึงได้ ดังนั้น นอกจากนมัสการด้วยการบูชารูปแล้วยังสามารถบูชา พระเจดีย์ ที่วัดเกตการาม จ.เชียงใหม่ ซึ่งมีชื่อพ้องกับพระเกศแก้ว จุฬามณี เจดีย์วัดนี้ ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำปิง ในเขตย่านการค้าของชาวต่างชาติ ตามประวัติ ว่าสร้างโดยพญาสามฝั่งแกน เมื่อ พ.ศ.1971 แต่พระเจดีย์ได้พังทลายลง ในปี พ.ศ. 2121 พระสุทโธ รับสั่งให้สร้างขึ้นใหม่ให้เป็นเจดีย์ทรงลังกาแบบล้านนา นอกจากนี้ ภายในวัดยังมีพระวิหารใหญ่ที่สร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ และพิพิธภัณฑ์เก็บของใช้พื้นบ้านให้ชม (เปิด 08.00-16.00 น.) ที่ตั้ง บ้านวัดเกต ถ.เจริญราษฎร์ อ.เมือง จ.เชียงใหม่
12. ปีกุน = หมู – พระธาตุดอยตุง
พระธาตุดอยตุง ดอยตุง อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย นับเป็นโบราณสถานอันเก่าแก่แห่งหนึ่งในภาคเหนือ ตามประวัติตำนานได้กล่าวไว้ว่า พระมหากัสสะปะเถระเป็นประธานฝ่ายสงฆ์ได้อาราธนาอัญเชิญเอายังพระบรมสารีริกธาตุกระดูกไหปลาร้า (พระรากขวัญเบื้องซ้าย) ของพระพุทธเจ้า มามอบถวายแด่พระเจ้าอุชุตราชเจ้าผู้ครองนครนาคพันธ์โยนกชัยบุรี รัชกาลที่ 3 แห่งราชวงศ์สิงหนวติ เป็นประธานพร้อมด้วยมุขมนตรีเสวกอำมาตย์ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินของพระองค์ ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุขึ้นมาบรรจุสร้างขึ้น ณ ที่ดอยดินแดง (คือดอยตุงปัจจุบัน) สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.1454 ต่อมาอีก 100 ปี มีพระอรหันต์องค์หนึ่งชื่อว่า พระมหาวชิรโพธิเถร ได้นำเอาพระบรมสารีริกธาตุมามอบถวายให้พระเจ้ามังรายะนะธิราช แล้วจึงได้พร้อมใจกันนำเอาพระบรมธาตุขึ้นบรรจุสร้างใหม่ขึ้นมาอีกองค์หนึ่งบนดอยตุง พร้อมได้ปฏิสังขรณ์องค์เดิม
+ http://hilight.kapook.com/view/17772
+ https://www.facebook.com/media/set/?set=a.805407556140044.1073741921.506818005999002